×

Parasite ในความรู้สึกของ ประวิทย์ แต่งอักษร และ โต้ง บรรจง ที่ดูสนุก ‘เกินไป’ สำหรับหนังรางวัลเมืองคานส์

26.07.2019
  • LOADING...

ท่ามกลางความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของฟ้าฝนที่ร้อนจนแสบผิวกับมีฝนโหมกระหน่ำจนร่มปลิว กลับมีวันที่ดีอย่างวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ให้ THE STANDARD POP ได้จัดงาน Talk About Parasite ร่วมกับ Mongkol Cinema และโรงภาพยนตร์ SF World Cinema ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

 

 

เราได้จัดกิจกรรมเชิญคนในวงการภาพยนตร์อย่าง ประวิทย์ แต่งอักษร อาจารย์, นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับการแสดง มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับผลงานก่อนหน้าจนถึงล่าสุดของผู้กำกับ บงจุนโฮ ก่อนที่จะเข้าชมผลงานเรื่องล่าสุดอย่าง Parasite ชนชั้นปรสิตรอบสื่อมวลชน 

 

และสิ่งที่ทั้งสองได้พูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์ Parasite และผลงานของผู้กำกับ บงจุนโฮ ก็ต้องเรียกว่าสนุกมาก และทำให้เข้าใจมิติที่ลึกซึ้งของงานภาพยนตร์ได้อย่างน่าสนใจ และนี่คือเกร็ดความรู้ที่เราอยากให้คุณได้อ่าน

 

1. ประสบการณ์กับผลงานของ บงจุนโฮ ครั้งแรกของประวิทย์และโต้ง บรรจง คือ The Host ที่เข้าฉายในประเทศไทยเป็นเรื่องแรก ตอนแรกทั้งคู่เข้าใจว่าคงเป็นหนังสัตว์ประหลาดที่ใช้ CG เข้ามาช่วย 

 

แต่เมื่อได้ดูจริงๆ เทคนิคพิเศษต่างๆ กลายเป็นเรื่องที่ทั้งสองคนมองข้าม เพราะประเด็นสำคัญของ The Host คือการเสียดสี สะท้อน และวิพากษ์วิจารณ์สังคมได้อย่างคมคาย อย่างที่ประวิทย์ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “หนังสัตว์ประหลาดมันถูกใช้เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการพาคนดูไปเข้าใจถึงความเป็นจริงของโลกในปัจจุบัน”

 

2. ถ้าดูจากผลงานก่อนหน้าอย่าง Snowpiercer, The Host, Okja และ Mother ทั้งสองคนคิดว่า เอกลักษณ์สำคัญของ บงจุนโฮ อยู่ที่ความตลกร้าย การเสียดสี และการใช้ความตลกและสนุกสนานมาหลอกให้คนดูตายใจ แล้วค่อยปล่อยหมัดน็อกคนดูด้วยลีลาการเล่าเรื่องเหนือชั้นผสานความดาร์กที่คาดไม่ถึง 

 

อย่างที่โต้งทิ้งท้ายประเด็นนี้ไว้ว่า “ผมว่าเขาทำได้หลากมิติจริงๆ ซึ่งมันยากมากที่ทำให้ประเด็นสังคมรุนแรงแนบเนียนไปในหนัง”

 

3. หนังที่ทั้งคู่ลงความเห็นให้เป็นหนังเรื่องโปรดของ บงจุนโฮ เหมือนกันคือ Memories of Murder หนังตามหาฆาตกรที่ไม่เฉลยว่าใครคือฆาตกรแบบตรงๆ โดยโต้งบอกว่า “หนังเรื่องนี้สร้างมาจากเรื่องจริง แล้วตอนจบยังทำให้เราเคว้งคว้างได้ และอยากจะดูซ้ำแล้วซ้ำอีก เขามีลีลาการกำกับซีนที่เราอยากจะศึกษา มันเลยถึงขั้นปรมาจารย์จริงๆ”

 

ส่วนประวิทย์เสริมว่า “ท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การตามหาฆาตกร แต่อยู่ที่ความทรงจำเกี่ยวกับการฆาตกรรม ซึ่งไม่ได้แปลว่า ความทรงจำของตัวฆาตกรอย่างเดียว แต่หมายถึงคนที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ หรือคนอยู่ในบรรยากาศช่วงนั้นด้วย”

 

4. ครั้งที่ได้ชื่อเรื่อง Parasite ประวิทย์คิดว่าหนังน่าจะเกี่ยวกับเชื้อโรคที่ระบาดไปทั่วโลก แล้วเหลือมนุษย์รอดชีวิตเพียงจำนวนหนึ่ง ส่วนโต้งคิดว่าน่าจะเป็นหนังที่สร้างมาจากการ์ตูนเรื่อง ปรสิต ของ อิวากิ ฮิโตชิ

 

5. ประวิทย์พูดถึงความรู้สึกหลังชม Parasite แบบไม่สปอยล์เนื้อหา ด้วยการเกริ่นถึงลักษณะของหนังเมืองคานส์ว่า มักจะเป็นหนังที่เข้าถึงยาก ต้องตีความ และต้องมีต้นทุนทางศิลปะ เพื่อที่จะเข้าถึงงานที่ได้ปาล์มทองคำเป็นรางวัลสูงสุด แต่ Parasite เป็นหนังที่แตกต่างจากนั้นโดยสิ้นเชิง

 

“ผมว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีศักดิ์ศรีของหนังรางวัลเมืองคานส์ ไม่น่าได้หนังรางวัลเมืองคานส์ มันสนุกเกินไปสำหรับหนังรางวัล ผมว่าเรื่องนี้เป็นหนังที่ไม่ควรโปรโมตว่าเป็นหนังที่ได้รางวัลเมืองคานส์ เพราะว่าเดี๋ยวคนดูจะรู้สึกว่า เฮ้ย หนังรางวัลเมืองคานส์ฉันไม่ดู”

 

 

6. Parasite รวมตัวทีมนักแสดงคุณภาพของเกาหลีทั้ง อีซอนกยุน โจยอจอง ชเวอูชิก พัคโซดัม ชางฮเยจิน ยองฮยอนยุน อีจองอึน ยองจีโซ แต่ ซงคังโฮ ที่รับบทเป็น คิมคีแท็ก หัวหน้าครอบครัวชั้นใต้ดิน นักแสดงคู่บุญที่เคยร่วมงานกับ บงจุนโฮ มาแล้วใน Memories of Murder, The Host และ Snowpiercer คือคนที่ประวิทย์รู้สึกว่าควรพูดถึงมากที่สุด 

 

“ซงคังโฮ เป็นโฉมหน้าของหนังเกาหลีสำหรับผม เวลานึกถึงหนังเกาหลี ผมไม่นึกถึง กงยู ผมไม่นึกถึงใครเลยนอกจากไอ้หมอนี่ คือบทที่เขาได้รับคล้ายๆ กันหมดเลยคือ บท Loser บทคนที่เอาดีไม่ได้ แล้วชีวิตล้มเหลว อะไรทำนองนี้ แล้วเขาก็ถ่ายทอดได้ดีมาก”

 

7. โต้งที่ยังไม่ได้ดูหนังและพยายามรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ Parasite ปิดท้ายการพูดคุยว่า “ผมหวังว่าหนังเรื่องนี้จะทำเงินในประเทศเรา และอยากให้หนังแนวนี้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เยอะๆ ไม่เฉพาะหนังรางวัลปาล์มทองทำ แต่รวมถึงหนังที่มีแนวโน้มสนุกสนาน ก็อยากให้เอาเข้ามา เพราะมันหาดูไม่ได้จริงๆ”

 

ส่วนประวิทย์เสริมตอนท้าย แนะนำหนังแบบสั้นๆ ว่า “เป็นหนังที่ควรดู” เพราะเวลาที่ดีที่สุดของการดูภาพยนตร์คือ ช่วงเวลาสั้นๆ ในโรงภาพยนตร์ เนื่องจากขนาดเฟรม ความจดจ่อ ที่ไม่ว่าที่ไหนก็ไม่สมบูรณ์เท่าการรับชมในโรงภาพยนตร์

รับชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่:

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X