×

ครม. เคาะ 2.4 หมื่นล้านบาท ประกันรายได้ชาวสวนยาง 60 บาทต่อกิโลกรัม

โดย THE STANDARD TEAM
15.10.2019
  • LOADING...

วันนี้ (15 ตุลาคม 2562) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 งบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ตามที่คณะกรรมการการยางไทยเสนอ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน

 

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้ที่แน่นอนจากการประกันรายได้ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และมีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งจะครอบคลุมเกษตรกรจำนวน 1.4 ล้านคน พื้นที่ปลูกยางพารา 17 ล้านไร่

 

โครงการประกันรายได้เกษตรกร ระยะที่ 1 กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ไว้ที่ 6 เดือน เริ่มเดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2563 โดยประกันรายได้ในยาง 3 ชนิด คือ

1. ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม

2. น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม

3. ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม

 

กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ 240 กก./ไร่/ปี หรือ 20 กก./ไร่/เดือน 

 

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทยก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 และเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางแจ้งขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่การยางไทยกำหนด โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว สูงสุดรายละไม่เกิน 25 ไร่

 

การจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกำหนดจ่ายให้เร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดจ่าย 2 เดือน  1 ครั้ง โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง ดังนี้

 

1. ประกันรายได้เดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายน 2562   

  จ่ายงวดที่หนึ่ง ระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562

 

2. ประกันรายได้เดือนธันวาคม 2562 ถึงมกราคม 2563   

  จ่ายงวดที่สอง ระหว่างวันที่ 1-15 มกราคม 2563

 

3. ประกันรายได้เดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม 2563   

  จ่ายงวดที่สาม ระหว่างวันที่ 1-15 มีนาคม 2563

 

การแบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีดยาง ร้อยละ 40

 

ทั้งนี้ ครม. ยังเห็นชอบให้ใช้เงินทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน และให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และปีถัดๆ ไป ตามความเหมาะสม เพื่อชำระคืนเงินต้นและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจริง

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X