- ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญในหลายประเทศ 1. ทางการจีนรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ 2 ดัชนี ประกอบด้วย ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ซึ่งขยายตัว 4.4% (YoY) ต่ำกว่าคาดที่ 5.2% สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับตัวเลขการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) ซึ่งขยายตัว 5.5% (YoY) แต่ต่ำกว่าที่คาดที่ 5.6% สะท้อนภาวะการชะลอตัวทางการผลิตของอุตสาหกรรมในประเทศจีน และความไม่มั่นใจในการลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจในอนาคต 2. วันนี้มีกำหนดการประกาศตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มลดลง 3 เดือนติดต่อกัน สู่ระดับขยายตัว 0.48% (YoY) สะท้อนภาคการผลิตที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนกรณีสงครามการค้า 3. เยอรมนีมีกำหนดการประกาศ German ZEW Economic Sentiment ที่สะท้อนมุมมองทางเศรษฐกิจเยอรมนีของนักลงทุนสถาบัน โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะยังอยู่ในแดนลบ หรือ มุมมองเศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเป็นการติดลบ 17 จาก 18 เดือนล่าสุด ที่ระดับ -38.0 จุด
- สหราชอาณาจักร – EU เดินหน้าเจรจา Brexit โดยวานนี้ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้หารือกับ ฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย เห็นพ้องให้มีการเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษ (Brexit) ต่อไป โดยในส่วนของทำเนียบนายกรัฐมนตรีรายงานว่า ทั้ง 2 ฝ่าย เห็นพ้องให้เจรจา โดยการประชุมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และใกล้บรรลุข้อตกลงแล้ว และจะมีการประชุมระหว่างตัวแทนทั้ง 2 ฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝ่ายคณะกรรมาธิการยุโรปเผย ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับกรณี Backstop หรือมาตรการควบคุมชายแดนไอร์แลนด์เหนือแต่อย่างใด
- คลังเดินหน้าหามาตรการอุดรูรั่วภาษีส่งออกน้ำมัน วานนี้ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งให้กรมสรรพสามิตเร่งติดตามแก้ไขปัญหาการรั่วไหลของการจัดเก็บภาษี โดยให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าที่มีการผลิตเพื่อส่งออกและได้รับการยกเว้นภาษีในประเทศ เช่น น้ำมัน ซึ่งสร้างรายได้เข้าคลังกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี โดยกรมสรรพสามิตเตรียมดำเนินการใช้ระบบ E-Stamp และ E-Licensing เพื่อการดูแลตรวจสอบการชำระภาษีที่แม่นยำ รวดเร็ว และช่วยให้สามารถขอรับใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์ได้ทันที
- ราคาน้ำมันพุ่ง กดดันการลดดอกเบี้ยของ Fed สืบเนื่องจากเหตุการณ์โจมตีโรงน้ำมันซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นกว่า 10% สร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อให้มีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในส่วนของการบริโภค ตลาดแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อที่ประกาศออกมาดีกว่าคาดในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้โอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17-18 กันยายนนี้ เหลือเพียง 65.77% จากระดับสูงสุดที่ 94.62% ส่งผลให้นักลงทุนยังคงสงวนท่าทีต่อการลงทุน ทั้งในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นทั่วโลก เพื่อจับตาดูท่าทีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ต่อไป
- โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เผย บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับญี่ปุ่นในด้านภาษีสินค้านำเข้าเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อย เตรียมลงนามในข้อตกลงดังกล่าวอย่างเป็นทางการในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า พร้อมระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการค้าที่เป็นธรรม และมีความร่วมมือระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยจะใช้กระบวนการ Fast Track เพื่อให้ไม่ต้องผ่านการลงมติรับรองในรัฐสภา อย่างไรก็ตาม การประกาศดังกล่าวยังไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดข้อตกลงแต่อย่างใด
ภาวะตลาดวานนี้
- เหตุการณ์โจมตีโรงผลิตน้ำมันซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้กำลังการผลิตต้องหยุดชะงักถึง 50% สร้างความกังวลต่อปริมาณน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่สหรัฐฯ ออกมาตรการฉุกเฉินให้นำน้ำมันสำรองออกมาใช้ หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) หวังเพิ่ม Supply ในตลาด เพื่อกดดันราคาน้ำมันไม่ให้สูงมากนัก ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างประเมินกันว่า Supply ที่ลดลงจากซาอุฯ อาจดันราคาน้ำมันให้เพิ่มขึ้น 10 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยวานนี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 62.12 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 7.32 (+13.36%) และราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 68.71 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 8.49 (+14.1%)
- สถานการณ์ดังกล่าวสร้างแรงกดดันต่อการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปและสหรัฐฯ ส่งผลให้พากันปิดตัวในแดนลบ แม้ว่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากแนวโน้มการผ่อนคลายทางนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวในทิศทางผสมผสาน โดยรวมแล้วตลาดวานนี้มีการเคลื่อนไหวต่อประเด็นด้านน้ำมันในระดับที่ไม่สูงนัก เห็นได้จากการปรับตัวขึ้นของ VIX Index ที่ปรับขึ้นเพียง +6.77% อยู่ที่ 14.67 เท่านั้น เช่นเดียวกับกลุ่มสินทรัพย์ Safe-Haven ราคาทองคำอยู่ที่ 1,508.85 ดอลลาร์/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 9.35 (+0.62%) และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ก็ปรับตัวลงเล็กน้อยจากระดับ 1.90% สู่ระดับ 1.85% บ่งชี้ถึงสัญญาณที่ยังคงอยู่ในแนวโน้ม Risk-On ซึ่งสัปดาห์นี้คาด ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญถึงการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในช่วงกลางสัปดาห์นี้
สหรัฐฯ
- Dow 30 ปิดที่ 27075.78 ลดลง -143.74 (-0.53%)
- S&P500 ปิดที่ 2996.7 ลดลง -10.69 (-0.36%)
- Nasdaq ปิดที่ 8149.76 ลดลง -26.95 (-0.33%)
ยุโรป
- DAX ปิดที่ 12380.31 ลดลง -88.22 (-0.71%)
- FTSE 100 ปิดที่ 7321.41 ลดลง -46.05 (-0.63%)
- Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3518.45 ลดลง -31.66 (-0.89%)
- FTSE MIB ปิดที่ 21969.24 ลดลง -212.17 (-0.96%)
เอเชีย
- Nikkei 225 ปิดที่ 21988.29 เพิ่มขึ้น 228.68 (1.05%)
- S&P/ASX 200 ปิดที่ 6673.5 เพิ่มขึ้น 4.3 (0.06%)
- Shanghai ปิดที่ 3030.75 ลดลง -0.48 (-0.02%)
- SZSE Component ปิดที่ 9918.09 ลดลง -1.71 (-0.02%)
- China A50 ปิดที่ 13889.99 ลดลง -89.68 (-0.64%)
- Hang Seng ปิดที่ 27124.55 ลดลง -228.14 (-0.83%)
- Taiwan Weighted ปิดที่ 10898.13 เพิ่มขึ้น 70.58 (0.65%)
- SET ปิดที่ 1662.93 เพิ่มขึ้น 0.97 (0.06%)
- KOSPI ปิดที่ 2062.22 เพิ่มขึ้น 13.02 (0.64%)
- IDX Composite ปิดที่ 6219.44 ลดลง -115.41 (-1.82%)
- BSE Sensex ปิดที่ 37123.31 ลดลง -261.68 (-0.7%)
- PSEi Composite ปิดที่ 7996.9 เพิ่มขึ้น 4.58 (0.06%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 62.12 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 7.32 (13.36%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปิดที่ 68.71 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 8.49 (14.1%)
- ราคาทองคำ ปิดที่ 1508.85 ดอลลาร์/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 9.35 (0.62%)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- Prachachat