ความนิยมของบริการสั่งอาหารผ่านแอปฯ (Food Delivery Application) ไม่ได้แค่ช่วยให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปเท่านั้น เพราะถ้าพลิกข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยดูให้ดีจะพบว่า การขยายตัวของธุรกิจส่งอาหารมีส่วนช่วยให้ร้านอาหารไซส์กลางและเล็กได้รับชิ้นเค้กส่วนแบ่งรายได้มากถึง 26,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 74% จากมูลค่าตลาดทั้งหมด
มีการประเมินเอาไว้ว่า มูลค่ารวมของธุรกิจ Food Delivery ตลอดปี 2562 น่าจะอยู่ประมาณ 33,000-35,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตต่อเนื่องที่ 14% จากปีก่อนหน้า โดยปริมาณดังกล่าวถือเป็นสัดส่วน 8% ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารในไทย (Food Delivery Application และคนขับมีส่วนแบ่งที่ 3,400 ล้านบาท และ 3,900 ล้านบาท ตามลำดับ)
หนึ่งในผู้ให้บริการที่กระโดดเข้ามาในสังเวียนสั่งอาหารผ่านแอปฯ ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว (2559) และยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องคือ LINE MAN ซึ่งปัจจุบันมียอดผู้ใช้ต่อเดือนเฉลี่ย 1.5 ล้านราย จากฐานผู้ใช้งานส่วนใหญ่ที่อยู่ในช่วงอายุ 20-40 ปี (คิดเป็น 3.4% ของจำนวนผู้ใช้งาน LINE ทั้งหมดที่ 44 ล้านคน) แต่ละเดือนมีอัตราการเติบโตของยอดการสั่งอาหารคิดเป็นเลข 2 หลัก
ส่วน 5 เมนูอาหารยอดฮิต ได้แก่ อาหารไทย, อาหารอีสาน, ฟาสต์ฟู้ด, ชานม และขนมหวาน โดยช่วงเวลาส่งยอดนิยมในวันธรรมดาคือ พักกลางวัน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์คือ ช่วง 16.00-17.00 น.
วรานันท์ ช่วงฉ่ำ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจและการตลาด LINE MAN เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า 3 เหตุผลสำคัญที่ส่งให้ผู้ใช้งาน LINE MAN ประทับใจตัวบริการมากที่สุดมาจากการที่ตัวแอปฯ ใช้งานง่าย ร้านอาหารและเมนูครอบคลุมทุกความต้องการ (50,000 ร้านในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพัทยา) และพนักงานคนขับใส่ใจ ให้บริการประทับใจ (จำนวนพาร์ตเนอร์คนขับ 50,000 ราย)
จุดแข็งที่ชัดที่สุดของ LINE MAN คือการที่ LINE ประเทศไทยให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ Hyper Localization มากๆ เพื่อให้สามารถออกแบบบริการได้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด รวมถึงการมีพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่งอย่างฐานข้อมูลร้านอาหารโดย Wongnai และสายส่งจาก Lalamove
ขณะที่กลยุทธ์ต่อจากนี้ วรานันท์บอกว่า LINE MAN จะให้ความสำคัญกับการทำตลาดแบบ ‘Emotional Value (คุณค่าตามความรู้สึก)’ ล้อไปตามกลยุทธ์ Moment Marketing ‘มอบสิ่งที่ใช่ ในโอกาสที่ใช่’ ช่วยดึงผู้ใช้งานใหม่ๆ เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มสั่งอาหาร LINE MAN หลังจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้ทดลองแคมเปญ LOVE MOM เน้นการใช้สื่อให้ข้อมูลหรือแนะนำผู้ใช้งาน ‘รุ่นใหญ่ (คนรุ่นพ่อแม่)’ ให้รู้จักการใช้งานแอปฯ แล้วประสบความสำเร็จมาก โดยพบว่า ยอดขายในเดือนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นถึง 170% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
จุดนี้เองที่วรานันท์เชื่อว่าการทำตลาดแบบ Emotional Value จะเป็น ‘Trigger Point’ ปลดล็อกให้ผู้ใช้งานที่อายุมากกว่า 40-50 ปี หันมาใช้งาน LINE MAN ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยไดรฟ์ให้รายได้บริษัทและมูลค่ารวมทั้งตลาดเติบโตตามไปด้วย สอดคล้องกับเทรนด์สังคมสูงวัย เพราะต้นทุนเดิมที่ LINE มีอยู่และต้องไม่ลืมคือ วันนี้ผู้ใช้งานรุ่นใหญ่ก็ใช้งานแอปพลิเคชัน LINE กันเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เทคโนโลยีจึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับพวกเขา
เมื่อมองถึงเทรนด์โดยรวมของธุรกิจสั่งอาหารและการที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ใช้ ‘ค่าส่ง 10 บาท’ มาติดปลายนวมชกใส่กัน หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจ LINE MAN พยักหน้าเห็นด้วย พร้อมบอกว่า ถือเป็นความท้าทายรูปแบบหนึ่ง เพราะถ้า LINE MAN อยากจะลงมาร่วมแข่งในสังเวียนนี้ก็ต้องทำราคาสู้ให้ได้ด้วยโปรฯ ค่าส่งต่างๆ (ปัจจุบันค่าส่งของ LINE MAN เริ่มต้นที่ 29 บาทในรัศมี 6 กิโลเมตร)
แต่ผลกระทบที่จะตามมาคือ มูลค่าเฉลี่ย ‘Basket Size’ หรือยอดสั่งต่อออร์เดอร์ที่ปัจจุบันอยู่ประมาณ 300 บาท อาจมีแนวโน้มลดลง เพราะลูกค้าไม่กังวลเรื่องการรวมออร์เดอร์แล้วหารค่าส่งอีกต่อไป อย่างไรก็ดี วรานันท์เชื่อว่า ประเด็นนี้จะไม่ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมโดยรวมสะดุดแน่นอน เพราะโอกาสในตลาดยังมีอีกมาก การแข่งขันสูง บวกกับที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจในประเทศจะชะลอตัว แต่ฟู้ดเดลิเวอรีก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ไม่สะเทือน
ส่วนแผนการขยายตลาด เมื่อปลายเดือนสิงหาคม LINE MAN ได้เริ่มให้บริการในพัทยาแล้วด้วยจำนวนร้านอาหารกว่า 3,000 ร้าน โดยเตรียมจะขยายไปยังตลาดในจังหวัดอื่นๆ เร็วๆ นี้ ตามโร้ดแมปของ LINE ที่หวังจะเจาะตลาดต่างจังหวัดและหัวเมืองใหญ่ๆ ให้ครอบคลุม 25% ของทั้งประเทศภายในปี 2020
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล