เมื่อเศรษฐกิจโลกดูแย่ลง บางประเทศนักวิเคราะห์คาดเดาว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไม่ช้า แต่ประเทศไทยที่ต้องทำธุรกิจกับทั่วโลกต้องเจอกับความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่? และจะรับมือกับอีกหลากหลายปัญหาอย่างไร
ลองอ่านคำตอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงนี้กัน
1. เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่
วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Analyst Meeting ครั้งที่ 4/2562 10 ตุลาคม 2562 นี้ว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย ไม่ได้เกิดวิกฤต แต่ขยายตัวชะลอลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ โดยประมาณการว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 GDP จะอยู่ที่ 2.8% และปี 2563 จะเติบโต 3.3% ปีหน้า
“จากที่ประชาชนและนักธุรกิจรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ภาวะธุรกิจหดตัวแรง เป็นโจทย์เรื่องการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ (Distribution) ที่ ธปท. พบว่า เศรษฐกิจในภาพรวมยังขยายตัว บางธุรกิจขยายตัวดีมาก แต่บางธุรกิจหดตัวเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและปัจจัยชั่วคราว”
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ยกตัวอย่างปัจจัยเชิงโครงสร้างที่สำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับ E-Commerce และ Platform ขยายตัวดีมาก การขนส่งสินค้าที่เกิดจากการซื้อขายทางออนไลน์ในไทยเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านชิ้นต่อวัน เห็นอำนาจซื้อของผู้บริโภคย้ายไปยังที่ใหม่ ธุรกิจแบบเดิมเจอกับการแข่งขันสูงขึ้น ยอดขายลดลงมากจากโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
- การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงไป โดยความต้องการซื้อสินค้าคงทนชิ้นใหญ่ เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น บ้าน ลดลง ขณะที่ความต้องการบริการเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น หากใครทำธุรกิจที่ตอบสนองต่อผู้สูงอายุจะขยายตัวได้ดี
- การแข่งขันและการเข้าถึงเทคโนโลยี จากผลการศึกษาของ ธปท. ครั้งที่ผ่านมา พบว่า ด้านการแข่งขันบริษัทขนาดใหญ่ได้เปรียบบริษัทขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทขนาดใหญ่มีทุนมากกว่า เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ดีกว่าธุรกิจขนาดเล็ก
“เราพบว่า ตัวเลขหนี้เสียของบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดเล็กที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน มีทิศทางแตกต่างกัน ตัวเลขหนี้เสียของบริษัทขนาดใหญ่มีแนวโน้มลดลง แต่หนี้เสียของบริษัทขนาดเล็กกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น”
ปัญหาที่เล่ามา นโยบายเศรษฐกิจมหภาคไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด แต่ต้องแก้ด้วยนโยบายเชิงโครงสร้าง ที่ต้องร่วมมือกับหลายภาคส่วน ขณะที่ปัจจัยชั่วคราวอย่าง การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้าของไทยในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งรายกลาง รายเล็ก จึงได้รับผลกระทบไปด้วย
2. ทำไมอัตราเงินเฟ้อต่ำ แต่กลับรู้สึกว่าของแพง
ผู้ว่าฯ ตอบว่า เกิดจากปัญหาเรื่องการกระจายตัวเหมือนกัน เพราะปัจจุบันสินค้าคงทน สินค้าเทคโนโลยี ราคาถูกลงมาก แต่เป็นสินค้ามูลค่าสูง ทำให้มีสัดส่วนใหญ่ในตะกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งเราไม่ได้ซื้อทุกวัน ขณะที่สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีราคาต่ำกว่า แม้จะมีสัดส่วนน้อยในตะกร้าเงินเฟ้อ แต่ราคาปรับสูงขึ้น ดังนั้น เมื่อนำสินค้าทั้ง 2 กลุ่ม มาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แต่รู้สึกว่าสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันของแพงขึ้น
3. เปิดสาเหตุเงินบาทแข็งค่า – ธปท. มีมาตรการดูแลค่าเงินบาทอย่างไร
ตลาดการเงินโลกมีความเสี่ยงและผันผวนมากตั้งแต่ต้นปี ส่วนหนึ่งเพราะปัจจัยต่างประเทศที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่
- ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน ดังนั้น เมื่อจีนได้รับผลกระทบ ไทยย่อมได้รับผลกระทบด้วย ทั้งในช่วงตลาดการเงินโลกจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) หรือปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ก็จะกระทบประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งภูมิภาค แต่มองด้านดีคือ ต่างประเทศมองว่า ไทยมีความเสี่ยงต่ำ ในช่วง Risk Off เงินทุนก็จะไหลเข้ามาไทย เพราะมีความมั่นคงกว่าประเทศอื่นที่ปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอกว่า
- ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่งที่ทำให้บาทแข็งค่าคือ ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2562 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ตัวเลขการส่งออกจะติดลบ แต่การนำเข้าติดลบมากกว่า ทำให้ยังเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง
- นักลงทุนไทยเร่งขายทองคำเพื่อทำกำไรโดยส่งออกไปต่างประเทศ จึงมีรายได้เงินตราต่างประเทศไหลเข้ามา ซึ่งราคาทองคำปรับสูงขึ้นจากความไม่แน่นอน ทั้งการเมืองระหว่างประเทศ สงครามการค้า ความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ช่วงที่ผ่านมามีเงินทุนจากการขายทองคำไหลเข้ามาถึงประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มากขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาเทกโอเวอร์บริษัทไทยเพิ่มขึ้น มีการขายหุ้นระดมทุนของบริษัทใหญ่ และมักจะเป็นข้อตกลงมูลค่าสูงระดับหมื่นล้านบาท เงินทุนที่ไหลเข้า สร้างแรงกดดันต่อค่าเงิน
นอกจากนี้ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 ที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์แบบ Portfolio Flow ซึ่งต้องการปรับพอร์ตการลงทุน โดยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในไทยตามดัชนีการลงทุน และมีกลุ่มที่เก็งกำไรเข้ามาพักเงินเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ดังนั้น ธปท. ปรับเกณฑ์ Non-Resident Baht Account ให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งเริ่มทำช่วงเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ Portfolio Flow ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่กดดันค่าเงินบาท โดย Portfolio Flow เป็นด้านไหลออกแล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม รวมประมาณ 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดย ธปท. จะออกมาตรการดูแลในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การลดแรงจูงใจในการเอาเงินเข้ามาพักในระยะสั้นๆ และสร้างสมดุลในเงินทุนไหลเข้ากับเงินทุนไหลออก ได้แก่
1. Foreign Exchange Liberalization คาดว่าจะประกาศภายใน 1-2 อาทิตย์นี้ เช่น นักลงทุนไทยทั้งรายย่อย สถานบัน และผู้ส่งออก สามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้มากขึ้น โดยจะมีผู้เล่นรายใหม่ในการให้บริการธุรกรรมมากขึ้น เพื่อสร้างทางเลือกและลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศให้ผู้ส่งออกไทย
2. ดูแลการซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับทองคำ ธปท. จะทบทวนกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพราะการซื้อขายทองคำมีลักษณะเป็นการลงทุนแบบเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (Value Added) แต่สร้างผลข้างเคียงด้านค่าเงิน ทั้งนี้ ธปท. ไม่ได้ห้ามการลงทุนซื้อขายทองคำ
3. การลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account: CA) โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้ที่ผ่านมาการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2015 ที่อยู่ระดับ 11.5% ของ GDP ตอนนี้อยู่ที่ 6.3% ของ GDP แต่ยังทำเพิ่มเติมได้ โดยเร่งการลงทุนและการนำเข้า เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องด้านบวก จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ดีต่อการนำเข้า เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศ
อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นหนึ่งคือ การลดกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งเป็นต้นทุนแฝง เช่น การทำ Regulatory Guillotine การทำ Regulatory Impact Assessment การทำแพลตฟอร์มต่างๆ ให้เข้าถึงง่ายขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนแฝงของการลงทุนได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เช่น การทำ One Stop Service การยกเลิกกฎเกณฑ์เดิมที่เคยใช้ในโลกยุคเก่า แต่ไม่สอดคล้องในโลกยุคใหม่ จะช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจของเอกชนลงได้มาก
4. ธปท. ลดอัตราดอกเบี้ยฯ ล่าช้าเกินไปหรือน้อยเกินไปไหม
เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การประชุมกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือนสิงหาคม เห็นว่า การขยายตัวทั้งเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการส่งออก ต่ำกว่าที่คาด จึงมีการลดดอกเบี้ยทันที จะมาช่วยรองรับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเมื่อมองไปข้างหน้า
ส่วนการประชุม กนง. ครั้งล่าสุดที่มีมติคงดอกเบี้ย เพราะตัวเลขเศรษฐกิจใกล้เคียงกับเดือนสิงหาคมที่คาดการณ์ไว้ และช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการ จึงต้องประเมินว่า มาตรการที่ทำไปทั้งหมดจะมีผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังมากแค่ไหน
“บางท่านคาดการณ์ว่า กนง. จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 1.25% ขอชี้แจงว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.25% เป็นเพียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดในอดีต ไม่ได้หมายความว่าจะลดลงต่ำกว่านั้นไม่ได้ อนาคตข้างหน้ายังมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอีกมาก หากมีความจำเป็นก็สามารถดอกเบี้ยต่ำกว่า 1.25% ได้ตามหลักการ Data-Dependent ซึ่งชั่งน้ำหนักทั้ง 3 เรื่อง คือ เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงเรามีเครื่องมือดูแลเสถียรภาพระบบการเงินระหว่างทางอยู่แล้ว”
วิรไทกล่าวว่า การดูนโยบายการเงินต้องดูบริบทด้วย ซึ่งธนาคารกลางของประเทศอื่นที่สามารถลดดอกเบี้ยลงได้มาก เพราะช่วงที่ผ่านมาได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปสูงก่อน แล้วตามความจำเป็นของประเทศนั้นๆ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ปรับขึ้นมาก ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ และเมื่อดูเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ของไทยในปัจจุบัน พบว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่สั้นกว่า 15 ปี ลดต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% เสียอีก ดังนั้น สภาพคล่องในตลาดการเงินของไทยจึงไม่ใช่ปัญหา
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล