เมื่อวานนี้ (10 ก.ย.) ณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงการปรับอัตราภาษีความหวานรอบที่ 2 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ว่า
มาตรการดังกล่าวจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปรับตัว โดยเฉพาะการลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนผู้บริโภคให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการรองรับกับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต
โดยแนวคิดการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณน้ำตาลนั้น ทางกรมสรรพสามิตได้เสนอแนวทางมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งปรับอัตราภาษีเป็นขั้นบันไดในทุกๆ 2 ปี และสูงสุดถึง 5 บาทต่อลิตร โดยมีสาระสำคัญคือการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง
ทำให้ขณะนี้ทางกรมสรรพสามิตได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการ โดยหันมาปรับสูตรการผลิตส่งเสริมเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยหรือไม่มีน้ำตาลเพื่อสุขภาพเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และได้รับการติดเฮลตี้โลโก้ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นถึง 200% หรือคิดเป็น 2 เท่าของการออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งนับเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ประกอบการเครื่องดื่มบางรายยังไม่มีแนวทางปรับการผลิตที่พร้อมแบกรับภาระจากการจ่ายภาษีที่เพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้กรมสรรพสามิตมีการคาดการณ์ต่อไปว่าการเรียกเก็บภาษีความหวานในช่วงปลายปีนี้จนถึงช่วงปีหน้าจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีความหวานเป็น 4,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการรายงานข้อมูลจาก Global Agricultural Information Network ปี 2557 ที่บ่งชี้ว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึง 28.4 ช้อนชาต่อวัน หากเปรียบเทียบเป็นภาพรวมของการบริโภคของหวานจะพบว่าสูงที่สุดในบรรดาประเทศแถบอาเซียนด้วยกันเอง และสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำไว้แค่วันละ 6 ช้อนชาถึง 4.7 เท่า อันเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคอ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือดได้ง่ายขึ้นด้วย
อ้างอิง: