×

การเดินทางของเสาไฟฟ้า จากเมืองสู่ชายฝั่ง เพื่อระบบนิเวศชายทะเลไทย [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
29.10.2019
  • LOADING...
การไฟฟ้านครหลวง

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • การกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยจากน้ำมือมนุษย์ กรุงเทพฯ สูญเสียพื้นที่ ในอัตราเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปีจากปัญหาดังกล่าว
  • การไฟฟ้านครหลวง (MEA) จัดทำการศึกษาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสาไฟฟ้าที่ถูกถอนออกไปใช้เป็นแนวป้องกันคลื่นชายฝั่ง จนได้รับรางวัลในระดับภูมิภาคจากการร่วมพลิกฟื้นชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน

ใครจะนึกว่าเสาไฟฟ้าต้นหนึ่งสามารถทำอะไรให้กับสิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้ได้มากไปกว่าการยืนตั้งตระหง่านให้สายไฟฟ้าพาดผ่านเพื่อส่งกระแสไฟฟ้าไปตามพื้นที่ที่ต้องการ แท่งคอนกรีตยาวๆ ที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้อาจจะเป็นองค์ประกอบเล็กๆ ที่ทำอะไรยิ่งใหญ่ได้มากกว่าที่เราคิด

 

การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ไม่เพียงแต่ผลักดันการนำสายไฟฟ้าในพื้นที่ท่องเที่ยวและย่านธุรกิจลงใต้ดินเพื่อทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองเท่านั้น ยังต่อยอดประโยชน์ของเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนจากโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินไม่ใช้งานแล้วไปเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างน่าทึ่งด้วย ติดตามการเดินทางของเสาไฟฟ้าจากเมืองสู่น่านน้ำได้จากบทความพิเศษชิ้นนี้

 

ชายฝั่งทะเลไทยน่าเป็นห่วง กรุงเทพฯ แผ่นดินหายอัตราเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรายงานว่า ประเทศไทยมีชายฝั่งทางทะเลระยะทางกว่า 3.1 พันกิโลเมตร ซึ่งแบ่งเป็นชายฝั่งด้านอ่าวไทยในพื้นที่ 17 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร คิดเป็นระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร และพื้นที่ชายฝั่งด้านทะเลอันดามันครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ระยะทางกว่า 1.1 กิโลเมตร เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนถึง 21 ล้านคน

 

การไฟฟ้านครหลวง

 

เป็นที่ทราบดีว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทยก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมาก ทั้งจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การประมง เป็นแหล่งอยู่อาศัยของชุมชนริมทะเล รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งทางน้ำ เป็นต้น การกัดเซาะชายฝั่งทะเลนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เกิดจากทั้งการกัดเซาะของคลื่นและคลื่นลม โดยตะกอนจะถูกพัดพาจากที่หนึ่งไปทับถมในบริเวณอื่น ทำให้แนวของชายฝั่งเดิมเปลี่ยนแปลงไป

 

เราสามารถแบ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้เป็นสองส่วน ส่วนแรกเกิดจากกระบวนการตามธรรมชาติ รวมทั้งการเกิดภัยพิบัติอย่างวาตภัยหรืออุทกภัย รวมทั้งกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งลักษณะของชายฝั่งที่แตกต่างกันก็ส่งผลต่อความรุนแรงจากการกัดเซาะไม่เท่ากัน เช่น พื้นที่อ่าวจะได้รับการกัดเซาะน้อยกว่าทะเลเปิด หรือพื้นที่ชายฝั่งที่ลาดชันน้อยจะเกิดการกัดเซาะน้อยกว่าบริเวณที่ชายฝั่งมีความลาดชันมากกว่า เป็นต้น

 

อีกส่วนที่มีนัยสำคัญต่อปัญหาดังกล่าวคือกิจกรรมของมนุษย์บริเวณชายฝั่ง ที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างเข้มข้นและให้ความสำคัญกับการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดังเช่นโครงการการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลต่างๆ ทั้งการสร้างท่าเรือน้ำลึก ถนนเลียบชายฝั่ง และการถมทะเลเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

 

สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งในบางพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ถูกกัดเซาะมากกว่า 5 เมตรต่อปีถือเป็นพื้นที่วิกฤต ประกอบด้วย 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และโดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน บริเวณปากแม่น้ำบางปะกงไปจนถึงปากแม่น้ำท่าจีน ถือเป็นพื้นที่ที่มีการกัดเซาะรุนแรงมากที่สุด

 

การไฟฟ้านครหลวง

 

ผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดปัจจัยลบในหลายมิติ สำหรับภาคธุรกิจที่กระทบชัดเจนคือการท่องเที่ยว เนื่องจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง สูญเสียแนวชายหาดสวยงามที่เป็นจุดขายสำคัญ ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยว กระทบกับรายได้ของผู้ประกอบการจำนวนมาก ส่วนภาครัฐเองก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเยียวยาและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบันนั้น มีทั้งวิธีการป้องกันและแก้ไขตามกระบวนการทางธรรมชาติ ได้แก่ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลน ป่าชายหาด แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง เพื่อลดความรุนแรงของคลื่นที่กระทบฝั่ง ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างความแข็งแรงให้กับชายฝั่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

นอกจากนี้ยังมีวิธีแก้ไขปัญหาโดยกระบวนการทางวิศวกรรม โดยใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมเพื่อดักตะกอนทรายและสลายพลังงานคลื่น หรืออาจจะสร้างหาดทรายเพิ่มเติมเพื่อป้องกันและรักษาสภาพชายฝั่ง ซึ่งต้องใช้ความรู้และประสบการณ์จากนักวิชาการและผู้ชำนาญการทางทะเลในการผลักดันการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

 

มีความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งความพยายามของการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ในฐานะองค์กรด้านพลังงานชั้นนำระดับประเทศที่ให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติและการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงกรอบการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

 

การเดินทางของเสาไฟฟ้าจึงเกิดขึ้น

 

ปราการเสาไฟฟ้าคอนกรีต ปกป้องชายฝั่งทะเลไทยโดย MEA

MEA  ประกาศความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจัดทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกรณีของการกัดเซาะแนวชายฝั่งทางทะเล โดยพบว่าสามารถนำเสาไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การจัดการของ กฟน. ไปทำแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งในลักษณะเสาไฟฟ้าสวมด้วยยางรถยนต์ ช่วยลดความแรงของกระแสน้ำลงได้ในรูปแบบ MEA’s Model ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อปัญหาดังกล่าว

 

การไฟฟ้านครหลวง

 

เมื่อใช้แนวป้องกันดังกล่าวแล้ว พบว่ามีปริมาณการสะสมของตะกอนหลังเขื่อนในพื้นที่ที่ทดลองใช้งานเพิ่มมากขึ้น สามารถชี้วัดได้จากจำนวนต้นกล้าและลูกไม้ที่อยู่หลังแนวป้องกันมีปริมาณหนาแน่นขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพบการกลับมาของสัตว์น้ำนานาพันธุ์และนกนานาชนิด ซึ่งสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวมีแนวโน้มการอยู่รอดเพิ่มขึ้นด้วย สะท้อนสภาพของระบบนิเวศที่ดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้

 

คณะผู้ศึกษาชี้แจงว่า รูปแบบ MEA’s Model ที่นำยางรถยนต์ที่ใช้สวมกับเสาไฟฟ้าของแนวป้องกันชายทะเลนั้น ไม่พบการสลายตัวที่เป็นพิษต่อสภาพแวดล้อม หรือส่งผลกระทบทางลบต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตและป่าชายเลนแต่อย่างใด ทำให้คณะทำงานค่อนข้างมั่นใจในการเดินหน้าโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ลดความกังวลของผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเข้าไปดำเนินการได้มาก

 

สำหรับเสาไฟฟ้าที่ใช้ในโครงการดังกล่าว MEA ได้นำเสาไฟฟ้าที่รื้อถอนและไม่ใช้งานแล้วจากโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ที่รับผิดชอบมาใช้งานต่อเพื่อความคุ้มค่าของทรัพยากรอย่างที่สุด โดยโครงการสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ได้แก่ พื้นที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า คิดเป็นระยะทางกว่า 1.1 กิโลเมตร และพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงที่ถูกท้าทายจากการขยายตัวของชุมชนอย่างต่อเนื่อง

จากความตั้งใจในการทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทำให้ MEA ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภคหน่วยงานเดียวของประเทศไทยได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ Asia Responsible Entrepreneurship Awards 2018 ในสาขา Green Leadership เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ถือเป็นการการันตีวิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้าและคำนึงเรื่องการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของ MEA ได้เป็นอย่างดี

 

กฟน

 

นอกจากนี้ MEA ยังจะเดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าที่เพียงพอต่อการใช้งาน ปลอดภัย และยังช่วยปรับทัศนียภาพให้พื้นที่ท่องเที่ยวและย่านธุรกิจสวยงามสมเป็นความภาคภูมิใจของประเทศเท่านั้น ยังจะส่งมอบเสาไฟฟ้าในทุกโครงการเพื่อนำไปใช้ในโครงการป้องกันและแก้ไขคลื่นกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทะเลเพื่อให้ครอบคลุมชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน เป็นระยะทางประมาณ 4.7 กิโลเมตรต่อไปด้วย

 

เสาไฟฟ้าต้นแล้วต้นเล่าที่ถูกถอนจากพื้นที่กรุงเทพฯ ยังคงสร้างเรื่องราวที่น่าภูมิใจในตัวของมันเอง ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของแนวป้องกันคลื่นชายฝั่ง เพื่อความมั่นคงในชีวิตของสัตว์น้ำ ต้นไม้ และทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเกี่ยวพันกันอย่างไร้รอยต่อมาจนถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรอบ 

 

เสาไฟฟ้ายังคงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนที่ยืน เปลี่ยนหน้าที่

เสาไฟฟ้าก็คงมีคำตอบในใจให้ตัวเองได้แล้วล่ะว่ามันเกิดขึ้นมาทำไม

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • การไฟฟ้านครหลวง (MEA)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X