เมื่อวานนี้ (11 ก.ย.) ทีมนักดาราศาสตร์จาก University College London (UCL) ของสหราชอาณาจักร เผยข้อมูลการค้นพบครั้งสำคัญในวารสาร Nature Astronomy ระบุว่าดาว K2-18b ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมีน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญของชั้นบรรยากาศ นับเป็นการค้นพบน้ำบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรอยู่ในระยะที่ไม่ห่างจากดาวฤกษ์มากจนเกินไป และยังคงเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตได้เป็นครั้งแรก
โดยดาวเคราะห์วงดังกล่าวอยู่ห่างจากโลก 111 ปีแสง หรือราว 650 ล้านล้านไมล์ นอกจากชั้นบรรยากาศจะมีน้ำเป็นองค์ประกอบแล้ว ดาว K2-18b ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต เช่น มีขนาดใหญ่กว่าโลกราว 2 เท่า ไม่ใหญ่โตจนเกินไป คาดการณ์ว่ามีอุณหภูมิราว 0-40 องศาเซลเซียส ไม่ร้อนจัดหรือเย็นจัดเกินไป เพียงพอที่จะทำให้น้ำคงสถานะเป็นของเหลวได้ ส่งผลให้ดาว K2-18b ถูกจับตามองในฐานะเป็นดาวเคราะห์ที่น่าจะนำไปสู่การค้นพบสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่ดูจะมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุดในช่วงเวลานี้
โดยทีมนักดาราศาสตร์คาดว่าอีกราว 10 ปีข้างหน้า วิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้นในวงการดาราศาสตร์และอวกาศโลกจะช่วยไขความลับต่างๆ ที่ยังไม่ถูกเปิดเผย อุปกรณ์สำรวจที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb Space Telescope (JWST) ที่จะส่งขึ้นไปยังห้วงอวกาศปี 2021 รวมถึงกล้องโทรทรรศน์ในภารกิจ ARIEL ของ European Space Agency ที่จะเริ่มนำมาสำรวจในปี 2028 จะช่วยตรวจจับและวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ในชั้นบรรยากาศของบรรดาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจากระยะไกลได้อย่างละเอียดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้าน ดร.เบท บิลเลอร์ ประจำ Institute of Astronomy ของ Edinburgh University เชื่อว่าเราจะค้นพบหลักฐานการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่นในท้ายที่สุด
“ไม่จำเป็นต้องรอสิ่งมีชีวิตต่างดาวติดต่อมายังโลกอีกต่อไป แค่ค้นพบจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีการจัดเรียงเซลล์แบบง่ายๆ ก็นับเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่แล้ว” ดร.เบทกล่าว
ภาพ: ESA / Hubble / M.Kornmesser
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: