นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน พ่ายแพ้ในการโหวตในสภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรอีกครั้ง หลังมี ส.ส. จำนวนไม่ถึง 2 ใน 3 ที่เห็นชอบในญัตติขอยุบสภาของเขาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ตุลาคม
โดยหลังจากการอภิปรายและลงมติเสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้ (9 ก.ย.) รัฐสภาได้เข้าสู่ช่วงพักการประชุมเป็นเวลา 5 สัปดาห์ ก่อนจะเปิดสมัยประชุมครั้งหน้าอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 ตุลาคม
ความพยายามแก้เกมของจอห์นสันเพื่อยับยั้งรัฐสภาไม่ให้ผ่านกฎหมายป้องกันการแยกตัวจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง (No-deal Brexit) ไม่เป็นผล โดยญัตติขอจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดรอบที่ 2 ไม่ผ่านความเห็นชอบในสภา เนื่องจากมี ส.ส. เพียง 293 คนที่โหวตสนับสนุน ขณะที่ ส.ส. 46 คนโหวตคัดค้าน และมี ส.ส. 303 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพรรคเลเบอร์ที่งดออกเสียง
เมื่อวานนี้ ร่างกฎหมายยับยั้ง No-deal Brexit ถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งในระหว่างพักการประชุมสภา จอห์นสันจะต้องหาทางเจรจากับ EU เพื่อทำข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่ แต่หากรัฐสภาไม่อนุมัติร่างข้อตกลงฉบับใหม่หรือยังยับยั้ง No-deal Brexit ต่อภายในวันที่ 19 ตุลาคม จะส่งผลให้นายกรัฐมนตรีต้องขอเลื่อนกำหนดเส้นตาย Brexit ต่อสหภาพยุโรป (EU) จากวันที่ 31 ตุลาคม เป็นวันที่ 31 มกราคม 2020
ก่อนหน้านี้สื่ออังกฤษรายงานว่า หนึ่งในทางเลือกที่รัฐบาลมีการหารือกันคือรัฐบาลอาจร้องขอให้ประเทศสมาชิก EU โหวตยับยั้งหรือวีโต้ เพื่อไม่ให้สหราชอาณาจักรขยายเวลา Brexit ออกไป หรืออีกทางเลือกคือ รัฐบาลอาจส่งคำร้องขอเลื่อน Brexit กับ EU อย่างเป็นทางการตามข้อบังคับของกฎหมายใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งจดหมายอีกฉบับเพื่อแสดงความจำนงอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่ต้องการเลื่อนกำหนดการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ลอร์ด ซัมป์ชัน อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอังกฤษ เตือนว่า การขัดขวางความพยายามของรัฐสภาในการขอเลื่อน Brexit ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการส่งจดหมายไปขอให้สหภาพยุโรปขยายกำหนดเส้นตายกระบวนการ Brexit ด้วย เพราะกฎหมายใหม่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องหาทางยืดเวลา Brexit ออกไปเท่านั้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: