ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา ปัญหาวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยโลกได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ในปัจจุบันมีจำนวนประชากรพลัดถิ่นสูงถึง 70.8 ล้านคนที่ต้องหลบหนีภัยสงครามและการประหัตประหาร ถูกบังคับให้ออกจากบ้านของตนและเดินทางเสี่ยงอันตราย เพื่อแสวงหาความปลอดภัย เมื่อครอบครัวผู้ลี้ภัยต้องสูญเสียทุกอย่าง สิ่งแรกที่พวกเขาต้องการคือ ที่พักพิงที่ปลอดภัย
UNHCR ในฐานะองค์การสหประชาชาติที่ให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศแก่ผู้ลี้ภัย ได้ริเริ่มแคมเปญ ‘เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก’ เพื่อระดมทุนจัดหาที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยจำนวน 2 ล้านคนที่อาศัยอยู่ใน 12 ประเทศ อาทิ จอร์แดน, เลบานอน, รวันดา และชาด
ซึ่งในแต่ละปี UNHCR ผลิตและแจกจ่ายเต็นท์จำนวน 70,000-100,000 หลัง มอบแผ่นพลาสติกอเนกประสงค์จำนวนกว่า 2 ล้านแผ่น โดยใช้งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท ในการมอบที่พักพิงที่ปลอดภัยให้แก่ครอบครัวผู้ลี้ภัย
อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน UNHCR ประเทศไทย เผยถึงที่มาของแคมเปญ ‘เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก’ ริเริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ด้วยความร่วมมือจากกลุ่มพันธมิตรนานาชาติในการจัดหาและพัฒนาที่พักพิง ด้วยความรู้ ความสามารถ ความตั้งใจ และความมุ่งมั่น เพื่อมอบทางออกให้ผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืน
“จุดเริ่มต้นเกิดจาก ท่านพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ท่านได้ให้ความเมตตากับ UNHCR ในด้านการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เนื่องจากเราเป็นหน่วยงานสหประชาชาติที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากทั่วโลก โดย 2 ปีที่แล้ว ท่านได้ริเริ่มโครงการระดมทุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และแนะนำให้รู้จักกับ สุริยา นามวงษ์ ก่อนที่จะร่วมเชิญศิลปินจำนวนมากมาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อจัดนิทรรศการศิลปกรรม พร้อมนำรายได้ส่วนหนึ่งช่วยหาที่พักพิงให้กับผู้ลี้ภัย อันเป็นจุดหมายหลักของโครงการนี้”
ด้าน สุริยา นามวงษ์ ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK) และหนึ่งในศิลปินที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานให้กับนิทรรศการศิลปกรรมเพื่อผู้ลี้ภัยเป็นครั้งที่ 2 กล่าวว่า พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) เคยได้ให้ความสว่างเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า โลกที่เกิดสงครามแล้วไม่มีผู้ใดเข้าช่วยเหลือ สงครามก็อาจจะยิ่งบานปลายขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าใจเรามีความเมตตาแบ่งปัน ก็จะทำให้โลกดูน่าอยู่ยิ่งขึ้น ซึ่งความเมตตาถือเป็นสิ่งที่ทุกประเทศในระดับสากลควรจะมี
“ถึงแม้จะจัดเป็นครั้งที่ 2 แต่เราหวังว่าจะเป็นการจุดประกายเล็กๆ ในสังคมไทยเรา ให้มองปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัว และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้ไม่ว่าจะมีกำลังมากหรือน้อย บางคนอาจจะสะสมงานศิลปะในงานนี้ เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัย หรืออาจจะบริจาคเงินผ่านองค์กร UNHCR ก็ได้ เพียงแต่ตอนนี้เราต้องรับรู้ว่า บนโลกใบนี้มีคนหนีตายจากภัยสงครามอีกกว่า 70 ล้านคน ซึ่งโอกาสนี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกคนจะเข้าใจว่าผู้ลี้ภัยแท้จริงเป็นอย่างไร
“เราจึงอยากจะร่วมเชิญชวนทุกคนมาทำบุญร่วมกัน อย่างน้อยๆ ถ้าทุกคนได้มาดูงานนิทรรศการนี้ คุณอาจจะได้เห็นเงาสะท้อนว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังมองปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ และกำลังลงมือช่วยเหลืออยู่”
นิทรรศการนี้จะจัดแสดงอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 3-31 สิงหาคม 2562 ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA) ซึ่งผลงานที่จะนำมาจัดแสดงได้รับเกียรติจากศิลปินระดับชาติและผู้มีชื่อเสียงทั้งหมด 30 ท่าน อาทิ ศิลปินแห่งชาติ เดชา วราชุน และ ปรีชา เถาทอง
รวมถึง ประทีป คชบัว, ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ, อลงกรณ์ หล่อวัฒนา, วรสันต์ สุภาพ, ทรงเดช ทิพย์ทอง, ธณฤษภ์ ทิพย์วารี, ยุทธนา พงศ์ผาสุก และ เสงี่ยม ยารังษี เป็นต้น
และผลงานของศิลปินรับเชิญที่ร่วมนำศิลปกรรมเข้าร่วมการจัดประมูลเป็นพิเศษในวันเปิดงานคือ โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ และ ก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล นักแสดงชื่อดัง