“น้ำตาจะไหล”
“มันดีมาก ไม่ไหวแล้ว แกต้องมา”
“เพิ่งรู้ว่าเวลาฝนดิจิทัลตก มันสวยแบบนี้นี่เอง”
เหล่านี้คือคำนิยมที่เรามักเลื่อนนิวส์ฟีดเจออยู่เสมอ เมื่อมีใครสักคนเช็กอินที่ teamLab Planets พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และเชื่อเถอะว่า คำนิยมจำนวนมากมายเพียงใดก็ไม่เท่ากับการได้ไปสัมผัสประสบการณ์นั้นด้วยตัวคุณเองสักครั้งในชีวิต!
การเที่ยวชม teamLab Planets เกิดขึ้นได้ในหลายระดับ ทั้งในเชิงกว้าง อย่างการเดินชมความงดงามและแสงสีที่เกิดขึ้น สนุกสนานเพลิดเพลินไปกับมัน หรือในเชิงลึกที่จะทำให้เราเข้าใจคอนเซปต์เชิงความคิดบางอย่างขึ้นมา ทั้งปรัชญาความเรียบง่าย ความจริงของชีวิต หรือการได้หยุดพักเพื่อฟังเสียงข้างในหัวใจตัวเราเอง
teamLab Planets คือพิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลขนาดพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่โทโยสุ กรุงโตเกียว เปิดให้เข้าชมเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี โดยจะสิ้นสุดช่วงฤดูใบไม้ร่วงในปี 2020 ซึ่งงานที่นำมาจัดแสดงได้การพัฒนามาจากโปรเจกต์ DMM.Planet โดย teamLab ในปี 2016 ที่เคยจัดแสดงชั่วคราว 47 วัน แต่กลับได้รับการตอบรับมากมาย จนเป็นปรากฏการณ์ที่มีผู้เข้าชมรอต่อคิวนานกว่า 6 ชั่วโมง!
teamLab Planets เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใช้คอนเซปต์ Body Immersive โดยเราต้องใช้ร่างกายเข้าแลก เพื่อให้เกิดงานศิลปะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งทำให้งานศิลปะที่เกิดขึ้นไม่จำเป็นต้องอยู่บนผืนผ้าใบเสมอไป และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้คนจะนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับโลก
ภูเขาไฟฟูจิมันมีความหมายทั้งการได้ไปที่นั่นจริงๆ กับโมเมนต์ที่คุณมองดูมันจากไกลๆ แต่ก็รู้สึกสุขใจ ซึ่งมันไม่ต่างจากความสุขในห้องดื่มชาของเรา ตอนที่คุณดื่ม ชามันอาจจะหมดแก้วในเวลาไม่นาน แต่ชาจะยังอยู่ในร่างกายคุณ อยู่ในความทรงจำ
คุโด้ ทาคาชิ Communication Director, teamLab ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD เกี่ยวกับคอนเซปต์การทำงานของ teamLab ที่ทำให้เราเข้าใจโครงสร้างของการมาบรรจบกันระหว่างดิจิทัลและศิลปะ
“สิ่งที่เราตั้งใจคือ การหาความสัมพันธ์ใหม่ๆ ระหว่างมนุษย์กับโลก มนุษย์กับธรรมชาติ รวมถึงมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง โลกเปลี่ยนไปตลอดเวลา ธรรมชาติก็เปลี่ยนไปตลอดเวลาเช่นกัน มันคล้ายๆ การเกิดซ้ำๆ อย่างเช่น ในญี่ปุ่นช่วงซากุระที่จะกลับมาทุกๆ ปีในช่วงเวลาเดิม ซึ่งในทุกๆ ปีนั้น มันก็มีความเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
“อย่างภูเขาไฟฟูจิมันมีความหมายทั้งการได้ไปที่นั่นจริงๆ กับโมเมนต์ที่คุณมองดูมันจากไกลๆ แต่ก็รู้สึกสุขใจ ซึ่งมันไม่ต่างจากความสุขในห้องดื่มชาของเรา ตอนที่คุณดื่ม ชามันอาจจะหมดแก้วในเวลาไม่นาน แต่ชาจะยังอยู่ในร่างกายคุณ อยู่ในความทรงจำ
“การทำงานของศิลปินก็เหมือนกัน เราเน้นที่ประสบการณ์และความทรงจำเกี่ยวกับความสวยงามของสิ่งต่างๆ เพื่อให้คนประทับใจและบรรจุช่วงเวลาที่งดงามไว้ในจิตใจของคุณ ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่สร้างให้เกิดความสวยงามเหล่านี้คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์และความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเกิดจากจิตใจและมันสมองของเรา ซึ่งมันไม่มีขอบเขตอะไรมากำหนด สิ่งที่เราทำคือ การพูดถึงศิลปะด้วยการแสดงออกผ่านสิ่งต่างๆ เราไม่สามารถอธิบายงานศิลปะของเราออกมาเป็นคำพูดได้
“และทีมงานของ teamLab มีทั้งสถาปนิก วิศวกร ซีจีแอนิเมเตอร์ ซอฟต์แวร์เอนจิเนียร์ ฮาร์ดแวร์เอนจิเนียร์ และอีกหลายภาคส่วน เราไม่ใช่อัจฉริยะ แต่เราทำงานร่วมกันเป็นทีม”
ระหว่างการเดินชมในบริเวณพิพิธภัณฑ์ teamLab Planets เราจะได้ยินเสียงลม มองเห็นดวงดาว สัมผัสได้ถึงไฟกะพริบที่รายล้อมอยู่รอบตัว และยิ่งการเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานศิลปะ อย่างการเดินเท้าเปล่าในสายน้ำที่มีทั้งน้ำอุ่นน้ำเย็นปะปน พื้นผิวสัมผัสขรุขระข้างใต้ที่เลียนแบบธรรมชาติ ก็ช่วยทำให้เรานึกถึงการเดินในสวนป่าของจริงได้ไม่ยาก
หรือห้องกระจกที่ปล่อยภาพการสูญสลายของดอกไม้ที่ปลิดปลิวกลีบร่วงหล่น ผีเสื้อบินจนเราแทบจะได้ยินเสียงกระทบของปีกบางๆ เหล่านี้ก็คล้ายสะท้อนภาพความงดงามของชีวิตที่แม้สูญสลายแต่กลับงดงาม ซึ่งเราเชื่อว่า จะต้องมีโมเมนต์หนึ่งใน teamLab Planets ที่จะทำให้คุณรู้สึกได้ว่า ศิลปะดิจิทัลที่สวยงามจากสายตาเห็น ยังสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างในจิตใจ เยียวยารักษาบาดแผลบางอย่างได้โดยไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ ให้มากความ
การเข้าชม teamLab Planets จะแบ่งออกเป็นห้องต่างๆ ตามเส้นทางเดินที่ได้กำหนดไว้ โดยจะได้สัมผัสกับน้ำสูงระดับหน้าแข้ง และการได้เอาตัวเองหลุดเข้าไปอยู่ท่ามกลางงานศิลปะประเภทต่างๆ โดยผลงานเด่นๆ อย่างเช่น
Soft Black Hole
ห้องที่คล้ายพื้นผิวไม่รับน้ำหนัก แม้ว่าคุณพยายามที่จะเดินแต่เท้าจะจม พื้นที่ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามน้ำหนักของร่างกายมนุษย์ นี่เป็นคอนเซปต์ที่ล้อเลียนชีวิตสมัยใหม่ที่เราถูกล้อมรอบด้วยพื้นผิวแข็งแบน เราจึงหลงลืมการรับรู้ร่างกายของเราไปว่าพื้นผิวตามธรรมชาติเป็นอย่างไร
Waterfall of Light Particles at the Top of an Incline
งานชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับงานก่อนหน้านี้ที่ชื่อว่า น้ำตกธรรมชาติในภูเขาชิโกกุ Waterfall of Light Particles – Deep in the Mountains of Shikoku (2016-2017) เส้นสายของสถานที่สะท้อนให้เห็นความงดงามระหว่างที่เราเดินลุยน้ำขึ้นไปตามทางที่ลาดชัน ก็คล้ายกับการเดินขึ้นน้ำตกบนภูเขา
The Infinite Crystal Universe
งานศิลปะแบบอินเตอร์แอ็กทีฟนี้เป็นการแสดงออกถึงจักรวาลผ่านจุดแสงที่มารวมกันที่กระจายไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดทุกทิศทุกทาง กิมมิกที่น่าสนใจคือ เราสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันลงในสมาร์ทโฟน เพื่อเลือกรูปแบบการส่องแสงได้ตามต้องการ งานชิ้นนี้จะเป็นศิลปะที่สร้างสรรค์จากผู้คนที่มาเข้าชม และทำให้ตัวงานมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
Drawing on the Water Surface Created by the Dance of Koi and People – Infinity
ปลาคาร์ฟที่ว่ายอยู่บนผิวน้ำที่ทอดยาวออกไปไม่มีที่สิ้นสุด คล้ายแม่น้ำสายกว้างที่เราเดินลุยเข้าไปร่วมสนุกได้ การเคลื่อนไหวของปลาคาร์ฟได้รับอิทธิพลจากการปรากฏตัวของผู้คนในน้ำและปลาคาร์ฟอื่นๆ เมื่อปลาชนกับผู้ชม ก็จะกลายเป็นดอกไม้และกระจายออก
Expanding Three-Dimensional Existence in Transforming Space – Free Floating, 12 Colors
บริเวณนี้เต็มไปด้วยบอลลูนลูกเล็กลูกใหญ่เต็มพื้นที่ เราสามารถเดินแทรกผ่านเข้าไปเพื่อสัมผัสกับบอลลูกต่างๆ ซึ่งเคลื่อนไหวตามการสัมผัสของผู้เข้าชมคนอื่นๆ เช่นกัน และที่ยิ่งสวยงามเพิ่มขึ้นคือ การที่บอลลูนจะเปลี่ยนสีและสะท้อนแสงออกมา โดยจะเปลี่ยนสีและสะท้อนโทนสีไปยังบอลลูนที่อยู่ใกล้เคียง
บอลลูนในชิ้นงานนี้ทำขึ้นมาจากสีฟ้า แดง เขียว และสีใหม่ 9 สี (แสงในน้ำ, แสงแดดบนพืชน้ำ, พลัม, ไอริส, ท้องฟ้าตอนพลบค่ำ, ท้องฟ้ายามเช้า, แสงตอนเช้า, พีช, เมเปิลฤดูใบไม้ผลิ) ทำให้เกิดเป็นสีทั้งสิ้น 12 สี
Floating in the Falling Universe of Flowers
คอมพิวเตอร์จะแสดงผลงานศิลปะชิ้นนี้แบบเรียลไทม์ ไม่ใช่การบันทึกไว้ล่วงหน้าหรือวนเป็นวงจร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมและชิ้นงานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในงานศิลปะนี้ ดอกไม้เจริญเติบโต ผลิดอก และเมื่อเวลาผ่านไป กลีบก็ร่วง ดอกไม้เหี่ยวเฉาและตายไป แสดงให้เห็นถึงวัฏจักรของการเกิดและความตายเวียนว่ายอยู่ตลอดไป
แนะนำว่า เพียงนอนราบหรือนั่งนิ่งๆ ซึมซับเสียงและภาพเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ร่างกายเราจะคล้ายหลอมรวมเป็นหนึ่งในงานศิลปะนี้ด้วย
ภาพ: teamLab
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
teamLab Planets TOKYO
ที่อยู่: Toyosu 6-1-16, Koto-ku, Tokyo, Japan
วันทำการ: วันที่ 7 กรกฎาคม ปี 2018 – ฤดูใบไม้ร่วงปี 2020
เวลาทำการ: วันธรรมดา เวลา 10.00-24.00 น. / วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-24.00 น.
ซื้อตั๋วเข้าชมล่วงหน้าได้ที่ teamlabplanets.dmm.com/en
เว็บไซต์: www.planets.teamlab.art