นักวิเคราะห์ประเมินดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบ 1,720-1,750 จุด โดยตลาดรอคอยตัวแปรหลายตัว โดยเฉพาะท่าทีของสองธนาคารกลางใหญ่อย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งมีผลต่อ Fund Flow นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาการเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงกรณีศาลรับวินิจฉัย 3 คำร้องที่เป็นประเด็นทางการเมือง และรายงานผลกำไรบริษัทในตลาด
ตลาดหุ้นไทยได้อานิสงส์จากการปรับ Rating ของ Fitch’s และการแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดอาจลดความร้อนแรงลงบ้าง หลังศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย 3 คำร้อง (หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กรณีใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง, พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติเป็นนายกฯ และ 4 อดีตรัฐมนตรีถือหุ้นสัมปทานรัฐ)
ส่วนตลาดหุ้นทั่วโลกมี 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน คือ การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่กรุงปักกิ่งในสัปดาห์นี้ หากสำเร็จจะทำให้โอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed สัปดาห์หน้า (30-31 ก.ค.) ลดน้อยลง หรือลดต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ -0.50%
สำหรับตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ที่จะรายงานปลายสัปดาห์ ตลาดคาดว่าจะขยายตัว 1.8% (จากครั้งก่อน 3.1%) นักวิเคราะห์เชื่อว่า Fed จะใช้ตัวเลข GDP พิจารณาทิศทางดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน ขณะที่ ECB จะมีการประชุมดอกเบี้ย 25 กรกฎาคมนี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่ ECB จะเกริ่นในเรื่องการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (QE) ซึ่งจะเป็นบวกต่อตลาด
ตัวแปรอื่นของสัปดาห์นี้ ประกอบด้วยราคาน้ำมันดิบที่ได้อานิสงส์จากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง สำหรับไทยจะเป็นการรายงานกำไรของหุ้นกลุ่มธนาคารส่วนที่เหลือ และ SCC (คาด 9.2 พันล้านบาท: Bloomberg) ส่วนเหตุการณ์และตัวเลขที่สำคัญๆ จะเป็นตัวเลขส่งออกเดือนมิถุนายน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมผลักดันนโยบายหั่นค่าโดยสารขนส่งสาธารณะทุกระบบ ซึ่งอาจเป็นลบต่อผู้ประกอบการ
ภาพรวมดัชนีหุ้นไทยมีการรีบาวด์ และยืนเหนือ 1,720 จุดได้ ค่าเงินบาทยังแข็งแกร่ง (30.7 บาท/เหรียญสหรัฐ) นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ KTBST มองเป้าหมายดัชนีฯ ไว้ที่ 1,750 จุด หากการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนผ่านไปด้วยดี มีผลต่อเงินทุนไหลเข้า
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- บริษัทหลักทรัพย์ KTBST