สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวที่อัตรา 2.3% ในไตรมาส 2/2562 ชะลอตัวจาก 2.8% ในไตรมาสที่ 1/2562 ภาพรวมครึ่งปีแรกเหลือ 2.6%
เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า และการผันผวนของค่าเงิน ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ
ส่งผลกระทบต่อฐานรายได้หลักของประเทศ ทั้งการส่งออกลดลง ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง นักท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัว เพราะเศรษฐกิจในบ้านไม่ค่อยดี ดังนั้น เมื่อรายได้หลักของประเทศน้อยลง จึงส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเหมือนกัน
ปัจจัยต่างๆ แม้ยังเติบโต แต่อยู่ในอัตราการชะลอตัวลง ทั้งการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.4% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 1.0% อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสนี้เท่ากับ 19.7% ต่ำกว่าปกติที่มักจะเบิกจ่าย 22.8% การลงทุนภาครัฐวิสาหกิจน้อยลง ค้าปลีก การขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้ายังเติบโตอยู่ การท่องเที่ยวเติบโตลดลง
การผลิตภาคเกษตรลดลง 1.1% จากการขยายตัว 1.7% ในไตรมาสแรก อันเนื่องมาจากภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ส่งผลต่อข้าวเปลือกและอ้อย ส่วนผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 0.2% ตามการลดลงของการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกและการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งยาง น้ำตาล เครื่องประดับ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม การส่งออกส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้น ลดลง 4.2% มีมูลค่าทั้งหมด 60,553 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สศช. ปรับอัตราการเติบโตของ GDP ปี 2562 ใหม่เหลือ 2.7-3.2% ค่ากลาง 3.0% ส่วนปี 2563 คาดเติบโต 3.0-4.0% มีค่ากลางอยู่ที่ 3.5% ส่วนจะโตมากกว่านี้หรือไม่ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ก่อน ส่วนส่งออกปี 2562 คาดติดลบ -1.2% ลดจากเดิมที่คาดไว้ 2.2% ส่วนนำเข้าติดลบ -1.6% จากเดิมที่คาดว่าโต 3.5%
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล