ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ปัญหาวิกฤตการณ์ภัยแล้งเริ่มเป็นกระแสให้พูดถึงเป็นวงกว้าง หลังมีภาพการรายงานของน้ำในเขื่อนต่างๆ เริ่มมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดกรมชลประทานรายงานสรุปศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ เรื่อง สถานการณ์น้ำและการเฝ้าระวัง ประจำวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2562 พบว่าตัวเลขปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางยังอยู่ในภาวะลดลงต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำที่ใช้ได้จริงเหลือเพียง 24% เท่านั้น ขณะที่สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางสามารถสรุปได้ดังนี้
- ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ 36,429 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 48% (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 12,280 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 24%)
- ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำเมื่อเทียบกับปี 2561 (47,997 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 63%) จะพบว่าน้อยกว่าปี 2561 จํานวน 11,816 ล้านลูกบาศก์เมตร
- ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำจํานวน 68.63 ล้านลูกบาศก์เมตร
- ปริมาณน้ำระบายจํานวน 126.60 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 39,887 ล้านลูกบาศก์เมตร
และหากจำแนกเพียงสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จะพบว่าอ่างเก็บน้ำทั้ง 35 แห่งมีปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
- ต่ำกว่า 30% รวม 19 แห่ง
- ตั้งแต่ 31-50% รวม 10 แห่ง
- มากกว่า 50% รวม 6 แห่ง
ส่วนสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา (4 เขื่อนหลัก) รวมทั้งสิ้น 8,111 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 33% (ปริมาณน้ำใช้การได้ 1,415 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 8%) ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำจำนวน 3.98 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำระบายจำนวน 47.84 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 16,760 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแยกได้ดังนี้
- เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 3,323 ล้านลูกบาศก์เมตร (35% ของความจุอ่างเก็บน้ำ) เป็นน้ำใช้การได้ 473 ล้านลูกบาศก์เมตร (9% ของระดับน้ำเก็บกัก) ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำจำนวน 3.98 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำระบายจำนวน 19.98 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 6,187 ล้านลูกบาศก์เมตร
- เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 3,373 ล้านลูกบาศก์เมตร (35% ของความจุอ่างเก็บน้ำ) เป็นน้ำใช้การได้ 523 ล้านลูกบาศก์เมตร (7% ของระดับน้ำเก็บกัก) ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำจำนวน 3.85 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำระบายจำนวน 18.69 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 6,137 ล้านลูกบาศก์เมตร
- เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำ 136 ล้านลูกบาศก์เมตร (15% ของความจุอ่างเก็บน้ำ) เป็นน้ำใช้การได้ 93 ล้านลูกบาศก์เมตร (11% ของระดับน้ำเก็บกัก) ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำจำนวน 0.00 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำระบายจำนวน 2.16 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 803 ล้านลูกบาศก์เมตร
- เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 44 ล้านลูกบาศก์เมตร (5% ของความจุอ่างเก็บน้ำ) เป็นน้ำใช้การได้ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร (4% ของระดับน้ำเก็บกัก) ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำจำนวน 0.00 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำระบายจำนวน 0.70 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีก 916 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะเดียวกัน หน่วยฝนหลวง 11 แห่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กระจายอยู่ทุกภาคได้จัดกำลังเตรียมเครื่องบินอากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจำนวน 22 ลำเพื่อช่วยวิกฤตภัยแล้ง ประกอบด้วย เครื่องบิน Caravan จำนวน 11 ลำ, เครื่องบิน Casa จำนวน 7 ลำ, เครื่องบิน Super King Air จำนวน 2 ลำ และเครื่องบิน CN-235 จำนวน 2 ลำ
ทั้งนี้ยังมีอากาศยานของกองทัพอากาศจำนวน 2 ลำ เครื่องบิน BT-67 โดยมีเป้าหมายในระยะเร่งด่วนคือการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ให้ได้มากที่สุด
ภาพ: รอบรั้วชลประทาน, ไทยคู่ฟ้า
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: