คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผย มีการตรวจสอบเฝ้าระวังสถานการณ์สารพิษตกค้างในผักและผลไม้ที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วประเทศ และด่านอาหารและยาอย่างต่อเนื่อง กรณีพบผู้กระทำความผิด ส่งดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมประสานความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการปลูกผักและผลไม้อย่างปลอดภัย รวมทั้งจับมือกับ Thai-PAN ตรวจสอบความปลอดภัยของผักและผลไม้ อีกทั้งแนะประชาชนล้างผักและผลไม้ก่อนบริโภค เพื่อลดความเสี่ยงสารตกค้าง
จากกรณีที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เปิดเผยผลตรวจสารพิษในผักและผลไม้ตกค้างเกินมาตรฐานถึง 41% ของผัก ผลไม้ที่สุ่มตรวจ (อ่านต่อ thestandard.co/pesticide-residues) ล่าสุด นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า ในส่วนของ อย. ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังสถานการณ์สารพิษตกค้างในผักและผลไม้ที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงที่ด่านอาหารและยา
ซึ่งผลจากการตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้จำนวน 511 ตัวอย่าง ขณะนี้ (28 มิถุนายน 2562) ได้รับผลวิเคราะห์ 97 ตัวอย่าง จาก 15 จังหวัด พบผ่านมาตรฐานร้อยละ 86.6 (84 ตัวอย่าง) และตกมาตรฐานร้อยละ 13.4 (13 ตัวอย่าง) ซึ่งผักที่พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานเป็นชนิดเดียวกับที่ทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตรวจพบ ได้แก่ ผักกวางตุ้ง คะน้า แตงกวา พริกหวาน โหระพา ถั่วลันเตา ในส่วนของผลไม้ ได้แก่ ส้ม แก้วมังกร ทั้งนี้ อย. จะตรวจติดตามผลผู้ค้าในรายที่ทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ตรวจพบการตกมาตรฐาน และจะดำเนินคดีตามกฎหมาย หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง
อย่างไรก็ตาม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 386 พ.ศ. 2560 เรื่อง กำหนดวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิตและการเก็บรักษาผักและผลไม้สด เพื่อให้สถานที่ผลิตมีมาตรฐานการผลิตที่ดี และกำหนดให้มีการแสดงฉลากบ่งชี้ เพื่อให้เกิดระบบการทวนสอบย้อนกลับไปยังผู้ผลิตได้
โดยในช่วงปี 2560-2561 ที่ผ่านมา อย. พบการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายผักที่มีปริมาณสารพิษตกค้าง และได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ รายย่อย ซึ่งพบความผิดฐานจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท พร้อมประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ติดตาม ตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตของผู้ส่งสินค้าต่อไป
นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย. จะประสานความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้ความรู้แก่เกษตรกรในการปลูกผักและผลไม้ที่ปลอดภัย โดยงดใช้สารเคมีหรือใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย และจะร่วมมือกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ในการเฝ้าระวังผักและผลไม้ที่จำหน่ายในท้องตลาดต่อไป
ในส่วนของประชาชนผู้บริโภค ขอให้ล้างผักและผลไม้เพื่อลดความเสี่ยงการตกค้างของสารเคมีก่อนการบริโภค เช่น ล้างผ่านน้ำไหลนาน 2 นาที หรือล้างด้วยผงฟูหรือเบกกิ้งโซดา ½ ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร แช่ไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด หรือล้างด้วยน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล