- ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรวมมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อัตรา 10% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่การเจรจาการค้าระหว่างสองฝ่ายช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่สามารถตกลงอะไรกันได้ ขณะที่ทรัมป์ตำหนิจีนว่า ยังไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังไม่สามารถควบคุมการส่งออกยา Fentanyl ซึ่งเป็นสารเสพติดเข้ามายังสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายได้ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ระบุว่า จะยังเดินหน้าเจรจาการค้ากับจีนในช่วงต้นเดือนกันยายนต่อไป และหวังว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ในที่สุด
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนได้ผล ดัชนี PMI ภาคการผลิตดีกว่าคาด โดยวานนี้ Markit เปิดเผยตัวเลข Caixin Manufacturing PMI หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจากสถาบันไฉซิน ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม ปรากฏว่า ออกมาหดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ที่ระดับ 49.9 จุด แต่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49.6 จุด โดยฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 49.4 จุด สะท้อนการหดตัวในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่มีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับอุปสงค์ด้านสินค้าอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไม่ได้ลดกำลังการผลิตตามการสำรวจครั้งก่อนหน้าแต่อย่างใด ขณะที่ดัชนี ISM Manufacturing PMI ของฟากฝั่งสหรัฐฯ ประกาศออกมาที่ 51.2 จุด อยู่ในแดนขยายตัว แต่ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดที่ระดับ 52.0 และเป็นการลดลงต่อเนื่อง 3 เดือน สืบเนื่องจากการชะลอตัวของความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมจากสหรัฐฯ ที่มีการขยายตัวของคำสั่งซื้อใหม่ที่ระดับ 0% จากภาคการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง
- จับตาตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยวันนี้สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องเกือบ 9 ปี โดยในครั้งนี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขการจ้างงานจะอยู่ที่ระดับ 164,000 ตำแหน่ง ลดลงจากครั้งก่อนหน้าที่ระดับ 224,000 ตำแหน่ง แต่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการว่างงานจะยังคงอยู่ที่ระดับ 3.7% ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในรอบ 44 ปี สะท้อนตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับแถลงการณ์ของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวานนี้
- ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ตึงเครียดหนัก โดยทางการญี่ปุ่นได้ถอดเกาหลีใต้ออกจาก White List หรือรายชื่อประเทศคู่ค้าที่เชื่อถือได้ และจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการนำเข้าและส่งออกสินค้า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อีกระลอก หลังก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามควบคุมการส่งออกวัสดุไฮเทคไปยังเกาหลีใต้แล้ว สืบเนื่องจากกรณีพิพาทเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายของเกาหลีใต้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนำไปสู่การยึดทรัพย์บริษัทญี่ปุ่นในเกาหลี ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้จะกระทบสินค้ากว่า 930 รายการ รวมไปถึงสินค้าไฮเทคที่จะส่งไปยังบริษัทใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง Samsung, SK Hynix และ LG Display ที่จะต้องผ่านมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตึงเครียดระหว่างประเทศแต่อย่างใด
- มาร์ก โมเบียส คาด หากทรัมป์แพ้การเลือกตั้งปีหน้า ตลาดหุ้นวุ่นแน่ เพราะตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดัชนี Dow Jones และ S&P500 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นมากกว่า 30% ขณะที่ Nasdaq ขึ้นมาราว 45% เนื่องจากถูกกระตุ้นด้วยนโยบายของทรัมป์ และปรับตัวขึ้นมากกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้มีแนวโน้มว่าทรัมป์จะไม่แพ้เลือกตั้ง แต่กระแสต่อต้านเขาในสื่อกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา และอาจเป็นกระแสหลักไปจนถึงการเลือกตั้งในปีหน้า
สภาวะตลาดวานนี้
- เคราะห์ซ้ำกรรมซัดตลาดหุ้น หลังนักลงทุนผิดหวังอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เวลานี้ตลาดถูกกดดันจากบรรยากาศของสงครามการค้าอีกครั้ง หลังทรัมป์ทวีตข้อความแสดงความผิดหวังการเจรจาการค้ากับจีนที่ไม่คืบหน้า และได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีน ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงทันที โดยดัชนี Dow 30 ร่วง -1.05%, S&P500 ขยับลง -0.9% และ Nasdaq ปรับตัวลง -0.79%
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 1.88% จาก 2.05% ขณะที่ทองคำปรับตัวขึ้นจากระดับ 1,420 ดอลลาร์ โดยช่วงค่ำปรับขึ้นสูงสุดที่ 1,457 ดอลลาร์ ส่วนค่าเงินเยน (JPY) แข็งค่าทันทีจากระดับ 109 เยนต่อดอลลาร์ สู่ 107 เยนต่อดอลลาร์ ขณะที่ VIX Index ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 18 จุด จาก 14 จุด ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่สถานการณ์สงครามการค้าทวีความรุนแรง
- ราคาน้ำมันปรับตัวลงจากความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลต่อความต้องการบริโภคน้ำมัน โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ลดลง -7.31% และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลง -6.35%
ยุโรป
- Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3490.03 เพิ่มขึ้น 23.18 (0.67%)
- DAX ปิดที่ 12253.15 เพิ่มขึ้น 64.11 (0.53%)
- FTSE 100 ปิดที่ 7584.87 ลดลง -1.91 (-0.03%)
- FTSE MIB ปิดที่ 21566.91 เพิ่มขึ้น 168.72 (0.79%)
เอเชีย
- Nikkei 225 ปิดที่ 21540.99 เพิ่มขึ้น 19.46 (0.09%)
- S&P/ASX 200 ปิดที่ 6788.9 ลดลง -23.7 (-0.35%)
- Shanghai ปิดที่ 2908.77 ลดลง -23.74 (-0.81%)
- Hang Seng ปิดที่ 27565.7 ลดลง -212.05 (-0.76%)
- SET ปิดที่ 1699.75 ลดลง -12.22 (-0.71%)
- KOSPI ปิดที่ 2017.34 ลดลง -7.21 (-0.36%)
- BSE Sensex ปิดที่ 37018.32 ลดลง -462.8 (-1.23%)
อเมริกา
- Dow 30 ปิดที่ 26583.42 ลดลง -280.85 (-1.05%)
- S&P500 ปิดที่ 2953.56 ลดลง -26.82 (-0.9%)
- Nasdaq ปิดที่ 8111.12 ลดลง -64.3 (-0.79%)
Commodity
- ราคาน้ำมัน Crude Oil WTI ปิดที่ 54.3 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง -4.28 (-7.31%)
- ราคาน้ำมัน Brent Oil ปิดที่ 60.92 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง -4.13 (-6.35%)
- ราคาทองคำ Gold ปิดที่ 1450.55 ดอลลาร์/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 12.75 (0.89%)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- Markit