นักวิจัยจากอังกฤษเผยผลการวิจัยผู้สูงอายุจำนวน 196,383 คน เป็นเวลากว่า 10 ปี แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการดูแลสุขภาพ กับการลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ (The University of Exeter) ประเทศอังกฤษ เผยผลการวิจัยว่า ผู้สูงอายุจำนวน 196,383 คน อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเข้าร่วมการวิจัยตั้งแต่ปี 2006-2017 ซึ่งนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ดีเอ็นเอของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด เพื่อหาความเสี่ยงที่ยีนจะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม โดยเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง 20% ความเสี่ยงปานกลาง 60% และความเสี่ยงต่ำ 20%
นอกจากนี้ นักวิจัยยังประเมินคะแนนสุขภาพของกลุ่มตัวอย่าง เพื่อแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ดูแลสุขภาพ และกลุ่มที่ไม่ดูแลสุขภาพ โดยใช้พฤติกรรม 4 ด้านเป็นเกณฑ์ ได้แก่ การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร การดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและไม่ดูแลสุขภาพ มีอัตราการเป็นสมองเสื่อมสูงขึ้น 2.83% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำและดูแลสุขภาพ การดูแลสุขภาพจึงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม เอลซาเบียตา กุซมา (Elzbieta Kuźma) หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยกล่าวว่า ผลที่ได้แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเรามีวิธีการจัดการกับความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม และจะเห็นได้ว่าการดูแลสุขภาพนั้นสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยไม่ได้ยืนยันว่าวิถีชีวิตที่แตกต่างกันทำให้ความเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อมแตกต่างกันนัก เพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวโยง และสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะดังกล่าวได้ ซึ่งยังสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) อีกด้วย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ภาพ: Shutterstock
อ้างอิง: