×

ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด: ตอนที่ 1 เพลงกล่อมเด็ก

03.09.2019
  • LOADING...
ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นบางช่วงก็ดีถึงขีดสุด เจรจาอะไรก็เข้าอกเข้าใจกัน ถึงขั้นประนีประนอมจนลงนามในข้อตกลงยุติเรื่องบาดหมางทั้งหมดในอดีตก็เคยมีมาแล้ว 
  • แต่เมื่อวันร้ายคืนร้ายมาถึง ผู้นำและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงก็ถึงกับไม่มองหน้ากัน เจรจาร่วมโต๊ะกันไม่ได้ เรียกร้องคำขอขมา เตะตัดขา งัดมาตรการกีดกันทางการค้าใส่กัน รวมถึงระดมความรู้สึกชาตินิยมออกมาจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
  • ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศฝังรากลึกมาตั้งแต่อดีตกาล ความหวาดกลัวจากการรุกรานของแต่ละฝ่ายในประวัติศาสตร์สะท้อนให้เห็นได้จากเพลงกล่อมเด็กสมัยโบราณ ทั้งในญี่ปุ่นที่เกลียดกลัวจีนและเกาหลี และในเกาหลีที่เกลียดกลัวญี่ปุ่น

ถ้าไทยกับ สปป.ลาว คือคู่ประเทศที่มีความผูกพันใกล้ชิดที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในเรื่องของรูปร่างหน้าตา ภาษา และวัฒนธรรม หากแต่ในขณะเดียวกันตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศต่างก็มีทั้งเรื่องราวดีๆ และเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศ ทำให้ทุกวันนี้เราเป็นทั้งบ้านพี่เมืองน้อง ในเวทีโลกเราสนิทกัน แต่ในบางครั้งเราก็หมั่นไส้กันและแอบหยิกแกมหยอก หรือบางครั้งอาจจะหยอกกันแรงๆ ไปบ้างก็มี 

 

ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกันครับ บางช่วงก็ดีถึงขีดสุด เจรจาอะไรก็เข้าอกเข้าใจกัน ลงนามความร่วมมือได้ในหลายๆ ฉบับ ช่วยกันทำมาหากิน ร่วมกันทำการค้าการลงทุนในเวทีโลก ประนีประนอมกันถึงขนาดลงนามในข้อตกลงที่จะยุติเรื่องบาดหมางทั้งหมดในอดีตก็เคยมีมาแล้ว 

 

แต่แน่นอน เมื่อวันร้ายคืนร้ายมาถึง… ผู้นำและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงก็ถึงกับไม่มองหน้ากัน เจรจาร่วมโต๊ะกันไม่ได้ เรียกร้องคำขอขมาลาโทษ เตะตัดขา งัดมาตรการกีดกันทางการค้า ระดมความรู้สึกชาตินิยมออกมาจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน 

 

ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

 

ถ้าเราจะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ เราต้องมองทั้งเอเชียตะวันออก (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) เป็นพื้นที่เดียวกัน และเรื่องราวทั้งหมดดูเหมือนจะสอดคล้องพ้องกันกับคำขึ้นต้นนิยายอิงประวัติศาสตร์ ‘สามก๊ก’ ฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดยสำนวนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ว่า ‘เดิมแผ่นดินเมืองจีนทั้งปวงนั้นเป็นสุขช้านานแล้วก็เป็นศึก ครั้นศึกสงบแล้วก็เป็นสุข’ มาดูกันครับว่าทำไมเกาหลีและญี่ปุ่นถึงเป็นเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดกันขนาดนี้

 

สถานการณ์ล่าสุด ความขัดแย้งเริ่มต้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2019 เมื่อประธานาธิบดี มุนแจอิน แห่งเกาหลีใต้ ออกมาสนับสนุนคำตัดสินของศาลฎีกาเกาหลีที่พิพากษาให้ชาวเกาหลีแต่ละคนสามารถฟ้องร้องบริษัทญี่ปุ่น (Nippon Steel และ Mitsubishi Heavy Industries) เพื่อเรียกค่าชดเชยการใช้แรงงานทาสของบริษัทเหล่านี้อย่างไร้มนุษยธรรมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวขัดกับข้อตกลงทั้งหลายที่เกาหลีและญี่ปุ่นเคยลงนามมาก่อนหน้าว่าจะยุติความบาดหมางเหล่านี้ทั้งหมด 

 

โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เกณฑ์คนงานชาวเกาหลีกว่า 7.8 ล้านคนเข้าเป็นทหารในกองทัพ แรงงานทาส และหญิงบำเรอ (Comfort Lady)

 

แน่นอนสำหรับญี่ปุ่นนี่คือเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 1965 ก็มีการตกลงยุติประเด็นนี้ไปแล้ว 1 รอบ 

 

โดยในครั้งนั้นในข้อตกลงใช้คำว่า ‘complete and final’ ในการที่จะยุติและไม่กล่าวโทษเรื่องราวในอดีต และญี่ปุ่นเองก็ส่งมอบเงินทุนเพื่อเยียวยาปัญหาดังกล่าวไปแล้วเป็นมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่ากับ 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากคำนวณเป็นมูลค่าเงิน ณ ปัจจุบัน) โดยในข้อตกลงทั้ง 8 มาตราของเงินกองทุนนี้ มีข้อความที่ว่า ‘the claim by recruited Koreans for, reimbursement, compensation, and other claims required are all included’

 

 

และในวันที่ 29 กรกฎาคม ฝ่ายญี่ปุ่นก็นำเสนอบันทึกการเจรจาระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคม 1961 ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งกองทุนเยียวยาที่เกิดขึ้น โดยในบันทึกทีมเจรจาฝ่ายญี่ปุ่นถามว่า ‘ฝ่ายเกาหลีต้องการให้ญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยกับคนเกาหลีเป็นรายบุคคลหรือไม่’ (Do you want Japan to pay for Korean individuals?) และทีมเจรจาฝ่ายเกาหลีก็ตอบว่า ‘เราจะรับเงินกองทุนทั้งก้อนในระดับประเทศ และการจ่ายเงินเยียวยาภายในประเทศเกาหลีจะเป็นไปในรูปแบบที่เกาหลีดำเนินการเอง’ (We will receive the whole payment as a country, and the domestic payments will be made as necessary as domestic measures.)

 

ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเกาหลีใต้ก็ยังไม่ยอมรับ และนำเอาเรื่องการตัดสินของศาลฎีกาออกมารณรงค์ในวาระต่างๆ อยู่ดี และที่สำคัญที่สุดคือตัวประธานาธิบดีเอง (ซึ่งเป็นฝ่ายซ้ายที่เรียกตัวเองว่าหัวก้าวหน้า) ก็ต้องการที่จะใช้กระแสชาตินิยมในการดำเนินนโยบายของฝ่ายรัฐ

 

ต่อความไม่พอใจดังกล่าว ญี่ปุ่นเลือกที่จะตอบโต้ประเด็นดังกล่าวโดยการระงับการอนุญาตส่งออกแบบอัตโนมัติ (Automatic Licensing) ครอบคลุมการส่งออกสินค้าตั้งต้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงถึง 3 รายการ อันได้แก่ Photoresists (สารสำคัญในการถ่ายแผนภาพร่างของวงจรต่างๆ ลงบนชิปคอมพิวเตอร์), Hydrogen fluoride (ก๊าซสำคัญที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิตชิปคอมพิวเตอร์) และ Fluorinated Polyimides (ส่วนประกอบสำคัญในการผลิตหน้าจอโทรศัพท์มือถือ) 

 

หากเกาหลีจะนำเข้าสินค้าซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตมากกว่า 90% ของสินค้าที่ขายในตลาดโลก ต้องขออนุญาตจากทางการญี่ปุ่นทุกครั้ง และใช้เวลาในการพิจารณาอนุญาตให้ส่งออกได้นานถึง 90 วัน ซึ่งการไม่ขายวัตถุดิบตั้งต้นนี้จะทำให้ผู้ผลิตเกาหลีและผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ทั่วโลกต้องเดือดร้อนจากการขาดแคลนวัตถุดิบตั้งต้นและวัตถุดิบขั้นกลาง

 

คำถามที่สำคัญคือ แล้วความขัดแย้งระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่นมันเกิดขึ้นจากเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงกรณีแรงงานทาสและหญิงบำเรอ ซึ่งญี่ปุ่นก็พยายามโต้ว่าเราได้ขอโทษและชดเชยไปแล้วเพียงเท่านั้นหรือ หรือในความเป็นจริง ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศนี้มันร้าวลึกฝังลงใน DNA ของคนทั้งสองประเทศ

 

ผมจึงเริ่มต้นเขียนบทความขนาด 2-3 ตอนจบนี้ขึ้นมา โดยต้องการอธิบายปมขัดแย้งดังกล่าว เพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้และต้องการให้เรากับประเทศเพื่อนบ้านได้ถอดบทเรียนดูว่าอะไรที่ไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง และต้องพยายามอย่างยิ่งในการสางปมทำความเข้าใจและเดินหน้าสร้างประชาคมที่ดีระหว่างไทยและเพื่อนบ้าน เพื่ออนาคตที่สดใสทั้งของไทยเองและของประชาคมอาเซียน

 

เรื่องของเราเริ่มต้นตั้งแต่ยุค 3 อาณาจักร (삼국시대 57 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. 668) บนคาบสมุทรเกาหลี ก่อนที่จะมีรัฐชาติในรูปแบบปัจจุบัน คาบสมุทรเกาหลีอยู่กันเป็นชนเผ่า โดยเผ่าหรือรัฐที่แข็งแกร่งที่สุดในเวลานั้นคือ โคกูรยอ (고구려) ซึ่งครอบครองพื้นที่ทางตอนบนของคาบสมุทรเกาหลี และมีพรมแดนติดกับแผ่นดินจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. 220) ในขณะที่ตอนล่างของคาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตของรัฐเล็กๆ อีก 3 รัฐ อันได้แก่ แพ็กเจ (백제), คายา (가야) และชินลา (신라) และทั้ง 3 รัฐก็กำลังถูกฝ่ายโคกูรยอเล็งที่จะรวบหัวรวบหางให้กลายเป็นอาณาจักรเดียวเสียก่อนเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับคาบสมุทรเกาหลี และรอรับศึกใหญ่จากราชวงศ์ฮั่นของจีน 

 

ดังนั้นทั้ง 3 อาณาจักร แพ็กเจ คายา และชินลา จึงเริ่มต้นสานสัมพันธ์กับอาณาจักร ยามาโตะ-โคคุ (邪馬台国 ศตวรรษที่ 1-3) ที่เข้มแข็งบนหมู่เกาะญี่ปุ่น

 

ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

 

ยามาโตะ-โคคุ คือยุคสมัยที่คนญี่ปุ่นเชื่อว่านี่คืออาณาจักรที่ถูกสถาปนาขึ้นมาโดยปฐมกษัตริย์จิมมุ (神武天皇) ซึ่งตามความเชื่อของชินโตมีอยู่ว่า จักรพรรดิจิมมุสืบเชื้อสายมาจากจันทรเทพ สึกิโยมิ (月読) และสุริยเทพี อามาเทราสึ (天照) ซึ่งคำว่ายามาโตะนี้ต่อไปในยุคเฮอัน (平安時代 ค.ศ. 794-1185) จะปลุกเอาคำคำนี้ขึ้นมาขยายความต่อจนกลายเป็นหลักความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณยามาโตะ (大和魂, Japanese Spirit) 

 

โดยสำหรับชาวญี่ปุ่นในทุกยุคทุกสมัยหลังจากนั้นก็จะนิยมว่า อาณาจักรแห่งแรกของพวกเขาชื่อว่ายามาโตะ ซึ่งแปลว่าความสอดคล้องพ้องกันอันยิ่งใหญ่ (Great Harmony) พื้นที่ของยามาโตะ-โคคุ ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองนารา เป็นต้นกำเนิดของจิตวิญญาณญี่ปุ่นที่กล้าหาญ (Brave), ใจนักเลง (Daring) และไม่ย่อท้อ (Indomitable) 

 

จิตวิญญาณยามาโตะถูกใช้อย่างต่อเนื่องจนถึงจุดสุดโต่งในเรื่องชาตินิยมในยุคสมัยของสงคราม โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นสร้างรอยแผลเป็นทางประวัติศาสตร์ที่ยังบาดหมางกันจนปัจจุบันทั้งกับจีนและเกาหลี

 

แต่ทว่าในยุค 3 อาณาจักรของญี่ปุ่น ในที่สุดแพ็กเจคืออาณาจักรที่จับมือกับยามาโตะได้สำเร็จ แต่กลับไม่สำเร็จในการต่อสู้กับโคกูรยอ เพราะอาณาจักรที่ชนะในสงครามและสามารถรวมชาติบนคาบสมุทรเกาหลีได้คือชินลา ซึ่งจับมือสร้างพันธมิตรกับราชวงศ์ถัง (唐朝 ค.ศ. 618-907) ของแผ่นดินใหญ่จีนที่รวบรวมกองทัพรุกอาณาจักรโคกูรยอจากทั้งคาบสมุทรเหลียวตง (辽东半岛) ทางเหนือและจากดินแดนของชินลาทางใต้

 

แต่อาณาจักรชินลาเองก็คุมคาบสมุทรเกาหลีได้ไม่นาน เนื่องจากราชวงศ์ถังเองก็ค่อยๆ อ่อนแอลงเนื่องจากต่อสู้กับชนเผ่าที่เก่งฉกาจในเรื่องการรบบนหลังม้า นั่นคือพวกมองโกล ซึ่งจะก่อตั้งราชวงศ์หยวน (元朝) ขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1271-1368

 

และด้วยความที่เก่งฉกาจในการรบ กองทัพของราชวงศ์หยวนก็บุกเข้ายึดคาบสมุทรเกาหลีได้อย่างง่ายดาย และเตรียมตัวที่จะเดินหน้าข้ามทะเลเหลืองผ่านช่องแคบเกาหลี (Korea Strait หรือ 대한해협 / 対馬海峡) เข้าโจมตีญี่ปุ่นในยุคคามาคุระ (鎌倉時代 ค.ศ. 1185-1333)

 

แต่แล้วเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เพราะในระหว่างที่ญี่ปุ่นกำลังจวนเจียนจะเสียดินแดนให้กับกองทัพมองโกลอันยิ่งใหญ่ ลมพายุไต้ฝุ่นขนาดยักษ์ คามิคาเสะ (神風) หรือสายลมแห่งเทพเจ้าก็พัดถล่มกองเรือทั้งหมดของมองโกลให้จมลงสู่ทะเลเหลือง ญี่ปุ่นรอดพ้นความวิบัติไปได้ถึง 2 ครั้งในปี 1274 และปี 1281 

 

แต่เหตุการณ์ในช่วงดังกล่าวก็ยังคงฝากรอยแผลเป็นแห่งความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์เอาไว้ เพราะถ้าคนไทยเวลาปลอบและขู่เด็กขี้แยเด็กซนๆ เราก็มักจะบอกว่า เดี๋ยวตุ๊กแกจะมากินตับบ้าง เดี๋ยวแขกจะมาลักเอาตัวไปบ้าง เดี๋ยวตำรวจจะมาจับตัวไปบ้าง (แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีทัศนคติด้านลบกับตุ๊กแก แขก และตำรวจ) แต่สำหรับคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะกับผู้เฒ่าผู้แก่ เวลาปลอบ ขู่ หรือแม้แต่กล่อมเด็ก ก็จะใช้คำว่า ‘mukuti-kokuri, oni gu kuru’ ซึ่งมีรากมาจากความหวาดกลัวของคนญี่ปุ่นต่อการรุกรานของพวกมองโกลที่ผสมทัพกับพวกโครยอ (ค.ศ. 918-1392) โดยคำกล่าวเดิมคือ ‘moko kokuri no oni ga kuru’ (ปีศาจมองโกลและโครยอจะมาหา) 

 

ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

 

หลังจากยุคของความหวาดกลัวต่อมองโกลและโครยอ (หรือเกาหลี) ผ่านพ้นไป ญี่ปุ่นเองก็ถึงช่วงเวลาที่จะจัดการกับกิจการภายในประเทศ การรวมชาติโดย โอดะ โนบุนางะ (織田 信長) ที่เริ่มต้นในราวปี 1561 และเกือบสำเร็จแต่โนบุนางะก็เสียชีวิตในปี 1582 และลูกน้องคนสำคัญคือ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ (豊臣 秀吉) ก็ขึ้นมาเป็นตัวแทนผู้สานต่อในช่วงปี 1585-1598 

 

ฮิเดโยชิมียุทธศาสตร์สำคัญที่พิจารณาว่าการจะรวมชาติญี่ปุ่นให้สำเร็จ กองทัพของเขาต้องตัดเส้นทางการสนับสนุนและการแทรกแซงจากราชวงศ์หมิง (明朝 ค.ศ. 1368-1644) ของจีน และเพื่อป้องกันการแทรกแซงดังกล่าว กองทัพของญี่ปุ่นต้องบุกยึดสร้างฐานที่มั่นบนคาบสมุทรเกาหลี แน่นอนว่ากองทัพอันเกรียงไกรของฮิเดโยชิสามารถบุกและยึดฮันยาง (กรุงโซลในปัจจุบัน) เมืองหลวงแห่งอาณาจักรโชซอน (조선 ค.ศ. 1392-1910) ได้ภายใน 3 เดือน ในสงครามอิมจิน (임진왜란) หรือที่ฝ่ายญี่ปุ่นเรียกว่าสงครามบุนโรคุโนเอกิ (文禄の役) ในปี 1592

 

แต่ก็เป็นโชคดีของเกาหลี เช่นเดียวกับกรณีลมคามิคาเสะที่มาช่วยญี่ปุ่นจากการถล่มของมองโกลและเกาหลี เกาหลีก็ตกอยู่ในการปกครองของกองทัพของฮิเดโยชิได้ไม่นาน เพราะในปี 1598 โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ก็เสียชีวิต กองทัพญี่ปุ่นจึงยกทัพกลับไป

 

ในท่ามกลางสงครามอิมจิน แม้เกาหลีจะพ่ายแพ้เสียเมือง แต่การรบทางทะเลก็มีวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของนายพลอีซุนชิน (이순신) แห่งกองทัพเรือโชซอนที่สร้างนวัตกรรมเรือเต่า (거북선) ซึ่งเป็นเรือรบติดหลังคาเหล็กหุ้มเกราะรอบตัวเพื่อป้องกันการโจมตีจากเรือญี่ปุ่นได้และได้ชัยชนะหลายครั้งในการรบ

 

เกาหลีเองก็เอาวีรกรรมของเขาขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญและการรบชนะญี่ปุ่น ถ้าใครไปกรุงโซล ณ จัตุรัสควังฮวามุน (광화문광장 หรือลานกว้างหน้าพระราชวังคยองบก หรือ 경복궁) แลนด์มาร์กที่สำคัญที่สุดของกรุงโซล อนุสาวรีย์ที่ยืนอยู่หน้าสุด อยู่ก่อนหน้าอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ของพระเจ้าเซจงมหาราช (세종대왕) รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์โชซอน ผู้ประดิษฐ์อักษรเกาหลี (한글) ก็คืออนุสาวรีย์ของ นายพลอีซุนชิน ผู้สร้างเรือเต่าที่เอาชนะกองทัพญี่ปุ่น จริงๆ แล้วรอบๆ จัตุรัสแห่งนี้ยังมีอีกหลายสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงปมขัดแย้งระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังในตอนต่อๆ ไป

 

และเช่นเดียวกันกับกรณีของญี่ปุ่นที่เพลงกล่อมเด็กพูดถึงความโหดร้ายของมองโกลและเกาหลี เพลงกล่อม ปลอบ ขู่ เด็กของเกาหลี ก็กล่าวถึง ‘ปีศาจจะมาตัดจมูกและตัดหู’ หากเด็กขี้แยหรือเกเรเช่นเดียวกัน ความร้าวลึกเคียดแค้นฝังลงรากลึกนี้เกิดขึ้นเนื่องจากกองทัพของฮิเดโยชิต้องรายงานกลับไปยังญี่ปุ่นว่าสามารถฆ่าเกาหลีไปแล้วมากเท่าใด การศึกเดินหน้าไปแล้วเพียงไหน โดยการตัดหูและจมูกของเหยื่อสงครามแล้วส่งกลับไปที่ประเทศของตน 

 

ปัจจุบันศาลเจ้าหู มิมิซุกะ จากข้อเขียนของ Stephen R. Turnbull ใน Samurai Invasion: Japan’s Korean War 1592 -1598 เขาแสดงให้เห็นว่ากองทัพญี่ปุ่นในขณะนั้นฆ่าคนเกาหลี 185,738 คน และคนจีน 29,014 คน ที่มีตัวเลขชัดเจนขนาดนี้เนื่องจากทหารที่ไปรบเกาหลีเป็นทหารรับจ้าง ดังนั้นจะมีการจ่ายเงินค่าจ้างให้ตามหลักฐานที่ส่งมา ซึ่งหลักฐานเหล่านั้นคือชิ้นส่วนของหูและจมูก โดยจมูกของเหยื่อราวราว 38,000 ราย จะถูกแยกฝังไว้ที่ 2 แห่งคือเกียวโตและโอคายามะ ที่เกียวโตถูกฝังรวมกันไว้ในเนินดินที่วัดโฮโคจิ โดยในอดีตเนินดินแห่งนี้ถูกเรียกว่า ฮานาซุกะ (鼻塚) ซึ่งแปลว่าเนินจมูก ปัจจุบันเรียกว่า มิมิซุกะ (耳塚 ซึ่งแปลว่าเนินหู)

 

ประวัติศาสตร์ยังคงเดินหน้าต่อไป ปี 1600 สงครามใหญ่ที่ทุ่งเซกิกาฮาระ (關ヶ原の戰い) กองทัพของฮิเดโยชิพ่ายแพ้ต่อโทคุงาวะ อิเอยาสุ (徳川家康) ผู้รวมชาติได้และสถาปนาระบบโชกุนที่จะทำให้ญี่ปุ่นแข็งแกร่งต่อเนื่องไปอีกมากกว่า 250 ปี (ค.ศ. 1600-1853) แต่เขาเองก็ประกาศนโยบายปิดประเทศ (Sakoku) โดยไม่ค้าขาย ไม่ติดต่อ ไม่รุกรานประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน 

 

นั่นทำให้บนความสมุทรเกาหลีเองก็มีช่วงเวลาที่สงบสุขเกิดขึ้น สงบมากพอที่จะทำให้พระเจ้าเซจง รัชกาลที่ 4 ของราชวงศ์โชซอนใช้เวลาในการก่อตั้งสำนักปราชญ์ขงจื้อ (집현전) ที่เป็นแหล่งรวมผู้มีความรู้เกี่ยวกับปรัชญาขงจื้อ และสร้างตัวอักษรเกาหลีที่ใช้การในเกาหลีจนปัจจุบัน

 

แต่ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่ใกล้ชิดกันที่สุดนี้ยังไม่จบ ลองนึกดูว่าความเกลียดชังที่ฝังรากลึกลงถึงขนาดกลายเป็นเพลงกล่อมเด็กทั้งในญี่ปุ่นที่เกลียดกลัวจีนและเกาหลี และในเกาหลีที่เกลียดกลัวญี่ปุ่น มันจะสร้างความขัดแย้งตลอดทั้งประวัติศาสตร์ของทั้งสองชาตินี้ได้มากขนาดไหน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X