×

กินยาอย่างไรให้ไตไม่พัง? คุณหมอมีคำตอบ

21.08.2019
  • LOADING...
กินยา โรคไต

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • ตัวยาที่เป็นอันตรายต่อไตมากที่สุดคือกลุ่มยาแก้ปวด แก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาที่คนไทยนิยมใช้เป็นจำนวนมาก เพราะหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยาในฐานะยาลดไข้ ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดประจำเดือน หรือยาแก้อาการปวดฟัน อาทิ แอสไพริน, ไอบูโพรเฟน, นาโปรเซน, ไดโคลฟีแนค เป็นต้น เนื่องจากยากลุ่มนี้จะทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง ทำให้การทำงานของไตแย่ลง หากรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือรับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสดซ้ำซ้อน ก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ 

“กินเค็มมากๆ ระวังจะเป็นโรคไต” 

 

เราคงเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ และกระทรวงสาธารณสุขก็เพ่งเก็บภาษีของหวาน เค็ม มันอยู่เร็วๆ นี้ แต่โรคไตที่ว่านั้นเกิดได้หลากหลายปัจจัย ทั้งจากการเป็นโรคประจำตัวอย่าง เบาหวาน ความดัน หรือจากการกินอาหารรสจัด ทั้งเค็มจัด หวานจัด หรือแม้แต่การรับประทานยาเอง โดยไม่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ 

 

แต่ก่อนอื่นเรามาลองเช็กตัวเองเสียก่อนว่าคุณเริ่มอาการเหล่านี้บ้างหรือเปล่า อาทิ เหนื่อยง่าย ร่างกายบวม ปวดสีข้างด้านหลัง ปัสสาวะน้อยลง ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ หรือมีฟองมากผิดปกติ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้ แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น เรามาทำความรู้จักกับโรคไตกันให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ดูแลตัวเองก่อนที่จะสายเกินแก้

 

กินยา โรคไต

 

จากข้อมูลของกรมการแพทย์บอกว่า โรคไตถือว่าเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันค่อนข้างเยอะและจำนวนก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ถึง 8 ล้านคน และมีผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้องมากกว่า 100,000 คน 

 

เภสัชกรหญิงแพรพิไล สรรพกิจจานนท์ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า “โรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการที่คุมโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูงไม่ได้ ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตเป็นโรคที่สามารถเกิดโรคแทรกซ้อนหรือจะนำไปสู่โรคอื่นๆ ได้ง่าย และส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการไม่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์” คุณหมอยังกล่าวเสริมอีกว่า “ความเชื่อที่ว่ากินยามากๆ จะทำให้เกิดโรคไต แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ายาทุกชนิดที่ทานไปจะมีผลต่อการทำงานของไต”

 

นอกจากนี้ปัญหายังอยู่ที่การซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งตัวยาที่เป็นอันตรายต่อไตมากที่สุดคือ กลุ่มยาแก้ปวด แก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาที่คนไทยนิยมใช้เป็นจำนวนมาก เพราะหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยาในฐานะยาลดไข้ ใช้บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดประจำเดือน หรือยาแก้อาการปวดฟัน อาทิ แอสไพริน, ไอบูโพรเฟน, นาโปรเซน, ไดโคลฟีแนค เป็นต้น เนื่องจากยากลุ่มนี้จะทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง ทำให้การทำงานของไตแย่ลง หากรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือรับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสดซ้ำซ้อนก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ 

 

กินยา โรคไต

 

แต่ที่อันตรายกว่านั้นคือการรับประทานยาชุด ยาสมุนไพร ยาบำรุง และอาหารเสริม ที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ไม่ระบุตัวยาหรือส่วนประกอบที่ชัดเจน และอาจมีการลักลอบใส่สารที่เป็นอันตรายและเป็นพิษต่อไต ทำให้เนื้อไตอักเสบเฉียบพลันหรือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้

 

ความเชื่อที่ว่าสมุนไพรรักษาโรคให้หายได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกโรคจะรักษาหายด้วยสมุนไพร และสมาคมโรคไตฯ ก็ยังไม่มีการรับรองว่ามีสมุนไพรตัวไหนที่สามารถรักษาโรคไตให้หายได้ แล้วนอกจากนี้มีการใช้สมุนไพรคู่กันกับยาที่แพทย์สั่ง นั่นอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงได้อีกด้วย

 

กินยาอย่างไรไตไม่พัง

คุณหมอเผยอีกว่า เราควรใช้ยาอย่างเหมาะสม โดยอย่างแรกคือลดปริมาณการใช้ยาที่ไม่จำเป็น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่รับประทานอยู่ว่าซ้ำซ้อนกันหรือมีผลต่อการทำงานของไตหรือไม่ก่อนซื้อยามารับประทานเอง และไม่ควรซื้อยามารับประทานเองอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นควรรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ และมาตรวจติดตามผลการรักษาเป็นประจำ

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X