×

Once Upon a Time…in Hollywood (2019) ดินแดนสุขาวดีของซีเนไฟล์

14.09.2019
  • LOADING...
Once Upon a Time in Hollywood

HIGHLIGHTS

8 MINS. READ
  • Once Upon a Time…in Hollywood เป็นผลงานมาสเตอร์พีซของทารันติโน ที่สะกดผู้ชมด้วยเวทมนตร์คาถาอันหวือหวาและแพรวพราว
  • มันถูกสร้างเพื่อหวนรำลึกถึงช่วงเวลาที่ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ทั้งในแง่ของอุตสาหกรรมหนัง ความผันผวนปรวนแปรทางสังคม ตลอดจนการแสดงความคารวะบรรดาหนังเกรดบีทั้งหลาย รวมไปถึงดาราหนังฮอลลีวูดตกกระป๋องที่ดูเหมือนกาลเวลาหลงลืม

อย่างที่ใครๆ พูดกัน ปลายทศวรรษ 1960 ต่อเนื่อง 1970 เป็นช่วงเวลาที่สะกดได้ด้วยคำ 3 คำ และนั่นก็คือ เซ็กซ์ ยาเสพติด และร็อกแอนด์โรล

 

เซ็กซ์อาจเป็นส่วนที่ไม่ได้ถูกขับเน้นอย่างโดดเด่นนักในหนังเรื่อง Once Upon a Time…in Hollywood ผลงานลำดับที่ 9 และเป็นเรื่องล่าสุดของ เควนติน ทารันติโน แต่บรรยากาศของปลายทศวรรษที่ 1960 หรือระบุอย่างเจาะจง ค.ศ. 1969 ตามท้องเรื่อง ตลบอบอวลไปด้วยเสียงเพลงยุค 60 ทั้งร็อกแอนด์โรลและไม่ใช่ และแน่นอน ผู้คนจำนวนไม่น้อยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอะไรบางอย่างตลอดเวลา ไม่ว่าแอลกอฮอล์หรือวัตถุออกฤทธิ์นานาชนิด

 

ที่แน่ๆ ในตอนที่คนดูได้พบกับ ริก ดัลตัน (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) พระเอกหนังคาวบอยจอตู้ ผู้ซึ่งเส้นทางงานอาชีพกำลังดับดิ้น เนื่องจากซีรีส์ที่ตัวเขาเป็นพระเอกของเรื่อง อันได้แก่ The Bounty Law หยุดสร้างไปแล้วหลายปี และทุกวันนี้หากินด้วยการเป็นดารารับเชิญ เสียงบรรยายอันแสนยียวนกวนประสาทของใครบางคน (เคิร์ต รัสเซลล์) บอกให้รู้ว่า เขาสัญจรไปไหนมาไหนไม่ได้ด้วยตัวเอง เพราะถูกตำรวจยึดใบขับขี่อันเป็นผลมาจากพระเอกหนุ่มเมาแล้วขับเป็นประจำ

 

ส่วน คลิฟฟ์ บูธ (แบรด พิตต์) คู่หู สตันต์แมน และโชเฟอร์ประจำตัวของริก ผู้ซึ่งบุคลิกของเขาตลอดทั้งเรื่อง ดูแข็งแกร่งปานชะง่อนผาสมชื่อ ทว่า เจ้าตัวก็มีโมเมนต์ที่แทบจะครองสติไม่อยู่หลังจาก ‘สูบบุหรี่มวนพิเศษ’ เข้าไป และดันเป็นช่วงเวลาที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม เพราะเรื่องมิดีมิร้ายกำลังจะปะทุในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า ทั้งหลายทั้งปวงไม่ต้องเอ่ยถึงเพื่อนฝูงของ ชารอน เทต (มาร์โกต์ ร็อบบี้) นักแสดงและภรรยาสาวสวยของ โรมัน โปลันสกี ซึ่งพักอาศัยอยู่ไม่ห่างจากบ้านของ ริก ดัลตัน ที่พากันสูบกัญชาเป็นว่าเล่น ราวกับมันเป็นสันทนาการที่ระบบทางกฎหมายขณะนั้นอนุโลม 

 

Once Upon a Time in Hollywood

Once Upon a Time in Hollywood

 

กระนั้นก็ตาม เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ถ้าหากจะมีใครที่อยู่ในสภาพดำดิ่งและถลำลึกกว่าเพื่อน คนคนนั้นก็น่าจะได้แก่ เควนติน ทารันติโน ผู้ซึ่ง ‘ความเมามายในภาพยนตร์’ ของเขา ไม่เพียงแค่เป็นต้นเหตุให้เกิดหนังเรื่อง Once Upon a Time…in Hollywood ขึ้นมา ซึ่งในแง่มุมหนึ่ง อาจมองได้ว่า มันถูกสร้างเพื่อหวนรำลึกถึงช่วงเวลาที่ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ทั้งในแง่ของอุตสาหกรรมหนัง ความผันผวนปรวนแปรทางสังคม ตลอดจนการแสดงความคารวะบรรดาหนังเกรดบีทั้งหลาย รวมไปถึงดาราหนังฮอลลีวูดตกกระป๋องที่ดูเหมือนกาลเวลาหลงลืม ทว่า ส่วนที่สะท้อนความเตลิดเปิดเปิงกว่าเพื่อน ได้แก่ การที่หนังของทารันติโนผสมข้อเท็จจริงเข้ากับเรื่องแต่ง จนผู้ชมหาขอบเขต เส้นแบ่ง หรือแม้กระทั่งเส้นประ ซึ่งทำหน้าที่จำแนกแยกแยะทั้ง 2 ส่วนนี้ออกจากกัน ไม่เจอ

 

พูดง่ายๆ เรารับรู้ได้ว่า ทั้ง ริก ดัลตัน และ คลิฟฟ์ บูธ เป็นตัวละครสมมติ (ไม่ว่าลึกๆ แล้ว ทั้ง 2 คน จะอ้างอิงจากใครก็ตาม) ทว่า เหตุการณ์ที่คลิฟฟ์ไปมีเรื่องลงไม้ลงมือกับ บรูซ ลี (ไมค์ มอห์) ซึ่งไม่จำเป็นต้องบอกว่ามีตัวตนจริง มันก็เป็นฉากท้าทายคนดูในแง่ที่ต้องไปเสาะแสวงหาเอาเองว่า มีภูมิหลังรองรับในสิ่งที่หนังบอกเล่ามากน้อยเพียงใด และในขณะที่นักดูหนังร่วมสมัยล้วนรู้จัก มาร์โกต์ ร็อบบี้ ซึ่งอย่างที่กล่าวข้างต้น เธอแสดงเป็น ชารอน เทต ดาราสาวพราวเสน่ห์ผู้ซึ่งต้องจบชีวิตอย่างน่าอเนจอนาถจากการฆาตกรรมสะเทือนขวัญ ไม่ว่าจะอย่างไร ฉากที่น่าจะสร้างข้อกังขาและความฉงนสนเท่ห์ให้กับผู้ชม ได้แก่ ช่วงที่คาแรกเตอร์นี้แวะเวียนเข้าไปในโรงหนังแห่งหนึ่งที่กำลังฉายหนังเรื่อง The Wrecking Crew ซึ่งตัวเธอร่วมแสดง ทำนองว่า เธออยากจะรู้ปฏิกิริยาของผู้ชมในโรงหนังโดยตรง

 

ประเด็นก็คือ แทนที่ผู้ชมจะได้เห็น มาร์โกต์ ร็อบบี้ ซึ่งแสดงเป็น ชารอน เทต ปรากฏตัวบนจอเงินในหนังเรื่องนั้น พวกเรากลับได้เห็น ชารอน เทต ตัวจริง (กำลังเตะต่อยกับ แนนซี่ กวาน ตัวจริง) และการตัดสลับกลับไปมาระหว่างเทตตัวจริงกับเทตตัวปลอม ก็ทำให้อดีต-ปัจจุบัน ความเป็นจริง-ภาพมายา ปะทะสังสรรค์กันอย่างชุลมุน

 

Once Upon a Time in Hollywood

Once Upon a Time in Hollywood

 

ไหนๆ ก็ไหนๆ ความเมามายในภาพยนตร์ของทารันติโนยังไปไกลถึงขั้นที่เขาดำเนินการให้หนังเรื่อง Once Upon a Time…in Hollywood ทำงานในลักษณะไม่แตกต่างจากยากล่อมประสาท ทั้งในแง่ของการขยับขยายจินตทัศน์ของผู้ชม อันได้แก่ การเนรมิตให้เมืองลอสแอนเจลิสในปี 1969 กลับมาโลดแล่นอย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิตชีวา ราวกับมันเป็นปัจจุบันกาล (ข้อน่าสังเกตก็คือ หนังไม่มีสัมผัสหรือบรรยากาศของการโหยหาอดีตหรือความรู้สึกอาลัยอาวรณ์) และเหนือสิ่งอื่นใด โลกในหนังเรื่อง Once Upon a Time…in Hollywood ยังมีลักษณะเป็นเสมือนจักรวาลคู่ขนานที่ ‘โศกนาฏกรรมและเรื่องน่าเจ็บปวดขื่นขมในโลกของความเป็นจริง’ ถูกแก้ไขไถ่ถอนให้มลายหายไปในพริบตา และทุกสิ่งทุกอย่างจบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งตามแบบแผนของเทพนิยาย (ซึ่งอันที่จริง ชื่อหนังก็ให้เบาะแสโทนโท่) และสมมติว่า จะพูดอย่างทิ้งเงื่อนงำอีกสักนิด นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทารันติโนใช้มายากลทางด้านภาพยนตร์ดลบันดาลให้เกิด ‘สิ่งที่เป็นไปไม่ได้’ ขึ้นมา อันส่งผลให้หน้าประวัติศาสตร์พลิกผันไปอีกทาง (ใครที่ได้ดูหนังเรื่อง Inglourious Basterds คงนึกออกว่ามันคืออะไร) ทว่า น่าเชื่อว่า เมื่อเทียบกับหนังเรื่องก่อนหน้า แฟนๆ ทารันติโนไม่เคยรู้สึกได้รับการปลอบประโลม ได้หลีกลี้หนีจากความทุกข์ร้อน และรู้สึกอิ่มเอิบเบิกบานขนาดนี้

 

ว่าไปแล้ว ประเด็นการแก้ไขไถ่ถอนยังเกี่ยวข้องกับตัวละครสำคัญของเรื่อง อันได้แก่ ริก ดัลตัน ผู้ซึ่งสมมติว่า ตัวละครนี้มีตัวตนอยู่จริง เว็บไซต์ imdb หรือวิกิพีเดีย ก็คงจะเขียนถึงประวัติของเขาไม่เกิน 2 บรรทัด และนักดูหนังทั่วไปคงไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อ ไม่ต้องเอ่ยถึงเรื่องเห็นหน้าค่าตา หรือในกรณีที่เคย หนังฮิตที่สุดของเขา ได้แก่ The 14 Fists of McCluskey ซึ่งฟังชื่อแล้วก็รู้ได้ทันทีว่า เป็นหนังเกรดซี (z) แน่ๆ ก็ไม่น่าจะใช่ผลงานที่น่ากระหยิ่มยิ้มย่องหรือภาคภูมิ แต่จนแล้วจนรอดคนทำหนังไม่ได้เฝ้ามองตัวละครนี้ด้วยสายตาตลกขบขัน ตรงกันข้าม กลับเจือปนด้วยความรู้สึกสงสารและเห็นอกเห็นใจ ฉากที่เขาด่าทอตัวเองอย่างสาดเสียเทเสียที่ดันลืมบทในระหว่างถ่ายทำ เป็นช่วงเวลาที่กัดเซาะความรู้สึกคนดู สำหรับ ริก ดัลตัน นี่อาจจะเป็นจุดตกต่ำที่สุดในงานอาชีพ ยิ่งประกอบกับข้อมูลที่หนังบอกเล่าก่อนหน้าว่าด้วย ‘โอกาสที่หลุดลอย’ การร่วงหล่นครั้งล่าสุดของเขาช่างน่าสมเพชเวทนา

 

กระนั้นก็ตาม อย่างหนึ่งที่พวกเราบอกได้แน่ๆ เมื่อทุกอย่างสิ้นสุดลงก็คือ ริกไม่ใช่นักแสดงที่ปราศจากความสามารถ และอันที่จริง ผู้ชมก็ได้ประจักษ์ด้วยสายตาและในโลกทางเลือก บางทีอาจเป็นตัวเขาและไม่ใช่ สตีฟ แม็กควีน ที่ได้รับบทนำในหนังเรื่อง The Great Escape (1963) ซึ่งก็อย่างที่หน้าประวัติศาสตร์จารึกไว้ หนังเรื่องดังกล่าวเป็นเหมือนสปริงบอร์ดที่ดีดให้คนหลังกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ค่าตัวแพงของฮอลลีวูด และนักแสดง ‘รองชนะเลิศ’ อย่าง ริก ดัลตัน (ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของดาราที่พลาดบทนี้) ก็ยังคงต้องผลุบๆ โผล่ๆ และเวียนว่ายอยู่ในแดนสนธยาของความโด่งดัง และกลายเป็นตัวแปรไม่มากก็น้อยที่นำพาให้เขาลงเอยในสภาพดาราขี้เมา

 

Once Upon a Time in Hollywood

 

อีกส่วนหนึ่งที่ไม่พูดถึงก็คงขาดตกบกพร่อง ได้แก่ เนื้อหาที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง ริก ดัลตัน กับ คลิฟฟ์ บูธ นี่เป็น 2 บุคลิกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ริกอยู่ในภาวะจวนเจียนพินาศย่อยยับทางอารมณ์ ขณะที่คลิฟฟ์เป็นตัวละครประเภทที่อะไรก็ทำลายล้างเขาไม่ได้ อย่างนั้นก็ตาม เรื่องราวระหว่างคนทั้งสองกลับไม่ได้มีอะไรให้สาธยายมากมายนัก เพราะมันไม่มีทั้งความบาดหมาง รอยร้าว หรือกระทั่งความขัดแย้ง อันที่จริง เราไม่เคยได้ยินตัวละคร 2 คนนี้ ด่าทอกัน ทั้งๆ ที่สถานะของคลิฟฟ์ต่ำต้อยกว่าริกอย่างเห็นได้ชัด ทั้งขับรถให้ ซ่อมเสาโทรทัศน์ ไปจนถึงเข็นกระเป๋าสัมภาระ ไม่ว่าจะอย่างไร อย่างหนึ่งที่ผู้ชมรับรู้ได้ก็คือ ต่างฝ่ายต่างรู้ตัวเองว่าอยู่ตรงไหนในลำดับฐานะและชนชั้นที่ไม่ทัดเทียม และไม่มีการละเมิดหรือก้าวล่วงซึ่งกันและกัน ว่าไปแล้ว เสียงบรรยายนิรนามอธิบายลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองได้อย่างรัดกุม และนั่นคือ ‘แนบแน่นยิ่งกว่าพี่น้อง และเป็นรองก็แค่เมีย’ ไม่มากไม่น้อย นั่นทำให้เมื่องานเลี้ยงต้องยุติลง ฉากโบกมือลาระหว่างคนทั้งสองจึงเป็นห้วงเวลาที่ทั้งซาบซึ้ง ตื้นตัน งดงาม และโดยที่ไม่ต้องโหมกระพือ

 

แต่ก็นั่นแหละ ทารันติโนก็ยังคงเป็นทารันติโน ความไม่ประนีประนอมยังคงเป็นเครื่องหมายการค้าที่สำคัญ ทั้งความยาวของหนังที่ปาเข้าไป 2 ชั่วโมง 41 นาที กลวิธีการเล่าเรื่องที่นอกจากไม่รีบร้อน ยังดูประหนึ่งไม่มีจุดหมายปลายทาง เส้นเรื่อง 2-3 เส้นเรื่อง ที่ทับซ้อนกัน และดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง บทสนทนาระหว่างตัวละครที่เจื้อยแจ้ว และเหมือนไม่มีแก่นสารสาระแต่อย่างใด ไปจนถึงทัศนคติของเขาที่มีต่อประเด็นต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องชำระสะสางให้สอดคล้องกับกระแสสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำหนังที่เฉลิมฉลองการใช้ความรุนแรงอย่างบ้าคลั่ง กระทั่งท้าทายให้พวกเราปรบมือ กระทืบเท้า และส่งเสียงเชียร์การฆ่าคน

 

เป็นไปได้ว่า ในมือของคนทำหนังระดับรอง นี่อาจเป็นเพียงแค่หนังเกรดบีที่ค่อยๆ หายสาบสูญไปในกาลเวลา ทว่า ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ Once Upon a Time…in Hollywood เป็นผลงานมาสเตอร์พีซของทารันติโน ที่สะกดผู้ชมด้วยเวทมนตร์คาถาอันหวือหวา แพรวพราว แท็กติกและวิธีการของเขายังคงเสียสติและบ้าบอคอแตกเหมือนเดิม อารมณ์ขันของเขายังคงเรียกเสียงหัวเราะอย่างครึกโครม จินตนาการและวิสัยทัศน์ของเขาอยู่เหนือความคาดหมายของผู้ชม และการเฝ้าติดตามสิ่งละอันพันละน้อยที่โลดแล่นบนจอมีลักษณะไม่แตกต่างจากการทำตัวเองหล่นหายไปในภวังค์ มันยับยั้งทั้งสำนึกในเรื่องตรรกะเหตุผล สติสัมปชัญญะ หรือแม้กระทั่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

 

โดยปริยาย อะไรก็เกิดขึ้นได้ในจักรวาลของ เควนติน ทารันติโน และบางทีเราอาจจะเรียกทั้งหลายทั้งปวงที่ถูกบอกเล่าในหนังเรื่อง Once Upon a Time…in Hollywood ว่าเป็นเสมือนการประกาศชัยชนะของภาพยนตร์เหนือโลกที่สุดแสนห่วยแตก บัดซบ และน่าผิดหวังของความเป็นจริง

Once Upon a Time…in Hollywood (2019)

กำกับ: เควนติน ทารันติโน

นักแสดง: ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ, แบรด พิตต์, มาร์โกต์ ร็อบบี้, อัล ปาชิโน ฯลฯ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X