×

All Blacks กับการสร้างทีมกีฬาที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกรักบี้: ตอนที่ 2 ต่อยอดความสำเร็จจากระบบเยาวชนที่แข็งแกร่ง

22.08.2019
  • LOADING...
All Blacks

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ระบบการพัฒนาเยาวชนของกีฬารักบี้นิวซีแลนด์มีความจริงจังตั้งแต่ระดับมัธยม 
  • รักบี้ไม่ใช่เพียงแค่กีฬาอันดับ 1 ของประเทศนิวซีแลนด์ แต่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ จึงทำให้กีฬาชนิดนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากในประเทศ
  • จิตวิทยาที่แข็งแกร่งยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นำพาพวกเขาสู่ความสำเร็จในสนามไม่แพ้กับความแข็งแกร่งของร่างกาย

All Blacks กับการสร้างทีมกีฬาที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกรักบี้: ตอนที่ 1 จุดเริ่มต้นจากความผิดหวัง

 

จากเหตุการณ์ในปี 2011 จะเห็นได้ว่า All Blacks เป็นทีมที่หากนักกีฬาตัวหลักในตำแหน่งสำคัญได้รับบาดเจ็บในระหว่างการแข่งขัน พวกเขาสามารถมองหาตัวแทนขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว 

 

เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ของทีมในปีนี้ที่ โบเดน แบเร็ต ผู้ครองตำแหน่งหมายเลข 10 ต่อจาก แดน คาร์เตอร์ และเจ้าของรางวัลนักกีฬารักบี้ยอดเยี่ยมของโลกเมื่อปี 2017 ปัจจุบันเขาต้องหลุดไปเล่นในตำแหน่งฟูลแบ็ก หรือหมายเลข 15 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาสามารถเล่นได้ เหมือนกับการส่งเอาปีกลงไปเล่นฟูลแบ็กในฟุตบอล 

 

All Blacks

 

เนื่องจากตำแหน่งหมายเลข 10 มีดาวดวงใหม่ที่ชื่อว่า ริชชี โมวางกา ขึ้นมาแทนที่ 

 

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากระบบพัฒนาเยาวชนรักบี้ที่เข้มข้นตั้งแต่โรงเรียน ชมรมท้องถิ่น สโมสร จนถึงทีมชาติ 

 

คีธ ควินน์ หนึ่งในผู้บรรยายรักบี้ที่มีชื่อเสียงที่สุดได้เผยกับทาง Financial Times โดยเชื่อว่าความสำเร็จของ All Blacks เกิดขึ้นจากระบบพัฒนาเยาวชนที่แข็งแกร่งจนสามารถสร้างนักกีฬาที่มีความสามารถพิเศษ หรือสิ่งที่เรียกว่า X-Factor ได้อย่างต่อเนื่องทั้ง โบเดน แบเร็ต หรือเบน สมิธ อีกหนึ่งนักกีฬาที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในสนามได้เมื่อทีมต้องการ

 

ระบบพัฒนาขั้นพื้นฐานที่เรามีโอกาสได้สัมผัสเองเมื่อปี 2006-2007 คือการได้เข้าร่วมทีมสำรองและทีม 3 ของรักบี้ในระดับมัธยมของประเทศนิวซีแลนด์ การแข่งขันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งในทีม 1 หรือทีมตัวแทนโรงเรียนเป็นไปอย่างดุเดือด เพราะการได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนในชนิดกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศคือเกียรติยศอย่างหนึ่งของการเป็นนักเรียน 

 

ยังไม่นับรวมถึงโอกาสได้เข้าร่วมการอบรมพัฒนากรรมการผู้ตัดสินรักบี้อาชีพ การเข้าร่วมเล่นในศึกรักบี้ 7 คนชิงแชมป์ภูมิภาค และการได้เดินทางไปเยือนโรงเรียนต่างๆ ซึ่งมีความจริงจังในการแข่งขันตั้งแต่ระบบการฝึกซ้อม โภชนาการอาหาร ระบบการตัดสิน และบันทึกผลการแข่งขัน อีกทั้งการแข่งขันรักบี้ระดับมัธยมในปัจจุบันจะมีช่องถ่ายทอดสดฟรีไปทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมกีฬาให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น  

 

ความสำคัญของกีฬารักบี้กับนิวซีแลนด์เป็นมากกว่าเพียงแค่กิจกรรมอย่างหนึ่ง แต่รักบี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และกลายเป็นสินค้าส่งออกสำหรับประเทศไปแล้ว 

 

เห็นได้จากโค้ชรักบี้นิวซีแลนด์ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยเมื่อปี 2015 โค้ช 7 ทีมจาก 20 ทีมในศึกรักบี้ชิงแชมป์โลกปีนั้นเป็นโค้ชชาวนิวซีแลนด์ เช่นเดียวกับไทยซึ่งเซ็นสัญญากับ โลเต ไรคาบูรา อดีตนักรักบี้ทีมชาตินิวซีแลนด์ เข้ามารับหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนรักบี้ 7 คนทีมชาติไทยทั้งประเภททีมชายและทีมหญิง โดยเซ็นสัญญาเป็นเวลา 2 ปีเมื่อปี 2018 

 

ไซมอน พอเดวิน อดีตนักรักบี้ทีมชาติออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์กับทาง Financial Times ว่าวัฒนธรรมที่ทุ่มเทให้กับรักบี้ในประเทศนิวซีแลนด์คืออีกหนึ่งเบื้องหลังความสำเร็จของ All Blacks 

 

“ในนิวซีแลนด์มันไม่ใช่เพียงแค่กีฬาประจำชาติ แต่เป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ประจำชาติ รักบี้คือส่วนหนึ่งของประเทศ และประชาชนส่วนใหญ่ภูมิใจกับสิ่งที่ All Blacks ได้ทำให้กับประเทศ”

 

แต่จำนวนไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับนักกีฬารักบี้ในประเทศนิวซีแลนด์ เนื่องจากตัวเลขเมื่อปี 2016 จาก World Rugby Yearbook ระบุว่านิวซีแลนด์มีนักรักบี้อาชีพเพียงแค่ 250 คนในประเทศ ขณะที่อีก 150,000 คนเป็นนักรักบี้ระดับท้องถิ่นที่ขึ้นทะเบียนกับนิวซีแลนด์รักบี้ ขณะที่ออสเตรเลียมีนักรักบี้ระดับท้องถิ่นจำนวนสูงถึง 230,000 คน อังกฤษ 382,000 คน ส่วนฝรั่งเศสมีสูงถึง 542,000 คน 

 

All Blacks

 

ประวัติศาสตร์ความสำเร็จที่สร้างเสื้อสีดำของ All Blacks ให้มีคุณค่า 

ริชชี แม็กคาว อดีตกัปตันทีม All Blacks เจ้าของแชมป์โลกปี 2011 และ 2015 ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของความภาคภูมิใจในเสื้อสีดำและความคาดหวังที่สูงเมื่อคุณสวมเสื้อสีดำนี้ว่าเกิดขึ้นจากความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในเวทีสากลของทีม All Blacks  

 

“คุณต้องย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของรักบี้นิวซีแลนด์เพื่อหาคำตอบ

 

“เรามีทีมต้นตำรับ ทีมนิวซีแลนด์ทีมแรกที่ออกไปทัวร์นอกภูมิภาคออสเตรเลียที่สามารถเอาชนะชาติต้นตำรับรักบี้อย่างอังกฤษเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมคิดว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของวิธีการคิดแบบ All Blacks เรามีประวัติศาสตร์ของความสำเร็จ และนักกีฬาซึ่งในปัจจุบันไม่ต้องการที่จะทำลายตำนานของทีม” 

 

ทีมชุดดังกล่าวของนิวซีแลนด์เดินทางไปทัวร์อังกฤษระหว่างปี 1905/06 พวกเขาลงสนามแข่งขันทั้งหมด 35 เกม และเอาชนะไปได้ 34 เกม โดยแพ้เพียงครั้งเดียวให้กับเวลส์ด้วยคะแนนเพียง 3 แต้ม 

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ All Blacks แตกต่างจากทีมที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องคือระเบียบวินัยของนักกีฬาที่ถูกส่งต่อมาในรูปแบบของวัฒนธรรม 

 

All Blacks

ซันนี่ บิล วิลเลียมส์ นักรักบี้ของ All Blacks เดินไปปลอบใจคู่แข่งจากแอฟริกาใต้ หลังจากที่พวกเขาเอาชนะ Springboks ไป 20-18 ในรอบรองชนะเลิศรักบี้ชิงแชมป์โลกปี 2015 

 

 

ในหลายทีมที่ประสบความสำเร็จ เรามักจะได้เห็นสตาร์ดังที่มาพร้อมกับปัญหาทั้งในด้านของอีโก้และการเรียกร้องความสนใจจากนอกสนาม แต่สำหรับ All Blacks สตาร์ของทีมนั้นถูกคาดหวังให้ทำความสะอาดล็อกเกอร์ของตนเองหลังเกมและหลังการฝึกซ้อมทุกครั้ง 

 

บวกกับนโยบายที่เรียกกันติดปากว่า ‘ไม่ทำตัวเป็นปัญหา’ เพื่อการันตีว่าจะไม่มีผู้สร้างปัญหาในทีม

 

นีล โซเรนเซน ผู้จัดการทั่วไปของนิวซีแลนด์รักบี้ตั้งแต่ปี 2001 ได้อธิบายถึงหลักการนี้ไว้ว่า 

 

“ผมรู้ดีว่าใครบ้างที่ถูกคัดชื่อออกจากทีม All Blacks แม้ว่าพวกเขาจะเป็นนักกีฬาที่ดีที่สุด แต่มีทัศนคติที่ไม่ดี

 

“ที่ผ่านมาเรามีกฎที่ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในการแข่งขันทุกระดับ เราฝึกเยาวชนด้วยกฎเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก ทั้งหมดมันเกี่ยวกับน้ำใจนักกีฬา ความเคารพต่อกีฬา และคู่แข่ง”

 

แม้ว่าจะมีความเข้าใจตรงกันทั้งระบบของ All Blacks แต่บางครั้งก็เกิดเหตุการณ์ที่นักกีฬาทำตัวไม่เหมาะสมขึ้น 

 

โดยก่อนที่รอบ 8 ทีมสุดท้ายของรักบี้ชิงแชมป์โลกปี 2011 จะเริ่มต้นขึ้น สองนักรักบี้หน้าใหม่ของทีม คอรี เจน และอิสราเอล แดกก์ สร้างข่าวอื้อฉาวด้วยการออกไปดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างทัวร์นาเมนต์จนทำให้แรงกดดันจากนอกสนามต่อทีมเพิ่มขึ้นอีก 

 

“พวกเขาไม่ได้ทำอะไรที่ผิดร้ายแรง แต่พวกเขาตัดสินใจผิดพลาดอย่างหนัก พวกเขาไม่จำเป็นต้องมาคุยกับผมเลย” เกรแฮม เฮนรี เฮดโค้ชกล่าวถึงเหตุการณ์วุ่นวายก่อนรอบ 8 ทีมสุดท้ายในปี 2011 

 

“พวกเขาแค่ต้องไปคุยกับกัปตันทีมเพื่ออธิบายทุกอย่าง ต่อด้วยไปขอโทษเพื่อนร่วมทีมอีก 28 คนที่กำลังรู้สึกผิดหวัง” 

 

ความรับผิดชอบเหล่านี้จะถูกรักษาไว้ตั้งแต่ระดับเยาวชนจนถึงทีม All Blacks โดยยึดกับแง่คิดที่ว่าไม่มีใครสำคัญไปกว่าทีม 

 

นอกจากนี้อีกส่วนสำคัญของวัฒนธรรมทีม All Blacks คือนักกีฬารักบี้ของนิวซีแลนด์จะสามารถมีชื่อติดทีม All Blacks ได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาเล่นอยู่ในประเทศเท่านั้น 

 

กฎนี้มีขึ้นเพื่อรักษานักกีฬาชั้นนำของประเทศไว้ในนิวซีแลนด์ เพื่อช่วยยกระดับการแข่งขันในประเทศ และเป็นการป้องกันไม่ให้นักกีฬาเหนื่อยล้าจากโปรแกรมการแข่งขันและเดินทางมากเกินไป และยังเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญว่านักกีฬาจะมองทีมชาติสำคัญกว่าสโมสร เพราะหากพวกเขาตัดสินใจย้ายไปสโมสรในต่างประเทศ เท่ากับพวกเขาหมดสิทธิ์เล่นให้กับทีมชาติในทันที 

 

All Blacks

 

จิตวิทยาที่แข็งแกร่งพอๆ กับร่างกาย 

การเป็นแชมป์โลกครั้งแรกจะกลายเป็นเรื่องง่ายไปเลยเมื่อคุณต้องลงสนามป้องกันแชมป์ เช่นเดียวกับการเป็นอันดับ 1 ของโลก ผลที่ตามมาคือทุกคนต่างก็คาดหวังสิ่งที่ดีที่สุดจากตัวคุณเท่านั้น 

 

ความกดดันมหาศาลนี้คือสิ่งที่ทีม All Blacks ได้รับตลอดเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็ได้ออกแบบการฝึกซ้อมไว้รับมือกับแรงกดดันระหว่างการแข่งขันไว้เช่นกัน 

 

เมื่อปี 2015 เซอร์ เกรแฮม เฮนรี อดีตโค้ชทีม All Blacks เจ้าของแชมป์โลกเมื่อปี 2011 ให้สัมภาษณ์ถึงการรักษาสมาธิของทีม All Blacks กับ CNN ไว้ว่า 

 

“เมื่อคุณอยู่ในสภาวะที่มีความกดดันสูง สมองของคุณจะอยู่ในสภาพที่วุ่นวาย และสุดท้ายคุณอาจจะกลายเป็นคนที่วิ่งพล่านไปทั่วแบบไก่ไม่มีหัว

 

“นักกีฬาทุกคนจึงได้ศึกษาวิธีการรักษาสมาธิให้อยู่กับเกมในสนาม ถ้าพวกเขาเริ่มรู้สึกหลุดจากสมาธินี้ เขาจะมีวิธีในการดึงตัวเองกลับมาเหมือนกับสวิตช์สำรอง พวกเขาฝึกสมาธิแบบนี้ตลอดเวลา”

 

กิลเบิร์ต อีโนกา โค้ชด้านจิตวิทยาของ All Blacks ได้เผยเคล็ดลับขการสร้างสมาธิของทีมว่า

 

“เราไม่มียาวิเศษที่สามารถรักษาได้ทุกโรค แต่เราก็ไม่ควรที่จะทำให้ทุกอย่างซับซ้อน มันเป็นเพียงความสามารถในการเข้าใจความเป็นจริงในจุดที่เราอยู่และสิ่งที่เราต้องทำ ถ้าคุณรักษาสมาธิไว้กับขั้นตอนที่คุณต้องทำและไม่ถูกรบกวนสมาธิโดยสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้ คุณจะสามารถผ่านมันไปได้ด้วยดี 

 

“ถ้าผมเป็นนักกีฬาที่กำลังเตรียมพร้อมสำหรับศึกชิงแชมป์โลก และคิดอย่างเดียวว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราแพ้ คนทั้งประเทศจะมองเราอย่างไร และความพ่ายแพ้จะส่งผลกระทบต่อตัวเราอย่างไร 

 

“ในทางกลับกัน ถ้าเราดึงสติกลับมาแล้วคิดว่าผมจะลุกขึ้นมายืดตัว กินข้าวเช้า และเตรียมพร้อมประชุม ค่อยๆ คิดไปทีละขั้นตอน 

 

“ในโลกธุรกิจ คุณต้องประชุมอย่างต่อเนื่อง มีเดดไลน์ มีสิ่งที่ต้องสร้าง ถ้าคุณคิดถึงแต่ผลที่ตามมา คุณจะรู้สึกหมดแรง แต่กลับกัน ถ้าคุณกลับมาคิดทีละขั้นตอนและทำในสิ่งที่ต้องทำตามลำดับ ควบคุมเหตุการณ์ให้เป็นไปตามขั้นตอน 

 

“หนทางเดียวสู่ความสำเร็จคือการบริหารตัวคุณเองผ่านสถานการณ์ที่มีความกดดันมหาศาล”  

 

All Blacks

 

ความท้าทายครั้งใหม่ในศึกรักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 

แม้ว่า All Blacks จะมีระบบการพัฒนาที่แข็งแกร่งและฝีมือเฉพาะตัวของนักกีฬาที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครสามารถหลีกหนีได้คือความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับเวลาที่หมุนไปข้างหน้า 

 

All Blacks ได้รักษาตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี แต่พวกเขาก็เสียตำแหน่งนี้ให้กับเวลส์ 

 

All Blacks ที่สร้างสถิติเก็บชัยชนะติดต่อกันได้นานถึง 18 เกมในการแข่งขันระดับนานาชาติเมื่อปี 2016 ก็พ่ายให้กับไอร์แลนด์ไป 40-29 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันนับตั้งแต่ที่พวกเขาพบกันครั้งแรกในปี 1905 ที่ไอร์แลนด์เอาชนะนิวซีแลนด์ได้ 

 

All Blacks พ่ายให้กับออสเตรเลียไป 26-47 ซึ่งเป็นสถิติที่ออสเตรเลียทำแต้มใส่ All Blacks ได้มากที่สุดที่ 47 คะแนน ด้วยเวลาเพียงแค่ 6 สัปดาห์ก่อนที่รักบี้ชิงแชมป์โลกที่ญี่ปุ่นจะเริ่มต้นขึ้น  

 

แต่สุดท้าย All Blacks ก็กลับมาเอาชนะออสเตรเลียในบ้านที่สนามอีเดนพาร์กแบบขาดลอยไป 36-0 สร้างความมั่นใจครั้งสุดท้ายก่อนที่เสียงนกหวีดแรกของรักบี้ชิงแชมป์โลกจะเริ่มต้นขึ้น 

 

โดยชื่อเสียง ความสำเร็จ และตำนานที่มากับเสื้อสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ของทีมต่างก็มาพร้อมกับแรงกดดันมหาศาล พร้อมกับความคาดหวังที่ว่าพวกเขาต้องได้แชมป์โลกเท่านั้นจึงจะถือว่าทีมประสบความสำเร็จ 

 

ซึ่งหากพวกเขาสามารถรักษาสมาธิและแสดงศักยภาพสูงสุดภายใต้แรงกดดันนี้ได้อีกครั้ง แชมป์โลกสมัยที่ 3 ติดต่อกันก็คงจะกลายเป็นอีกสถิติที่มาอยู่ภายใต้การครอบครองทีม All Blacks ได้อย่างแน่นอน 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising