×

สหรัฐฯ-จีน เดินหน้าเจรจาการค้า 10 ต.ค., IMF เตรียมแต่งตั้ง คริสทาลีนา จอร์จีวา เป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่: 5 ปัจจัยที่นักลงทุนต้องรู้ (30 ก.ย. 2562)

โดย FINNOMENA
30.09.2019
  • LOADING...
  • กรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ​ (Fed) มองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังน่าลงทุน โดยแรนดิล ควาร์เลส รองประธานคณะกรรมการฝ่ายควบคุมดูแลของ Fed มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยมองว่าการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงเป็นผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าเป็นหลัก ขณะที่พื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง โดยในที่ประชุม FOMC ครั้งที่ผ่านมา คณะกรรมการมีความเห็นที่หลากหลายต่อระดับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน โดยควาร์เลสเป็นหนึ่งเสียงที่เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระดับที่จะต้องกังวลมาก ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของ แพทริก ฮาร์เกอร์ ประธาน Fed สาขาฟิลาเดลเฟีย ที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงไม่ได้เป็นผลมาจากต้นทุนการกู้ยืม และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะไม่สามารถกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนได้มากนัก ดังนั้นฮาร์เกอร์จึงไม่เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ขณะที่เห็นว่า Fed ควรเพิ่มขนาด Balance Sheet เพื่อลดปัญหาสภาพคล่องตึงตัว

 

  • CNBC รายงานอ้างแหล่งข่าวที่ไม่ระบุชื่อว่า ตัวแทนการค้าของสหรัฐฯ และจีนจะกลับมาเจรจาการค้าอีกครั้งในวันที่ 10 ตุลาคมที่สหรัฐอเมริกา โดย หลิวเหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน จะเป็นหนึ่งในตัวแทนเจรจาการค้าของฝ่ายจีน ซึ่งก่อนหน้านี้หลิวเหอเป็นคนที่เจรจากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาวมาแล้ว โดยจีนจะซื้อสินค้าทางการเกษตรเพิ่มขึ้นก่อนการเจรจา โดยเฉพาะถั่วเหลืองและหมู หลังจากที่เคยประกาศยกเลิกซื้อสินค้าทางเกษตรจากสหรัฐฯ ทั้งหมดเพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ทางจีนยังขอให้สหรัฐฯ เลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่จะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคมออกไปก่อน เนื่องจากเป็นวันที่ครบรอบ 70 ปีวันชาติจีน และสหรัฐฯ ได้รับปากที่จะเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไปเป็นวันที่ 15 ตุลาคม
  • ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ใน 3 ภูมิภาคใหญ่ประกอบไปด้วย 1. Caixin Manufacturing PMI ของจีน ที่ถูกคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 50.2 จุด ลดลงจากครั้งก่อนหน้าที่ 50.4 จุด แต่ยังคงยืนอยู่ในแดนขยายตัวได้เป็นเดือนที่ 2 ต่อเนื่อง 2. ISM Manufacturing PMI ของสหรัฐฯ ซึ่งถูกคาดว่าจะประกาศออกมาที่ระดับ 50.1 โดยกลับมาอยู่ในแดนขยายตัวอีกครั้ง หลังจากสงครามการค้าส่งสัญญาณชะลอตัวลง 3. Eurozone Manufacturing PMI ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 45.6 จุด อยู่ในแดนหดตัว 8 เดือนต่อเนื่องจากความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวที่ส่งผลกดดันภาคอุตสาหกรรมยุโรป

 

  • BOJ เผยเตรียมเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่าระหว่างการพิจารณาครั้งนั้น มีการนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การเพิ่มขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ เพื่อกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อให้เข้าสู่ระดับใกล้เคียงเป้าหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม มีฝ่ายที่ยังสนับสนุนให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อลดผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษต่อสถาบันการเงินต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือต้องการสื่อให้ประชาชนทราบว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงพร้อมที่จะทำทุกอย่างให้เศรษฐกิจกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง

 

  • กองทุนการเงินระหว่างประทศ (IMF) เดินหน้าแต่งตั้ง คริสทาลีนา จอร์จีวา นักเศรษฐศาสตร์ชาวบัลแกเรีย เป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ แทน คริสติน ลาการ์ด ซึ่งจะไปดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางยุโรป จอร์จีวาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารโลกมาก่อน และเป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของ IMF ที่มาจากเศรษฐกิจเกิดใหม่

 

ภาวะตลาดวันศุกร์ที่ผ่านมา

  • สหรัฐฯ ขู่เตรียมจำกัดการลงทุนในจีนและปลดบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่งผลให้ Nasdaq ปิดที่ (-1.13%) ซึ่งปรับตัวลงมากกว่าตลาดอื่นในสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาไร้ทิศทางที่แน่ชัด โดยภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวด้านการจัดซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนสิงหาคม มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 0.2% แต่ตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง เดือนสิงหาคมชะลอตัวเหลือ 0.1% ต่ำกว่าคาด 0.3% และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 0.5% ปัจจัยดังกล่าวยังคงสร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้น

 

  • ด้านตลาดหุ้นยุโรปกลับเป็นตลาดที่ค่อนข้าง Outperform จากแนวโน้มสกุลเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลง แต่ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมกลับชะลอตัวกว่าที่ตลาดคาดไว้ ขณะที่ดัชนีหุ้นยุโรป Euro Stoxx 50 ขึ้นมาทดสอบแนวต้านสำคัญทางเทคนิคที่ระดับ 3,550 จุด

 

  • หุ้นเอเชียปรับตัวในทิศทางผสมผสาน โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวบวกสวนตลาดในภูมิภาค ขึ้นมาปิดที่ 1,643.76 จุด เพิ่มขึ้น 7.01 จุด (+0.43%) โดยตลาดที่ปรับตัวลงมากที่สุดคือตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ซึ่งดัชนี KOSPI ปิด -1.19% หลังจากที่ปรับตัวขึ้นมาโดยตลอดในเดือนกันยายน ล่าสุดไม่สามารถผ่านแนวต้านสำคัญที่ 2,100 จุดได้ โดยคาดว่าเป็นการปรับฐานระยะสั้น หลังจากที่ตลาด Price In กับแนวโน้มการฟื้นตัวของกลุ่ม Semiconductor ที่ได้ดีมานด์จากกลุ่มผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่เพิ่มกำลังการผลิตในช่วงไตรมาส 4

 

  • ทิศทางราคาทองคำปรับตัวทดสอบ 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้งหลังจากที่ดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ปรับตัวขึ้นมาทดสอบ 99 จุด และยังไม่มีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำต่อเนื่อง

 

สหรัฐฯ

  • Dow 30 ปิดที่ 26820.25 ลดลง -70.87 (-0.26%)
  • S&P 500 ปิดที่ 2961.79 ลดลง -15.83 (-0.53%)
  • Nasdaq ปิดที่ 7939.63 ลดลง -91.03 (-1.13%)

 

ยุโรป

  • DAX ปิดที่ 12380.94 เพิ่มขึ้น 92.4 (0.75%)
  • FTSE 100 ปิดที่ 7426.21 เพิ่มขึ้น 75.13 (1.02%)
  • Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3545.88 เพิ่มขึ้น 13.7 (0.39%)
  • FTSE MIB ปิดที่ 22017.4 เพิ่มขึ้น 69.73 (0.32%)

 

เอเชีย

  • Nikkei 225 ปิดที่ 21878.9 ลดลง -169.34 (-0.77%)
  • S&P/ASX 200 ปิดที่ 6716.1 เพิ่มขึ้น 38.5 (0.58%)
  • Shanghai ปิดที่ 2932.17 เพิ่มขึ้น 3.08 (0.11%)
  • SZSE Component ปิดที่ 9548.96 เพิ่มขึ้น 84.12 (0.89%)
  • China A50 ปิดที่ 13705.82 ลดลง -6.74 (-0.05%)
  • Hang Seng ปิดที่ 25954.81 ลดลง -87.12 (-0.33%)
  • Taiwan Weighted ปิดที่ 10829.68 ลดลง -42.31 (-0.39%)
  • SET ปิดที่ 1643.76 เพิ่มขึ้น 7.01 (0.43%)
  • KOSPI ปิดที่ 2049.93 ลดลง -24.59 (-1.19%)
  • IDX Composite ปิดที่ 6196.89 ลดลง -33.45 (-0.54%)
  • BSE Sensex ปิดที่ 38822.57 ลดลง -167.17 (-0.43%)
  • PSEi Composite ปิดที่ 7819.22 ลดลง -77.26 (-0.98%)

 

Commodity

  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 56.17 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -0.24 (-0.43%)
  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปิดที่ 61.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง -0.59 (-0.94%)
  • ราคาทองคำ ปิดที่ 1503.45 ดอลลารต่อออนซ์ ลดลง -11.75 (-0.78%)

 

 

 

finnomena in partnership

อ้างอิง: 

  • Infoquest
  • Bloomberg
  • Investing

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X