×

จดจำ รำลึกถึง 10 ผลงานคุณภาพจาก Kyoto Animation ที่ไม่อาจถูกเผาด้วยเปลวเพลิง

20.07.2019
  • LOADING...
Kyoto Animation

#PrayForKyoani ได้กลายเป็นแฮชแท็กที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายบนโลกอินเทอร์เน็ตในขณะนี้ เพื่อไว้อาลัยและให้กำลังใจกับเหตุการณ์ลอบวางเพลิงบริษัท Kyoto Animation หนึ่งในสตูดิโอคุณภาพผู้สร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชันชื่อดังที่การันตีด้วยรางวัลมากมาย

 

THE STANDARD POP ได้รวบรวม 10 ผลงานแอนิเมชันเรื่องเยี่ยมจากสตูดิโอ Kyoto Animation ที่ดูสนุก สวยงาม ลายเส้นละเมียดละไม ใส่ใจทุกรายละเอียด และคอยพัฒนาคุณภาพงานของตัวเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ จนกลายเป็นหนึ่งในสตูดิโอชั้นนำของญี่ปุ่นที่สามารถครองใจแฟนๆ อนิเมะทั่วโลกได้ในที่สุด 

 

และไม่ว่าเปลวเพลิงจะสร้างความเศร้าสลด และความเสียหายได้มากขนาดไหน แต่ผลงานของเหล่าทีมงานคุณภาพจาก Kyoto Animation ที่ตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นมา จะอยู่ในความทรงจำ และหัวใจเราตราบนานเท่านาน

 

1. Suzumiya Haruhi no Yūutsu (2006)

 

Kyoto Animation

 

Suzumiya Haruhi no Yuutsu หนึ่งในแอนิเมชันชื่อดังที่ถูกดัดแปลงจากนิยายอย่าง Suzumiya Haruhi โดย ทานิกาวะ นาการุ ผลงานเรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งความนิยมและเสียงวิจารณ์ จนสามารถคว้ารางวัลจากงาน Animation Kobe Awards 2006 ในสาขา Television Awards รวมถึงเพลงประกอบอย่าง God Knows ที่เหล่าแฟนๆ นำมาคัฟเวอร์กันอย่างแพร่หลาย

 

เรื่องย่อ: สาวมัธยมปลาย สึซึมิยะ ฮารุฮิ และผองเพื่อนชมรม SOS ที่มีแผนค้นหาเรื่องราวเหนือธรรมชาติ นักเดินทางข้ามกาลเวลา มนุษย์ต่างดาว และผู้มีพลังพิเศษ ซึ่งเธอไม่เคยรู้ตัวเลยว่าสิ่งที่เธอกำลังตามหานั้นอยู่ ‘ใกล้’ ตัวมากกว่าที่คิด!

 

เพลงประกอบ God Knows 

 

2. Clannad (2007)

 

Kyoto Animation

 

Clannad อีกหนึ่งแอนิเมชันเรียกน้ำตาที่ถูกดัดแปลงจากวิดีโอเกมในชื่อเดียวกัน ซึ่ง Kyoto Animation ก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างลึกซึ้งไม่แพ้ต้นฉบับ ได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีอย่างล้นหลาม และได้ถูกสร้างภาคต่อในชื่อ Clannad After Story (2009) ที่ได้ Kyoto Animation มาดูแลโปรเจกต์เช่นเดิม

 

เรื่องย่อ: โอกาซากิ โทโมยะ หนุ่มมัธยมปลายผู้หลงรักในบาสเกตบอลอย่างมาก แต่แล้ววันหนึ่ง เขาได้มีปากเสียงกับพ่อขี้เมาจนเกิดอุบัติเหตุทำให้โทโมยะไม่สามารถเล่นบาสฯ ต่อไปได้ โทโมยะเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเริ่มใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ จนกระทั่งวันหนึ่งเขาก็ได้เจอกับ ฟุรุคาวะ นางิสะ หญิงสาวที่จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล

 

เพลงประกอบแอนิเมชัน

 

3. K-ON! (2009)

 

Kyoto Animation

 

เมื่อพูดถึงแอนิเมชันแนวดนตรีแล้ว K-ON! หนึ่งในเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้เด็ดขาด เรื่องราวดัดแปลงมาจากการ์ตูน 4 ช่องของนักเขียนชื่อดัง คาคิฟลาย (Kakifly) ซึ่งนอกจากเรื่องราวที่สนุกสนานแล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นของแอนิเมชันเรื่องนี้ คือเพลงประกอบสุดฮิตอย่าง Cagayake! Girls และ Don’t Say “Lazy” ที่สามารถทำยอดขายถล่มทลาย และสามารถคว้ารางวัล Animation Kobe Awards สาขา Best Theme Song ในปี 2009 ไปได้

 

และ K-ON! ยังได้ถูกสร้างภาคต่อในชื่อ K-ON!! (2010) และฉบับภาพยนตร์ในชื่อ K-ON! Movie จนเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานขึ้นหิ้ง ที่สร้างชื่อให้กับ Kyoto Animation มากที่สุดก็ว่าได้

 

เรื่องย่อ: ยุย สาวมัธยมปลายจอมซุ่มซ่ามและแสนร่าเริง ที่วันหนึ่งได้รับคำชวนจาก ริทสึ และมิโอะ ให้มาเข้าร่วมชมรมดนตรีทั้งๆ ที่เธอเล่นดนตรีไม่เป็น! แต่แล้วพวกเธอทั้งสามคนและสึมุกิ ก็ได้รวมตัวกันตั้งวงดนตรีชื่อ Hokago Tea Time วงดนตรีที่จะมาทำให้โรงเรียนสตรีซากุระงาโอกะไม่เงียบเหงาอีกต่อไป

 

https://www.youtube.com/watch?v=MPmYh1iSohI

เพลงประกอบ Don’t Say “Lazy”

 

4. Hyouka (2012)

 

Kyoto Animation

 

แอนิเมชันที่ถูกดัดแปลงมาจากนวนิยายแนวลึกลับของโยเนซาวะ โฮโนบุ ที่มาพร้อมกับประโยคสุดฮิต “ฉันอดสงสัยไม่ได้เลยจริงๆ ค่ะ!” ของเด็กสาวช่างสงสัย จิทันดะ เอรุ ที่นอกจากเนื้อเรื่องจะสนุกสุดแฟนตาซี ยังโดดเด่นในเรื่องของงานภาพ และเอฟเฟกต์ที่สวยงาม จนกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเรื่อง และเป็นที่จดจำของเหล่าแฟนๆ อนิเมะมาจนถึงทุกวันนี้ 

 

เรื่องย่อ: โอเรกิ โฮทาโร่ หนุ่มมัธยมปลายที่ยึดคติอยากใช้ชีวิตธรรมดาไปวันๆ และจะไม่ทำอะไรโดยไม่จำเป็น แต่ดันถูกพี่สาวบังคับให้เข้าชมรมวรรณกรรมที่กำลังจะถูกยุบ ทำให้เด็กหนุ่มสุดธรรมดาได้พบกับ จิทันดะ เอรุ หญิงสาวที่ชอบตั้งข้อสงสัยในทุกๆ เรื่อง และต้องร่วมมือกันแก้ไขปริศนาลึกลับต่างๆ พร้อมกับเพื่อนชมรมวรรณกรรมคลาสสิก

 

ตัวอย่างแอนิเมชัน

 

5. Chuunibyou Demo Koi ga Shitai! (2012) 

 

Kyoto Animation

 

แอนิเมชันน่ารักสดใส ที่สร้างความสนุกสนานและเสียงหัวเราะให้กับแฟนๆ อนิเมะ ดัดแปลงมาจากนิยายในชื่อเดียวกันของโทระโกะ ที่หยิบประเด็นของโรคจูนิเบียว หรือ ‘โรคเด็กมัธยมต้นปี 2’ ที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของเด็กวัยรุ่นที่คิดว่าตัวเองมีพลังพิเศษ และพยายามสร้างบุคลิกที่ดูแตกต่างไปจากคนรอบข้าง 

 

เรื่องย่อ: โทงาชิ ยูตะ เด็กหนุ่มที่เคยเป็นโรคจูนิเบียวมาก่อน ถึงขนาดตั้งฉายาของตัวเองว่า Dark Flame Master แต่พยายามหยุดยั้งความจูนิเบียวของตัวเอง เมื่อชีวิตเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ช่วงมัธยมปลาย จนได้พบกับ ทาคานาชิ ริกกะ หญิงสาวที่เป็นจูนิเบียวเหมือนกัน ที่สนใจและคอยติดตามยูตะอยู่ตลอดเวลา

 

ตัวอย่างแอนิเมชัน 

 

6. Kyoukai no Kanata (2013)

 

Kyoto Animation

 

Kyoukai no Kanata ถูกดัดแปลงมาจากนิยายในชื่อเดียวกันของ โทริอิ นาโกมุ มีจุดเด่นสำคัญอยู่ที่ฉากแอ็กชันที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดของทีมงาน Kyoto Animation และการออกแบบคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นอย่าง มิไร จนถูกนำไปคอสเพลย์ (การแต่งตัวตามตัวละครในอนิเมะ) กันอย่างแพร่หลาย และได้ถูกสร้างภาคต่อในฉบับภาพยนตร์อย่าง Kyoukai no Kanata the Movie: I’ll Be Here

 

เรื่องย่อ: คันบาระ อากิฮิโตะ เด็กหนุ่มมัธยมปลายลูกครึ่งปีศาจที่ได้มาพบ คุริยามะ มิไร หญิงสาวจากตระกูลต้องสาปที่มีพลังควบคุมโลหิตที่กำลังกระโดดตึกฆ่าตัวตาย ทั้งคู่มีความคิดอยากมีชีวิตที่แสนธรรมดาเหมือนคนอื่นๆ แต่ความ ‘พิเศษ’ ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทำให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับเหล่าปีศาจที่ทุกอย่างไม่ ‘ธรรมดา’ ได้อีกต่อไป 

 

ตัวอย่างแอนิเมชัน 

 

7. Free! (2013)

 

Kyoto Animation

 

แอนิเมชันขวัญใจสาวๆ ที่ดัดแปลงจากนิยายชื่อ High Speed! ผลงานของ โอจิ โคจิ กับการออกแบบคาแรกเตอร์ของหนุ่มนักว่ายน้ำจากโรงเรียนอิวาโทบิ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์น่าดึงดูด พร้อมกับฉากการแข่งขันที่สนุกสนาน ชวนให้ติดตามจนหายใจแทบไม่ทัน

 

ได้ถูกสร้างภาคต่อในชื่อ Free! Eternal Summer (2014) และ Free! Dive to the Future (2018) รวมถึงฉบับภาพยนตร์ถึง 4 ภาค ทำให้แอนิเมชันเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในใจของแฟนๆ ได้ในที่สุด

 

เรื่องย่อ: นานาเสะ ฮารุกะ หนุ่มมัธยมปลายอดีตนักกีฬาว่ายน้ำจากโรงเรียนอิวาโทบิ ได้กลับมาเจอกับเหล่าเพื่อนร่วมช่างฝันสมัยประถม จุดเริ่มต้นของการตั้งชมรมว่ายน้ำอิวาโทบิ ที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ การแข่งขัน การเรียนรู้ และการเติบโตที่สำคัญในช่วงชีวิตวัยรุ่น

 

ตัวอย่างแอนิเมชัน

 

8. Hibike! Euphonium (2015)

 

Kyoto Animation

 

อีกหนึ่งแอนิเมชันแนวดนตรีที่สร้างความประทับใจให้กับแฟนๆ อนิเมะ เนื้อเรื่องดัดแปลงมาจากผลงานนิยาย Light Novel ของทาเคดะ อายาโนะ ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของ Kyoto Animation ต่อจากผลงานเรื่องเก่าอย่าง K-ON! ได้เป็นอย่างดี และได้ถูกสร้างภาคต่ออย่าง Hibike! Euphonium 2 (2016) และฉบับภาพยนตร์อีกสองเรื่อง

 

เรื่องย่อ: โอมาเอะ คุมิโกะ อดีตสมาชิกวงโยธวาทิตที่ถูกบังคับให้เล่นยูโฟเนียมเครื่องดนตรีสุดหิน และเจ็บช้ำจากความพ่ายแพ้ในการแข่งขันตอนชั้นประถม ถึงขนาดตัดสินใจบอกลาเส้นทางดนตรี 

 

จนได้มาพบกับ คุมิโกะ เด็กสาวช่างฝันที่ชวนให้เธอกลับมาเล่นดนตรีอีกครั้ง พร้อมโควซากะ เรย์นะ เพื่อนสมัยประถม ที่ทำให้ความรู้สึกในการเล่นดนตรีของเธอไม่ได้มีแค่การแข่งขัน และความเจ็บปวดอีกต่อไป  

 

ตัวอย่างแอนิเมชัน 

 

9. A Silent Voice: The Movie (2016)

 

Kyoto Animation

 

ภาพยนตร์แอนิเมชันแสนโรแมนติก ที่เรียกน้ำตาจากผู้ชมชาวไทยในปี 2016 เนื้อเรื่องดัดแปลงมาจากมังงะชื่อเดียวกันของโยชิโทกิ โออิมะ เจ้าของรางวัล Tezuka Osamu Cultural Award 2015 ในสาขา New Creator Prize ที่พามาต่อยอดเป็นแอนิเมชันก็ยังคงรักษามาตฐาน คว้ารางวัล Japanese Movie Critics Awards 2016 ในสาขา Best Animation Feature Film และรางวัล Japanese Academy Awards 2017 ในสาขา Excellent Animation of the Year ฯลฯ มาได้สำเร็จ

 

เรื่องย่อ: อิชิดะ โชยะ เด็กประถมเกเรประจำห้องที่ชอบแกล้งคนอื่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะ นิชิมิยะ โชโกะ เด็กสาวหูหนวกที่พึ่งย้ายเข้ามาใหม่ จนแม่ของโชโกะตัดสินใจย้ายโรงเรียนในที่สุด 

 

กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่คนรอบข้างเริ่มตีตัวออกห่าง เพราะคิดว่าโชยะคือต้นเหตุ กระทั่งวันที่เขาได้มาเจอกับโชโกะอีกครั้งเมื่อเรียนชั้นมัธยม เด็กหนุ่มขี้แกล้งเลยต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อคืนดีกับเด็กสาวผู้น่าสงสารให้ได้

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ 

 

10. Violet Evergarden (2018)

 

Kyoto Animation

 

ผลงานคุณภาพที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Netflix และ Kyoto Animation ที่ดัดแปลงมาจากนิยายในชื่อเดียวกันของอาคาสึกิ คานะ โดดเด่นทั้งเนื้อเรื่องที่น่าติดตาม และภาพที่สวยงามไร้ที่ติ จนได้รางวัล Crunchyroll Anime Awards สาขา Best Animation ประจำปี 2019 

 

เรื่องย่อ: ไวโอเล็ต หญิงสาวที่เคยถูกขนานนามว่าเป็นอาวุธสงคราม ที่เมื่อสงครามสงบต้องถูกปลดประจำการเป็นพนักงานในบริษัทไปรษณีย์ CH Postal Company จุดเริ่มต้นการดำเนินชีวิตใหม่ที่แสนเรียบง่าย ประทับใจ ไร้ซึ่งเสียงระเบิด และกระบอกปืน

 

ตัวอย่างแอนิเมชัน  

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X