คนจำนวนไม่น้อยโบกมือลางานที่ทำไปพักร้อน หาที่พักพิง รีชาร์จพลังชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชั่วโมงทำงานยาวนาน และโหยหาการได้หยุดพักจากงานแทนที่จะจำเจเป็นกิจวัตร แต่ข้อมูลใหม่ที่เปิดเผยโดยเว็บไซต์ด้านอาชีพการงานอย่าง LinkedIn แสดงให้เห็นว่าคนที่ลาพักร้อนกลับไม่ได้ยกใจและกายไปพักจากการทำงานดังที่ควรจะเป็น
คนทำงานไม่ได้ ‘พัก’ จริงๆ
คงต้องมีบ้างที่เราล็อกอินเข้าอีเมลออฟฟิศไปตอบอีเมลเร่งด่วน แต่ปัญหากลับอยู่ที่การที่คนจำนวนไม่น้อยล็อกอินเข้าทุกวันเพื่อเช็กงานนี่สิ ข้อมูลนี้เผยว่า 59% ของลูกจ้างยอมรับว่าพวกเขาเข้าไปเช็กอีเมลงาน หรือยกหูโทรศัพท์ต่อสายเรื่องงานขณะที่กำลังพักร้อน และเข้าไปเช็กเรื่องงานอย่างต่ำวันละครั้ง
ไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มเจ็นซี (Gen Z หรือกลุ่มที่เกิดช่วงกลางยุค 1990’s จนถึงปลายปี 2000’s) ซึ่งเป็นกลุ่มวัยทำงานที่เด็กที่สุดขณะนี้ คือกลุ่มที่ไม่พักจากการทำงานมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนช่วงวัยอื่น โดย 86% ของคนกลุ่มนี้มีแนวโน้วที่จะมีส่วนร่วม หรือตอบอีเมลออฟฟิศมากที่สุดนอกเวลางาน
และสาเหตุอาจเป็นเพราะนี่เป็นกลุ่มที่รู้สึกมั่นคงกับการทำงานน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่น พวกเขาจึงรู้สึกกดดันที่จะพิสูจน์ตัวเอง และพยายามโชว์สปิริตกับการทำงานมากกว่าใคร แม้กระทั่งนอกเวลาทำงาน หรือช่วงเวลาพักร้อน
แต่อายุอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ค่าตอบแทนก็เช่นกัน เว็บ LinkedIn ยังได้เผยถึงความเชื่องโยงโดยตรงระหว่างค่าตอบแทนที่ได้รับ กับแนวโน้มที่คนจะยอมทำงานช่วงวันหยุด โดยพบว่า 61% ของกลุ่มคนทำงานที่มีรายรับต่ำกว่า 25,000 เหรียญสหรัฐ (ราวๆ 770,400 บาท) ต่อปี มักจะไม่ตอบอีเมลหรือหยิบงานขึ้นมาทำขณะลาพักร้อน ขณะที่ 93% ของกลุ่มคนที่มีรายรับต่อปีระหว่าง 180,000 ถึง 200,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 5,545,000 ถึง 6,159,000 บาท) มักตอบอีเมลหรือหยิบงานขึ้นมาทำในวันหยุดอย่างน้อยวันละครั้ง และเหตุผลก็เพราะคนกลุ่มนี้กลัวที่จะทำงานไม่ทัน
เพื่อนร่วมงานก็มีส่วน
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ลูกจ้างผละตัวและใจออกจากการทำงานไปพักไม่ได้ นั่นคือเพื่อนร่วมงาน ที่มักมีส่วนนำเรื่องงานมาบอกต่อหรือปรึกษาขณะที่อีกคนลาพักร้อน 73% ของลูกจ้างเผยว่าพวกเขาได้รับการติดต่อเกี่ยวกับเรื่องงานจากเพื่อนร่วมออฟฟิศขณะลาพักร้อนอย่างน้อย 1 ครั้ง และ 49% ยังบอกอีกว่าเพื่อนที่ออฟฟิศติดต่อมาเกินกว่า 1 ครั้งขณะลาไปพักผ่อน
ปล่อยให้ได้พักบ้างเป็นดี
การที่คนคนหนึ่งลา ‘พักร้อน’ อาจไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นหนีไปจิบค็อกเทลริมชายหาด หรือไปลงคลาสเรียนดำน้ำที่เกาะสวรรค์เสมอไป แต่แท้จริงแล้วคือการให้เวลาพักจากภาระหน้าที่จากการทำงานต่างหาก ลูกจ้างที่ไม่สามารถแยกแยะภาระหน้าที่การทำงานออกจากเวลาพักผ่อนได้ มักจบท้ายด้วยภาวะหมดไฟ หมดพลังการทำงาน และเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น มักเป็นเรื่องยากที่จะปลุกไฟในตัวคนคนนั้นกลับมาให้ทำงานได้ดีเช่นเคย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยที่นายจ้างหรือองค์กรมีส่วนช่วยให้คนในองค์กรได้รู้สึกพัก ชาร์จพลังอย่างเต็มที่ และตัดขาดจากงานจริงๆ เมื่อถึงเวลาพักร้อน
ฉะนั้นหากคุณอยู่ในตำแหน่งหัวหน้างาน สิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ ตั้งระบบการทำงานที่คนในทีมสามารถทำงานแทนกันได้เมื่อคนหนึ่งลา การคิดแต่เนิ่นๆ นี้สามารถช่วยทำให้ไม่ต้องส่งเมสเสจ หรือต่อสายหาคนที่ลาอยู่ให้เปิดเช็กอีเมลขณะพักร้อนได้มาก ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถวางแผนได้ล่วงหน้า เช่น การตกลงเลือกวันลาช่วงที่งานไม่ยุ่งมาก ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อทีม เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ผู้บริหารหรือคนในตำแหน่งหัวหน้างานก็ควรสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริม และสนับสนุนให้ลูกทีมสามารถพักได้แบบไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องงาน และทำให้ตระหนักว่าพวกเขามีสิทธิ์พื้นฐานในการไปพักผ่อนเคลียร์หัวสมอง และยิ่งองค์กรสร้างวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้มากเท่าไร ยิ่งมีโอกาสที่ลูกจ้างจะกลับมาพร้อมพลังงานเต็มเปี่ยม ผ่อนคลาย มีความสุข และพร้อมที่จะสร้างสรรค์งานด้วยไฟลุกโชนอีกครั้ง
อ่านเรื่อง ไม่หวั่นแม้วันหมดแรงหมดใจ เพราะนี่คือเทคนิคต่อสู้กับภาวะ Burnout Syndrome ที่ได้ผลที่สุด ได้ที่นี่
อ่านเรื่อง เราควรลาพักร้อนนานแค่ไหน? ผลศึกษานี้มีคำตอบ ได้ที่นี่
ภาพ: TriStar Pictures
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: