ตุรกีรับมอบระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบ S-400 จากรัสเซีย มูลค่ากว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางการจับตาและหวาดระแวงจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) โดย S-400 ถือเป็นหนึ่งในระบบต่อต้านขีปนาวุธและต่อสู้อากาศยานที่ล้ำสมัยที่สุดในโลก ขณะที่มันถูกออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นภัยคุกคามจาก NATO เป็นหลัก รวมทั้งมีอานุภาพในการยิงทำลายเครื่องบินรบแบบ F-35 ของสหรัฐฯ ถึงแม้ตุรกีจะเป็นหนึ่งในรัฐสมาชิกของ NATO ก็ตาม
กระทรวงกลาโหมตุรกีเปิดเผยว่า ระบบ S-400 ของรัสเซียชุดแรกมาถึงฐานทัพอากาศในกรุงอังการาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (12 ก.ค.) ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่สหรัฐฯ ไม่พอใจอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯ แสดงท่าทีคัดค้านตุรกีในการจัดซื้อระบบ S-400 มาตลอด จนส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ เกิดความระหองระแหง ขณะที่คณะบริหารของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า ตุรกีไม่สามารถมีทั้งระบบ S-400 และเครื่องบินขับไล่แบบ F-35 ในเวลาเดียวกันได้ เพราะตุรกีแสดงความจำนงในการจัดหา F-35 ของบริษัทล็อกฮีดมาร์ตินในสหรัฐฯ เช่นกัน
ตุรกีและสหรัฐฯ ต่างเป็นพันธมิตรในกลุ่ม NATO แต่ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ก็มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งสิ่งนี้ทำให้กลุ่ม NATO เกิดความหวาดระแวง
สหรัฐฯ เตือนว่า ตุรกีอาจถูกดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หากไม่ยอมยกเลิกข้อตกลงกับรัสเซีย
ด้านตุรกีชี้แจงว่า การจัดซื้อระบบ S-400 จากรัสเซีย ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะตุรกีอยู่ท่ามกลางภัยคุกคามร้ายแรง โดยเฉพาะการโจมตีจากพรมแดนของซีเรีย
ฮูลูซี อาคาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของตุรกี ต่อสายยืนยันกับ มาร์ก เอสเปอร์ รักษาการตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ ว่า การซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศดังกล่าว ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ความมั่นคงของตุรกีแต่อย่างใด
สำหรับระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 มีศักยภาพในการยิงทำลายเครื่องบินกลางอากาศจากระยะไกลถึง 240 กิโลเมตร รวมถึงสามารถสกัดกั้นขีปนาวุธที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 62 กิโลเมตร ได้อย่างแม่นยำ
ภาพ: Anadolu Agency / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: