เป็นที่ทราบกันดีว่าตลอดช่วงเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลายจังหวัดต่างประสบปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก โดยมีพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดคือบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีการรายงานอย่างต่อเนื่องว่าได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมมากที่สุดในรอบ 17 ปี
ล่าสุดสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และเทศบาลตำบลหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท ได้ทำการเปิดตัว 2 นวัตกรรม แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) ในพื้นที่ชุมชนหนองมะโมง
ซึ่งจุดประสงค์หลักของ ‘ธนาคารน้ำใต้ดิน’ คือการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในระดับชุมชน อันเป็นปัญหาที่หลายจังหวัดในประเทศตอนนี้กำลังประสบอยู่ เพื่อทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค เนื่องจากแต่เดิมชุมชนหนองมะโมงมีปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งมาเป็นเวลากว่า 100 ปี และที่น่าสนใจคือเมื่อนำนวัตกรรมดังกล่าวเข้ามาใช้ในปี 2560 ปรากฏว่าสภาวะแห้งแล้งหรือน้ำท่วมฉับพลันค่อยๆ ทยอยหายไปจากพื้นที่แห่งนี้ทันที
ที่มาโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด)
เดิมทีโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) เกิดจากแนวคิดของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ต้องการจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง จากเดิมหวัดชัยนาทเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาไม่มีน้ำกินน้ำใช้
ดังนั้นหน่วยงานท้องถิ่นจึงมีแนวคิดที่จะทำธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) เพื่อกักเก็บน้ำ โดยมีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เข้าไปสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว พร้อมทั้งมีโครงการที่จะทำธนาคารน้ำจำนวน 155 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 3-4 หมู่บ้านในตำบลอีกด้วย
ทั้งนี้ธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) เป็นการทำธนาคารน้ำใต้ดินโดยระบบบ่อปิด มีวิธีการทำโดยการขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลม กว้าง 30 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ลึก 1.20-1.50 เมตร ใช้ก้อนหินและชั้นทรายวางจนเต็มก้นหลุมเพื่อให้ได้น้ำที่ใสสะอาด แตกต่างจากการใช้ขวดหรือยางรถยนต์เป็นตัวกรองในชุมชนอื่น ซึ่งการขุดไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก ไม่ต้องเปิดหน้าดินเป็นวงกว้าง และจะไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
อย่างไรก็ตาม การทำธนาคารน้ำนี้จำเป็นจะต้องมีการศึกษาด้านธรณีวิทยาและด้านภูมิศาสตร์เพื่อหาจุดลุ่มต่ำหรือจุดที่เป็นทางน้ำไหล เพื่อทำให้น้ำสามารถไหลลงธนาคารน้ำใต้ดินได้ ซึ่งทฤษฎีนี้เป็นการอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกไปในตัวด้วย
โดยรูปแบบการทำธนาคารน้ำแบบปิดมีข้อดีคือสามารถทำให้น้ำไหลลงบ่อใต้ดินได้รวดเร็วมาก ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยในช่วงฤดูฝนนั้น ความสามารถของธนาคารน้ำคือสามารถรีชาร์จน้ำลงบ่อได้รวดเร็ว ลดการท่วมขังในพื้นที่ ส่วนหน้าแล้งก็สามารถนำน้ำที่กักเก็บไว้มาใช้ได้ อีกทั้งการทำธนาคารยังช่วยทำให้ดินชุ่มน้ำและอุ้มน้ำมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ดินบริเวณที่ทำธนาคารเกิดตาน้ำ (ทางน้ำเล็กๆ ที่อยู่ใต้ดิน มีน้ำไหลตลอดไม่ขาดสาย) และหลังจากนั้นประชาชนก็จะสามารถขุดน้ำบาดาลและน้ำประปาขึ้นมาใช้ได้โดยไม่ต้องซื้อน้ำเหมือนที่ผ่านมา
ว่าด้วยเรื่องของอุปกรณ์ที่ใช้และขั้นตอนการทำ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) มีดังนี้
- หินใหญ่คละขนาด (หินลิปแลป) ขนาด 15-30 เซนติเมตร
- หินย่อยขนาดเล็ก (3/4)
- ผ้ามุ้ง หรือผ้าตาข่าย หรือจีโอเท็กซ์ไทล์
- ท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว หรือ 3 นิ้ว ความยาวประมาณ 2 เมตร
- ท่อพีวีซีสามทาง หรือท่อพีวีซีตัวแอล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว หรือ 3 นิ้ว
ส่วนขั้นตอนการทำแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนด้วยกัน ดังนี้
- สำรวจจุดรวมน้ำหรือจุดที่พบน้ำท่วมขัง โดยขุดบ่อให้ทะลุชั้นดินเหนียว ขนาดแล้วแต่ธรณีวิทยาของแต่ละพื้นที่ ขนาดกว้าง 1.5 เมตร ยาว 1.5 เมตร ลึก 1.5 เมตร (ตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่)
- ตั้งท่อ PVC (ท่ออากาศ) ตรงกลางบ่อ 90 องศา พร้อมนำวัสดุ เศษอิฐ หิน หรือเศษวัสดุที่ไม่ย่อยสลายขนาดพอเหมาะใส่ลงในบ่อ (เศษวัสดุต้องไม่ปนเปื้อนสารเคมี) สูงประมาณ 1.30 เมตร
- นำผ้าตาข่ายมุ้งเขียว หรือผ้าสแลน ปูทับด้านวัสดุหยาบ (เป็นการกรองวัสดุที่ไหลมากับน้ำไม่ให้ลงไปในบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน และป้องกันไม่ให้หินเกล็ดหล่นในช่องว่างของวัสดุหยาบ)
- นำหินขนาดเบอร์ 1 (3/4) โรยทับบนผ้ามุ้งหรือผ้าสแลนจนเสมอปากบ่อ หนา 10-20 เซนติเมตร (ป้องกันเศษใบไม้ ใบหญ้า ตะกอนดิน ไม่ให้ลงไปอุดตันวัสดุหยาบ)
เท่านี้ก็จะได้ธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) ขนาดกว้าง 1.5 เมตร ยาว 1.5 เมตร ลึก 1.5 เมตร สามารถเติมน้ำลงชั้นใต้ดินได้ไม่น้อยกว่า 6 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หรือ 6,000 ลิตรต่อชั่วโมง พร้อมการเดินทางของน้ำใต้ดินมีลักษณะกระจายออกเป็นรัศมีวงกลมตามแรงเหวี่ยงของโลกหรือตามเส้นทางเดินใต้ดิน เดินตามร่องระบายอากาศของรากต้นไม้ โดยเฉพาะหญ้าแฝกและรากต้นไม้จะสามารถสร้างทางน้ำใต้ดินได้เป็นอย่างดี
วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม (NIA) หนึ่งในผู้ส่งเสริมโครงการ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของการผลักดันนวัตกรรมดังกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ยังประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นมักเป็นเพียงแค่การพลิกแพลงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น หลายสภาวะยังไม่มีรูปแบบ แนวทาง หรือมาตรการในการรับมือและจัดการปัญหาเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ
“ซึ่งการแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้เกิดความยั่งยืนนั้นจำเป็นจะต้องมีการวางแผนแนวทางหรือประยุกต์ใช้เครื่องมือที่สามารถป้องกันและบรรเทาที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมที่เป็นสิ่งก่อสร้าง โดยเป็นการออกแบบโครงสร้างของถาวรวัตถุ เช่น บ้านเรือน อาคารสำนักงาน ให้มีความแข็งแกร่ง สามารถป้องกันสภาวะต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้นวัตกรรมวัสดุเทคโนโลยีและแนวคิดการออกแบบใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าธนาคารน้ำ (ระบบปิด) นี้เป็นหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจ และน่านำไปทดลองใช้งานในหลายพื้นที่ของไทยที่ประสบปัญหาดังกล่าว”
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้นวัตกรรมธนาคารน้ำ (ระบบปิด) อาจเป็นสิ่งที่ได้ผลกับพื้นที่อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท แต่กับพื้นที่จังหวัดอื่นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากว่าหากนวัตกรรมเหล่านี้เข้าไปอยู่ในระบบของพื้นที่เหล่านั้นจะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากแบบนี้ได้มากหรือน้อยเพียงใด
เราคงต้องติดตามกันต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์