ท่ามกลางความสำเร็จและการเติบโตที่รวดเร็วในปัจจุบัน องค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งต้องพบกับปัญหาของระบบการทำงานที่เต็มไปด้วยความอึดอัด เกรงใจ และไร้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตและจิตใจของพนักงานรวมถึงผู้บริหารลดต่ำลง ในระยะยาวอาจทำให้งานไม่มีคุณภาพ ขาดความคิดสร้างสรรค์ และแน่นอนว่า ทุกบริษัทต้องเร่งแก้ไขการทำงานดังกล่าว เพื่อให้สามารถก้าวตามการเติบโตของโลกได้ทัน
SC Asset เป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 1,000 คน ทั้ง 400 คนที่ทำงานอยู่ในสำนักงาน และอีก 600 คนที่ทำอยู่ที่ไซต์ จำนวนพนักงานที่มาก ทำให้การพบกันระหว่างแผนกจึงเป็นไปได้ยาก และทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยิ่งองค์กรมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น มีจำนวนคนที่มากขึ้น การจัดระเบียบขององค์กรก็ยิ่งดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงจากแผนงาน SC Re-Invention 2020 ในระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ด้วยความคิดที่ว่า จะดีแค่ไหนถ้าหากคนในองค์กรมีพื้นที่ที่ได้มาเจอเพื่อน เจอผู้คนจากต่างแผนก มีห้องสำหรับทำเวิร์กช็อป มีเบาะนุ่มๆ ให้นั่งอ่านหนังสือ มีห้องคุยโทรศัพท์มือถือที่อัดพอดแคสต์ได้ ระหว่างวันก็สามารถเดินเล่น ดื่มน้ำ กินขนม นั่งทำงานปะปนกับคนได้จากทั้งบริษัท สามารถประชุมกันท่ามกลางแสงธรรมชาติพร้อมบรรยากาศดีๆ ประกอบกับดนตรีที่เปิดคลอสร้างบรรยากาศ
ด้วยแนวคิดนี้ จึงเกิดเป็นสถานที่ที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้ไข การทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป องค์กรขนาดใหญ่แห่งนี้ได้เร่งฝีเท้าก้าวนำออกไป อย่างที่ใครๆ อาจจะวิ่งตามมาได้ไม่มีทางติด เมื่อ SC Asset นำเสนอออฟฟิศรูปแบบใหม่ ออฟฟิศที่ใครก็อยากจะเข้ามาใช้ ออฟฟิศที่จะตอบโจทย์การทำงานขององค์กรขนาดใหญ่อย่าง CO.Lab
จูล-โฉมชฎา กุลดิลก Head of Corporate Brand จาก SC Asset กล่าวถึงลักษณะของการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ พร้อมกับพูดถึงแนวทางใหม่จาก CO.Lab ว่า “เวลาองค์กรใหญ่ๆ ทำงานไป มันจะค่อยๆ เข้าสู่ระบบไซโลไปเรื่อยๆ เพราะมันง่าย มันเร็ว ไม่ต้องคุยกับใคร คุยกันเองในแผนก จบ แต่องค์กรเราจะไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้ เพราะคุณเห็นงานมุมเดียว คนโน้นเห็นแค่ด้านโน้น คนนี้เห็นแค่ด้านนี้ แต่ CO.Lab จะทำให้การทำงานกลมมากขึ้น ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพราะมันไม่มีเจ้าของเป็นแผนกใดแผนกหนึ่ง มันเป็นของทุกคน”
จูลมีแนวคิดจะพัฒนาและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเล่าว่า ประเด็นหลักที่ต้องการปรับเปลี่ยนจากเหล่าพนักงานคือ ความพร้อม การรีบเร่งนำกระบวนการบางอย่างมาใช้กับองค์กรโดยไม่ได้มองความพร้อมของพนักงาน อาจทำให้เกิดผลร้ายได้มากมายกว่าผลดี เพราะคนคือรากฐาน คือทุกอย่างของบริษัท เพราะฉะนั้นสิ่งที่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการทำให้คนพร้อมมากขึ้นได้คือ สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กร
แบงค์-กานดิศักดิ์ รื่นใจชน Head of Product Design and Innovation เปรียบปัญหาเรื่องความพร้อมเหมือนกับคำถามโลกแตก พร้อมพูดถึงวิธีการแก้ไขได้อย่างน่าสนใจว่า “มันก็เหมือนกับคำถามว่า ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน คนพร้อม แล้วสภาพแวดล้อมพร้อมหรือยัง บางที่รอให้คนพร้อม แต่ถ้าสภาพแวดล้อมยังไม่พร้อมก็ไม่ได้ สิ่งที่เราทำก็คือ ทำมันไปพร้อมๆ กันนั่นแหละ มันอาจจะไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด แต่เมื่อไรที่เรารู้ว่าไม่ใช่ เราก็พร้อมที่จะเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพของคน”
#SKYDIVE วัฒนธรรมองค์กรใหม่ นำไปสู่การเป็น Living Solutions Provider
“เราเริ่มทำวัฒนธรรมใหม่เพื่อปรับมายด์เซตให้กับพนักงาน สร้างความพร้อมที่จะเปลี่ยนจาก Property Developer เป็น Living Solutions Provider ผู้จัดหาทางออกของปัญหาการอยู่อาศัย จากวัฒนธรรมองค์กรเดิมของเราคือ 2C2A Care Create Ability Active เปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่มีชื่อว่า #SKYDIVE ที่แปลว่าดิ่งพสุธา ว่าด้วย 4C ซึ่งได้แก่ Care Courage Collaboration และ Continuous improvement”
จูลเล่าถึงวัฒนธรรมขององค์กรที่จะเปลี่ยนไป พร้อมเน้นย้ำในแต่ละส่วนของวัฒนธรรมองค์กรใหม่นี้ ทั้งเรื่องของความห่วงใยที่จะมากขึ้น และความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นหลากหลาย เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความกล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่ายังเกิดขึ้นน้อยมากในพื้นฐานของวัฒนธรรมองค์กรไทย และตรงจุดนี้อาจแก้ไขร่วมไปกับการใช้พื้นที่ CO.Lab สร้างความร่วมมือกันระหว่างคนในองค์กรที่มากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างไม่หยุดหย่อน และสามารถเติมเต็มการเป็นผู้จัดหาทางออกของปัญหาการอยู่อาศัยได้อย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น
Co.Lab พื้นที่ทำงานที่ตอบรับกับวัฒนธรรมใหม่ขององค์กร
จูลอธิบายว่า การจะเป็น Living Solutions Provider ได้ จำเป็นจะต้องใช้กระบวนการทางความคิดที่มีความหลากหลาย และต้องคิดวิธีการใหม่ๆ มากมายให้ได้อย่างสร้างสรรค์ ทาง SC Asset จึงใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Design Thinking ในการศึกษา ทำความเข้าใจ และแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมกันนี้จึงทำให้เกิดจุดเริ่มต้นของการออกแบบ CO.Lab แห่งนี้
“เราค้นพบว่า บริษัทเราไม่มีพื้นที่สำหรับการ Empathize Define และ Ideate เพราะ Empathize คือการนั่งคุยกัน ต้องฟังกัน มันคือการพยายามเข้าใจคนอื่น ในที่นี้เราพยายามเข้าใจลูกค้าแหละ แต่พี่เป็นคนทำโฆษณา พี่ไม่ได้เจอลูกค้าหรอก พี่แบงค์เป็นนักออกแบบก็ไม่ได้เจอลูกค้า แต่เพื่อนเซลส์เจอ เพื่อนการตลาดเจอ ถ้าเรานั่งอยู่ในแต่ละแผนก เราจะไม่มีวันได้เจอพวกเขาเลยนะ พื้นที่นี้ทำให้เราได้มาเจอกัน พอเจอกันก็ได้คุยกัน มีกาแฟ มีขนม มันกลายเป็นการ Empathize ที่ดีมาก เพราะ Empathize ไม่ได้เกิดขึ้นในห้องประชุม ไม่ได้เกิดจากการตั้งคำถามที่ดี แต่เกิดจากบทสนทนาที่ดี”
Hot Desks ทลายชั้นยศด้วยโต๊ะที่ใครๆ ก็อยากใช้
แบงค์เล่าให้เราฟังถึงส่วนต่างๆ ของพื้นที่ใหม่นี้อย่างละเอียด เริ่มต้นด้วยแนวโต๊ะสูงริมหน้าต่างที่เรียกว่า Hot Desks ซึ่งเป็นโต๊ะที่ได้รับแสงสว่าง รวมถึงวิวที่ดีที่สุด เรียกได้ว่าฮอตที่สุด ใครๆ ก็อยากจะมานั่งทำงานที่นี่ ฮอตจนต้องใช้เก้าอี้เป็นเก้าอี้สตู ซึ่งไม่มีพนักพิง เพื่อบังคับให้คนผลัดเปลี่ยนกันใช้พื้นที่นั้น และทำให้นั่งได้ไม่นานนัก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือผู้บริหารก็ตาม
“เราทำลายลำดับชั้นยศด้วยนะ นี่เป็นสิ่งสำคัญ แต่ทำลายลงไปแล้วไม่ใช่ว่าเราจะขาดกาลเทศะนะ กาลเทศะยังมีเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าทุกคนก็สามารถพูดคุยกันได้ อย่างพื้นที่ริมหน้าต่างที่เป็นแสงธรรมชาติ เชื่อว่าทุกคนอยากได้ เราก็จัดให้เป็น Hot Desks ทุกคนก็มีความสุขกับการได้ทำงานริมหน้าต่าง ถ้าเป็นความเชื่อเดิม คนที่จะได้นั่งริมหน้าต่างก็จะต้องเป็นผู้บริหารเท่านั้น”
Dedicated Desks & Pod A Pod B พื้นที่ทางการสำหรับคนทำงานจริงจัง
ถัดเข้ามาด้านในจะพบกับโซนที่เป็นโต๊ะขนาดใหญ่ เรียกว่า Dedicated Desks ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นทางการและจริงจังมากขึ้น ข้างๆ กันจะเป็น Pod A และ Pod B ซึ่งมีลักษณะเป็นที่นั่งคุยงานแบบมีคอกกั้นรอบด้าน พร้อมมีจอสำหรับการนำเสนองานอยู่ด้านใน สองโซนนี้มีไว้รองรับการทำงานที่จริงจัง มีระบบการจองที่ชัดเจน สามารถจองล่วงหน้าได้หลายเดือน หรือถ้าเห็นว่ายังว่างอยู่ก็สามารถเข้ามาใช้งานได้
จูลเล่าถึงความพิเศษของส่วนนี้ว่า การจัดพื้นที่คุยงานที่จริงจังไว้ในส่วนที่เปิดโล่ง เป็นการส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในอีกแง่มุมหนึ่ง เพื่อให้คนที่นั่งอยู่บริเวณนั้นสามารถได้ยินคนที่อยู่รอบๆ ได้ เกิดการถามไถ่ว่าทำอะไรอยู่ เมื่อเข้าใจว่าเพื่อนร่วมงานทำอะไร หากมีอะไรที่ช่วยกันได้ก็จะได้ช่วยเหลือกัน
Lighting & Ambient Music แสง สี และดนตรีสร้างบรรยากาศ
นอกจากนี้จูลยังเสริมว่า การออกแบบแสงสว่างในพื้นที่เปิดโล่งนี้ถูกออกแบบมาให้ได้รับแสงอย่างเต็มที่ จากผลการวิจัยที่บอกว่า แสงสว่างมีส่วนช่วยในการพัฒนาอารมณ์และความคิดของมนุษย์ทุกคน พร้อมกับการออกแบบเสียงเพลงที่ทำให้เกิดบรรยากาศสบาย ผ่อนคลาย และเหมาะแก่การพูดคุยกัน
“เรื่องแสงสว่างเป็นเรื่องที่หนึ่งที่เราคุยกันเลยว่า จะไม่มีการปิดแสงใดๆ ทั้งสิ้น มีผลการศึกษาบอกว่า แสงช่วยทำให้มนุษย์ร่าเริง คนถึงได้ชอบแสงแดด เพราะแสงแดดมีความหมายหลายๆ อย่างต่อชีวิต เพราะฉะนั้นที่นี่ก็เลยเก็บแสงสว่างเยอะๆ แล้วเสียงเพลงช่วยทำให้คนรู้สึกสบายเหมือนในร้านกาแฟ ทำให้เกิดเป็นบทสนทนาที่มีคุณภาพ”
On the Phone พื้นที่คุยโทรศัพท์ที่รองรับการอัดพอดแคสต์
ด้านหลัง Pod A และ Pod B เป็นห้องคุยโทรศัพท์ที่เดิมทีมีไว้สำหรับการประชุมสายกับลูกค้า แต่หลังจากใช้งานไปแล้ว พนักงานเห็นว่าเหมาะกับการจัดรายการพอดแคสต์ จึงนำอุปกรณ์มาติดตั้ง พร้อมอัดรายการที่ชื่อว่า What Customers Say สำหรับพนักงานของบริษัท โดยนำความคิดและข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้ามาเล่า เพื่อให้พนักงานได้รู้
“ห้องพอดแคสต์นี่อะเมซิงมากนะ ถือว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่มันเกิดขึ้นแบบออร์แกนิก จริงๆ มันไม่ได้ถูกคิดมาตั้งแต่ต้น อยู่ดีๆ เขาก็บอกว่า ห้องนี้แหละ เหมาะเลย เอาไมค์มาวางได้ไหม แล้วก็มีรายการออกมาแล้วด้วย นี่ถือว่าประสบความสำเร็จมาก” ผู้บริหารแบรนด์ SC Asset เสริมในส่วนนี้
Brainstorm Room ห้องประชุมสายพันธุ์ใหม่ ไม่มีโต๊ะ
หากขึ้นไปชั้นบนจะพบกับห้อง Brainstorm Room 2 ห้อง ซึ่งถูกออกแบบมาให้เกิดการนำเสนอไอเดีย ลุกขึ้นโต้เถียง เรียบเรียง และจดบันทึกความคิดเป็นตัวอักษรอย่างแท้จริง
“อย่างห้อง Brainstorm 2 ห้อง ก็เป็นการทดลองนะ ผมคุยกันในทีมว่า อยากจะได้เก้าอี้ที่เป็นเก้าอี้แล็บ ไม่มีพนักพิง เหมือนเก้าอี้หมอฟัน มีแต่ล้อกับที่นั่ง ไม่มีโต๊ะ เพื่อที่จะทำให้ทุกคนสามารถลุกขึ้นไปเขียนสิ่งที่คิดได้ มีกระดานอยู่รอบด้าน คุณคิดอะไร คุณก็เขียนออกมา เพราะถ้าเราคุยกันด้วยคำพูด คำพูดมันก็จะหายไป แล้วมันก็ทำให้ลุกง่าย ใครอยากแสดงความคิดเห็นก็ทำได้” แบงค์เล่าถึงการออกแบบในส่วนนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ภายใน CO.Lab ยังมีส่วนอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Town Hall ที่เป็นพื้นที่รองรับการประชุมหรือสัมมนาขนาดใหญ่ จุได้ถึง 120 คน Library ห้องสมุดที่รองรับฟังก์ชันอย่างการอ่านหนังสือแบบสบายๆ ด้วยเก้าอี้บีนแบ็ก หรือส่วน Stimulation Room ห้องสูง 2 ชั้น ที่มีตารางขนาดหนึ่งตารางเมตรอยู่ที่พื้น สำหรับการ Define และ Ideate ไม่ว่าจะเป็นการทำเวิร์กช็อปหรือการทำม็อกอัพโมเดลของคอนโดได้ในขนาดเท่าของจริง
Community Manager ประธานชุมชนผู้จัดการและพัฒนาองค์กร
อีกหนึ่งความโดดเด่นในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรนี้คือ การจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า Community Team ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการเฟ้นหามาเพื่อออกแบบ Employee Program ให้กับบริษัท ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Internal Branding มาปรับใช้ เพื่อให้พนักงานแต่ละคนสามารถนำเสนอสิ่งที่แบรนด์เป็นได้อย่างเต็มที่ และออกแบบให้พื้นที่นี้เกิดการใช้งานและการต่อยอดต่อไป
“อย่างผมก็จะรู้สึกว่า HR เหมือนครูฝ่ายปกครองที่คอยตั้งกฎระเบียบต่างๆ แต่ทีมนี้คือจะมาชวนกันทำมากกว่า มาทำอะไรบางอย่างที่ต่อยอดแล้วเกิดประโยชน์ร่วมกันดีกว่า” แบงค์อธิบายถึงความรู้สึกเกี่ยวกับแผนกทรัพยากรมนุษย์ที่อาจเกิดขึ้นกับหลายคน
จูลหัวเราะพร้อมเสริมว่า ทีมนี้ทำหน้าที่เหมือน อบต. “Community Manager มันเป็นอย่างนี้จริงๆ มันคือประธานชุมชน เป็นตัวแทนชุมชนของเรา เหมือนสมัยเรียนที่เราต้องมีหัวหน้าชั้น มีเลขาฯ ห้อง เรารวมทีมมาแล้วทั้งหมดประมาณ 4-5 คน ที่จะมาออกแบบ Employee Program ให้กับพวกเรา ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีโปรแกรมอะไรบ้าง”
“สิ่งนี้ยังอยู่ในขั้นที่เรียกว่า Prototype Testing วันนี้ถ้าคนถามว่า มันเสร็จหรือยัง เราก็จะตอบว่า มันยังไม่เสร็จ อาจจะ 80 เปอร์เซ็นต์ คือมันใช้งานได้แล้วแหละ แต่ที่เหลืออีกสัก 20 เปอร์เซ็นต์ คือส่วนที่จะตอบว่า มันจะไปได้ไกลที่สุดแค่ไหน พนักงานมีความต้องการอะไรอีก หรือว่าเราจะสามารถครีเอตอะไรที่สร้างสรรค์กว่านี้ได้อีกไหม”
ผู้บริหารแบรนด์เสริมว่า สิ่งนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ จริงอยู่ ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนของการเปิดใช้งาน CO.Lab มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานขององค์กรเกิดขึ้นมากมาย และดูเหมือนว่าความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการทำงานภายในจะอยู่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ แต่หัวหน้างานออกแบบผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมได้เสริมถึงความคาดหวังของ CO.Lab ว่า ระยะเวลาเท่านี้ถือว่าสั้นมากเมื่อเทียบกับแผนงานระยะยาวที่มีในอนาคต รวมถึงยังคงความตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่นี้ให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างว่องไว และยังคงสามารถพุ่งไปในโลกของการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง
“เราอยากให้มีการมาใช้งานต่อเนื่องบ่อยครั้ง แล้วมันก็จะเป็นไปโดยธรรมชาติ ธรรมชาติจะคัดสรรว่า สุดท้ายแล้วพื้นที่นี้จะปรับเป็นอะไรได้บ้าง บางทีมันอาจจะทำให้เกิดนักคิดสปีชีส์ใหม่ๆ สำหรับพื้นที่นี้ก็ได้ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน”
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล