×

3 นักวิทย์ผู้พัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมี 2019

09.10.2019
  • LOADING...
The Nobel Prize in Chemistry 2019

วันนี้ (9 ตุลาคม) ตามเวลาท้องถิ่นสวีเดน ราชบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) ได้ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมี ประจำปี 2019 นี้ให้กับนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 คน ประกอบด้วย จอห์น บี. กูดอีนัฟ (John B. Goodenough), สแตนลีย์ วิตติงแฮม (Stanley Whittingham) และ อากิระ โยชิโนะ (Akira Yoshino) ในฐานะผู้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยี ‘แบตเตอรีลิเธียมไอออน’ ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงนวัตกรรมและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับโลกใบนี้ได้อย่างมหาศาล

 

The Nobel Prize in Chemistry 2019

 

ราชบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์สวีเดนได้นิยามแท็กไลน์เท่ๆ ถึงคุณูปการของนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 คนนี้เอาไว้ว่า ‘They created a rechargeable world’ หรือพวกเขาได้เปลี่ยนให้โลกใบนี้สามารถชาร์จไฟได้ พร้อมให้เหตุผลว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่มีน้ำหนักเบา ทรงประสิทธิภาพและสามารถชาร์จไฟกลับเข้าไปได้หลายต่อหลายครั้ง ทั้งยังถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ในสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป ไปจนถึงยานยนต์ไฟฟ้า

 

ที่สำคัญในวันที่โลกกำลังผลัดใบไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ลิเธียมไอออนก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อแหล่งกักเก็บประจุไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์

 

“แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนถูกใช้งานทั่วโลกเพื่อให้พลังงานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบพกพาที่เราใช้เพื่อติดต่อสื่อสาร, ทำงาน, เรียนรู้, ฟังเพลง หรือค้นหาข้อมูล ทั้งยังนำไปสู่การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้สามารถเดินทางในระยะที่ไกลมากขึ้น เช่นเดียวกับแหล่งกักเก็บพลังงานสะอาดจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์”

 

สำหรับแนวคิดของการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในช่วงยุค 1970 โดย สแตนลีย์ วิตติงแฮม ที่พยายามคิดค้นเทคโนโลยีที่ไม่ต้องพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเดิมๆ โดยกูดอีนัฟได้มีบทบาทในฐานะผู้ต่อยอดพัฒนาและมองเกมขาดว่า ‘แคโทด’ (Cathode) จะมีศักยภาพที่ดียิ่งขึ้น หากใช้โลหะออกไซด์ (Metal Oxide) แทนโลหะซัลไฟด์ (Metal Sulphide) 

 

ขณะที่โยชิโนะได้พัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ทำงานได้จริงวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 1985 โดยใช้ปิโตรเลียมโค้ก (Petroleum Coke) ในส่วนแอโนด (Anode) ซึ่งทำให้ได้แบตเตอรี่ที่มีน้ำหนักเบา ทนทาน และสามารถชาร์จไฟซ้ำได้หลายร้อยครั้ง

 

นับตั้งแต่ปี 1991 เป็นต้นมาที่แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนได้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในท้องตลาดทั่วโลกเป็นครั้งแรก เทคโนโลยีดังกล่าวจึงก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นฐานรากที่ต่อยอดไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ ทั้ง การชาร์จแบบไร้สายและสังคมพลังงานสะอาดที่ไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกต่อไป

 

จริงๆ แล้วแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนถือว่าอยู่ใกล้ตัวกับเรามากๆ เพราะสมาร์ทโฟนจากแบรนด์ดังที่เราใช้ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะ Apple หรือ Samsung ก็ล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยีของแบตเตอรี่ประเภทนี้ด้วยกันทั้งสิ้น เช่นเดียวกับในพาวเวอร์แบงก์ หรือรถยนต์ไฟฟ้า

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X