สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือที่ประชาชนนิยมเรียกกันว่า ‘สมเด็จย่า’ เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรียกได้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระมารดาของพระมหากษัตริย์ถึงสองพระองค์
สมเด็จย่าเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2443 มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ แม้จะมาจากตระกูลสามัญชน แต่เมื่ออภิเษกสมรสเป็นพระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระองค์ก็ทรงสั่งสอนลูกหลานได้เป็นอย่างดี มีพระจริยวัตรที่งดงาม ครั้นสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต สมเด็จย่าก็ทรงเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้งสามอย่างเต็มกำลังตามลำพังพระองค์เดียว ดังที่พระองค์ตรัสว่า “ให้ได้โอกาสเป็นเด็กธรรมดามากที่สุดเท่าที่จะมากได้… ถ้าจะมาบังคับให้อยู่หรูหรากันอย่างคิงเต็มที่ ซึ่งจะไม่ดีเลยสำหรับเด็ก จะทำให้ลำบากและเด็กไม่เป็นสุขแล้ว เห็นจะเป็นคิงไม่ได้ เพราะจะอยู่อย่างไม่หรูหรา แต่อย่างเรียบร้อย ก็ไม่ได้ทำให้เสียชื่อเสียงหรือน่าเกลียดอะไร”
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จย่ามีพระราชกรณียกิจช่วยเหลือราษฎรที่อยู่ห่างไกลความเจริญ โดยเฉพาะชาวไทยภูเขาทางภาคเหนือที่พระองค์เสด็จบ่อยครั้งทางเฮลิคอปเตอร์จนชาวบ้านถวายพระสมัญญานามแก่พระองค์ว่า ‘แม่ฟ้าหลวง’
ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุ 88 พรรษา สมเด็จย่าเสด็จไปประทับที่พระตำหนักดอยตุงที่มีทิวทัศน์สวยงาม อากาศดี ครั้นเสด็จประทับก็ทรงมีรับสั่งว่าจะปลูกป่าบนดอยตุง ทำให้เกิดเป็นโครงการพัฒนาดอยตุงมาถึงปัจจุบัน
ในวันที่ 18 กรกฎาคม สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคตที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัยทำงานไม่ปกติ
แม้สมเด็จย่าจะจากประชาชนชาวไทยไป 23 ปีแล้ว แต่คุณความดีที่ควรเอาเป็นแบบอย่างในฐานะ ‘แม่’ ของพระองค์ก็ยังทรงแจ่มชัดในความทรงจำของพวกเราอยู่ตราบจนนิรันดร์