รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงข่าวมติที่ประชุม ปมการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ของนายกรัฐมนตรี และกรณีการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ
ล่าสุดที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 46 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 เพื่อให้วินิจฉัยว่าการที่นายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ และละเมิดสิทธิเสรีภาพของภานุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เป็นผู้ยื่นคำร้องหรือไม่
ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า แม้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะส่งคำชี้แจงมาว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว เป็นการกระทำที่ครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอน ถือว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ปฏิบัติสำเร็จโดยสมบูรณ์ ทั้งโดยนิตินัยและพฤตินัย และการถวายสัตย์ฯ ของ ครม. เป็นเรื่องของ ครม. กับพระมหากษัตริย์ แตกต่างจากการกล่าวคำปฏิญาณตนของ ส.ส.
แต่รัฐธรรมนูญตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ระบุ ‘รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้…’ เมื่อนายกฯ กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย รวมถึงมีปัญหาในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของภาณุพงศ์ในฐานะผู้ร้องเรียน เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนหรือโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 และเป็นไปตามนัยมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ
ผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในช่วงบ่ายวันนี้ (27 สิงหาคม) ส่วนรัฐบาลจะต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนหรือไม่ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณา ซึ่งผู้ตรวจการฯ ไม่ได้ยื่นคำร้องในประเด็นดังกล่าว