รอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘มาเรียม’ น้องพะยูนน้อยแห่งเกาะลิบง จังหวัดตรัง กำลังกลายเป็นขวัญใจของคนไทย โดยเฉพาะในโลกโซเชียล ขณะเดียวกัน นอกจากมาเรียมจะช่วยปลุกกระแสอนุรักษ์พะยูนในวงกว้าง แต่ความสัมพันธ์แสนน่ารักและบริสุทธิ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์นี่เองที่ทำให้ THE STANDATD POP ได้ยิ้มในทุกๆ วัน พร้อมกับคิดว่า “โลกนี้ยังไม่แย่จนเกินไป”
ขณะเดียวกันเราก็รู้สึกร่วมถึง ‘ความจริง’ อีกหลายอย่าง ทั้งความจริงในแง่สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศของโลกที่ถูกทำลายจนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและถิ่นที่อยู่อย่างสรรพสัตว์
เช่นเดียวกับในโลกภาพยนตร์ที่ผ่านมา หลากหลายความจริงระหว่างคนกับสัตว์เองก็มีแง่มุมบันดาลใจให้เก็บไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อยู่เสมอ
ไม่แน่นะ สักวันเราอาจจะได้ชมหนังยาวที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงของ ‘มาเรียม’ บ้างก็ได้ใครจะรู้ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น THE STANDATD POP จะพาย้อนชมภาพยนตร์ระหว่างคนและสัตว์ที่สร้างขึ้นจากเค้าโครงเรื่องจริง มีเรื่องอะไรบ้าง ไปดูกัน
1. Free Willy (1993) : แด่เพื่อนรักด้วยดวงใจ
Free Willy ภาพยนตร์ที่เคยชนะใจผู้ชมไปทั่วโลก ถึงแม้เรื่องราวในภาพยนตร์จะเป็นเพียงเรื่องแต่ง หากแต่รายละเอียดที่อยู่ลึกไปกว่านั้นคือ เรื่องจริงของ เคย์โกะ (ชื่อของมันมาจากภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า โชคดี) ปลาวาฬเพชฌฆาตที่ถูกคัดเลือกให้เป็นนักแสดงหลักของเรื่อง
ย้อนกลับไป เคย์โกะ ถูกจับครั้งแรกบริเวณชายฝั่งทะเลบริเวณเกาะไอซ์แลนด์ในปี 1979 ขณะอายุได้ราว 2 ปี
หลังจากนั้นมันจะถูกนำตัวไปเพาะเลี้ยง ถูกฝึกให้เคยชินกับมนุษย์ และเปลี่ยนมือจากผู้ดูแลและฝึกมันอยู่หลายครั้ง โดยมันมีอาการของโรคผิวหนัง อันเนื่องมาจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน จนในที่สุดมันก็ย้ายไปลงหลักปักฐานเป็นสัตว์แสดงขวัญใจเด็กๆ ที่สวนสนุก Reino Aventura (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น Six Flags México) ตั้งอยู่ในเมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก
ขณะเดียวกันผลจากการถูกฝึกและการให้อยู่ร่วมกับมนุษย์นี่เอง ที่ทำให้มันได้รับเลือกให้ร่วมแสดงนำในภาพยนตร์ Free Willy ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์และระหว่าง เจส (เจสัน เจมส์ ริคเตอร์) เด็กชายกำพร้า กับ วิลลี่ ลูกวาฬเพชฌฆาตที่พลัดพรากจากฝูงที่ถูกจับมาขังไว้ เพื่อโชว์ในสวนน้ำ ก่อนที่เด็กชายจะพยายามทุกวิถีทาง เพื่อช่วยวิลลี่ให้เป็นอิสระ กลับคืนสู่ท้องทะเลธรรมชาติจนสำเร็จ
หลังจาก Free Willy ออกฉายและประสบความสำเร็จอย่างสูง ส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกโดยเฉพาะเด็กๆ ที่ได้รู้จักกับ ‘เคย์โกะ’ วาฬเพชฌฆาตที่ความจริงประวัติของมันก็มีชีวิตไม่ต่างอะไรกับ วิลลี่ ตัวเอกของเรื่องสักเท่าไร และนั่นนำพามาซึ่งโปรเจคต์ที่จะพาเคย์โกะกลับคืนสู่ท้องทะเลแบบในภาพยนตร์ขึ้นจริงๆ ผ่านการร่วมไม้ร่วมมือของหลายๆ องค์กร
แต่เรื่องราวที่เป็นเหมือนจะเป็นโชคดีเหมือนชื่อของมัน กลับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเรื่องเศร้าในท้ายที่สุด ในเดือนกรกฎาคม ปี 2002 เคย์โกะได้ถูกพากลับคืนสู่ท้องทะเล ณ บริเวณเกาะไอซ์แลนด์ ถิ่นอาศัยที่เคยเป็นบ้านเกิดของมันอีกครั้ง หลังจากมันถูกฝึกให้คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ รวมไปถึงฝึกให้มันคุ้นชินกับการหาอาหารตามวิถีธรรมชาติอยู่พักใหญ่
แต่แล้วเมื่อมันถูกพากลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติจริงๆ สัญญาณมากมายกลับพบว่า เคย์โกะดูจะไม่ได้มีความสุขกับอิสระที่ได้รับ หลังผ่านไป 1 เดือน มันทั้งซูบผอม และยังคงว่ายน้ำอย่างโดดเดี่ยว มีการคาดกันว่า มันไม่สามารถสื่อสารและร่วมฝูงกับวาฬเพชฌฆาตตัวอื่นๆ ในธรรมชาติได้
จนในที่สุด เดือนธันวาคม ปี 2003 หรือ 1 ปี 5 เดือน นับตั้งแต่มันถูกปล่อยคืนเป็นอิสระ โลกก็ได้ทราบข่าวการพบซากวาฬเพชฌฆาตเคย์โกะ นอนเกยหาดอยู่บริเวณแหลม Taknes ประเทศนอร์เวย์ โดยผลจากการชันสูตร พบว่ามันมีภาวะปอดบวม
เรื่องราวน่าเศร้าของเคย์โกะได้ทำให้หลายฝ่ายได้ขบคิดและถกเถียงต่อยอดเกี่ยวกับการตระหนักรู้ว่า หากคิดที่จะนำสัตว์ที่เคยถูกมนุษย์เลี้ยงดูกลับคืนสู่ธรรมชาตินั้น บางทีอาจจะไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้องเสมอไป เนื่องจากทักษะการใช้ชีวิตหรือสัญชาตญาณสัตว์ตามธรรมชาติของมันอาจจะหายไปหมดแล้ว หลังการอยู่รวมกับมนุษย์เป็นเวลานาน
อ้างอิง:
2. Gorilla in the Mist (1988) : กอริลลาสุดสายหมอก
ภาพยนตร์ดราม่าสะเทือนใจ เล่าเรื่องราวความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวของนักสัตววิทยาหญิง ผู้ที่ยอมทิ้งทุกอย่าง แม้จะต้องต่อสู้กับมนุษย์ เพื่อชีวิตของกอริลลาที่เธอรักและผูกพัน
Gorilla in the Mist สร้างขึ้นจากเค้าโครงเรื่องจริงของ ไดแอน ฟอสซีย์ นักสัตววิทยาหญิงผู้กล้า เจ้าของผลงานหนังสือ Gorilla in the Mist เล่าชีวิตของเธอที่พยายามปกป้องกอริลลาและสัตว์ป่าให้ได้อาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวของมันอย่างสงบสุข และมอบสิทธิ์การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อนำรายได้มาสมทบทุน The Dian Fossey Gorilla Fund International (DFGDI) กองทุนที่เธอก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องกอริลลา
แต่ผลลัพธ์ที่เธอได้กลับมาคือ การถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ที่ทางการไม่อาจตามจับตัวฆาตกรมาลงโทษได้ อาจเป็นเพราะเธอสร้างศัตรูจากวิธีการสุดโต่งของเธอ จึงทำให้ทั้งชนเผ่าพื้นเมือง พรานป่า ไปจนกระทั่งกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นไม่พอใจ
ต่อมา เรื่องจริงอันน่าเศร้านี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยได้ ซิกอร์นีย์ วีเวอร์ นักแสดงสาวแกร่งระดับแถวหน้าของฮอลลีวูด มาถ่ายทอดชีวิตของ ‘ไดแอน ฟอสซีย์’ ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องกอริลลาที่กำลังถูกคุกคามและจับตัวเพื่อให้ขายให้กับพวกนายทุน แต่ขณะเดียวกัน ด้วยวิธีการอันสุดโต่งก็ส่งผลสะท้อนกลับให้ผู้คนมองว่า เธอเสียสติด้วยเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว คนอื่นก็ยอมรับว่า ถ้าหากไม่มีเธอที่ออกมาปกป้องกอริลลาทุกวันนี้ ไม่แน่เราอาจจะไม่มีกอริลลาให้ได้เห็นอีกแล้วก็เป็นได้
อ้างอิง:
- ngthai.com/animals/3980/diane-fossey-for-gorilla-mission
- www.metro.news/i-loved-gorillas-so-much-i-wanted-to-live-in-rwanda/837174
3. Seabiscuit (2003) : ซีบิสกิต ม้าพิชิตโลก
ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคนและม้า ที่ต่างก็เจอแต่เรื่องราวร้ายๆ ผ่านช่วงเวลาล้มลุกคลุกคลานในชีวิต แต่ก็เพราะด้วยหัวใจนักสู้ที่ช่วยเติมเต็มกันและกัน สุดท้ายจ็อกกี้หนุ่มและม้าหนุ่มที่ใครๆ พากันหมดหวัง ก็พากันควบทะยาน เพื่อพิสูจน์ตัวเองในสิ่งที่ไม่มีใครเชื่อให้เกิดขึ้น
Seabiscuit นำเรื่องจริงของ ซีบิสกิต ม้ารองบ่อนตัวเล็กที่บาดเจ็บจากการแข่งขันที่ทำงานขนแบกของไปวันๆ ที่กลายเป็นม้าแข่งชื่อดังแห่งยุค 1930 และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในตำนานของสหรัฐอเมริกา และเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังของคนอเมริกันในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในโลก
ย้อนกลับไป ชาร์ลส์ ฮาวเวิร์ด อดีตช่างซ่อมรถที่ถีบตัวขึ้นมาจนร่ำรวย ที่ซื้ออดีตนักมวยที่เข้ามาเป็นจ็อกกี้แข่งม้า Red Pollard โดยมี ทอม สมิธ อดีตครูฝึกม้ามือดีมาฝึก ด้วยความหวังที่ว่า พวกคนที่ล้มเหลวแบบพวกเขาและเจ้าซีบิสกิตจะไม่เป็นพวกขี้แพ้ไปตลอดชีวิต ที่สุดหลังจากผ่านการรักษาและฝึกฝนที่เข้มข้น เจ้าม้าหนุ่มนอกสายตาชื่อ ซีบิสกิต ก็ฮึดสู้ จนสามารถกลับมาลงแข่งขันได้อีกครั้ง แถมยังสามารถเอาชนะม้าแข่งฝีเท้าดีที่ไม่เคยแพ้ใครได้อีกด้วย
อ้างอิง:
4. Air bud (1997) : ซูเปอร์หมากึ๋นเทวดา
เรื่องราวน่าประทับใจของครอบครัวหนึ่งที่เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ผ่านการสูญเสียพ่อผู้เป็นเสาหลักของครอบครัว โดยมีสุนัขเข้ามาเติมเต็มและทำให้ครอบครัวกลับมามีชีวิตชีวาอีกคร้ัง
Air bud สร้างจากเรื่องจริงของ เควิน ดิซิซโก เจ้าของสุนัขโกลเด้นรีทรีฟเวอร์แสนรู้ชื่อว่า ‘บัดดี้’ ซึ่งเขาพบบัดดี้เร่ร่อนอยู่บริเวณภูเขา Yosemite จึงเก็บมาเลี้ยง เควินฝึกให้บัดดี้เล่นกีฬาหลายชนิด เช่น เบสบอลและฮอกกี้
เขาพบว่า เจ้าบัดดี้สามารถชู้ตบาสเกตบอลได้เป็นอย่างดี โดยบัดดี้ใช้บริเวณปากผลักให้ลูกบาสเด้งกลับไปลงที่แป้นได้ ทำให้เรื่องของเควินและเจ้าบัดดี้เป็นที่โด่งดังในช่วงนั้นเป็นอย่างมาก จนทำให้มีการติดต่อเควิน เพื่อสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องของเจ้าบัดดี้
เค้าโครงจากเรื่องจริงนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของ จอช ฟรามม์ (เควิน ซีเกอร์ส) เด็กชายวัย 12 ปี ผู้โศกเศร้าจากการสูญเสียผู้เป็นพ่อที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านใหม่และโรงเรียนใหม่ และด้วยความขี้อายจนทำให้ไม่กล้าเข้าร่วมทีมบาสเกตบอลของโรงเรียน เขาจึงแอบมาซ้อมคนเดียว และได้พบกับ ‘บัดดี้’ สุนัขโกลเด้นรีทรีฟเวอร์ที่สามารถชู้ตลูกบาสได้ และก็เพราะบาสเกตบอลนี้เอง ทำให้จอชและบัดดี้ได้ใช้เวลาด้วยกัน เติมเต็มชีวิตของกันและกัน บัดดี้ได้ที่พักพิง ส่วนจอชก็ได้เพื่อนและแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของตัวเองต่อ
อ้างอิง:
5. A Street Cat Named Bob (2016) : บ๊อบ แมว เพื่อน คน
ภาพยนตร์เปี่ยมพลังใจที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงของ เจมส์ โบเวน ชายหนุ่มชีวิตเหลวแหลกที่พยายามเลิกยา เขาได้พบกับแมวสีส้มตัวหนึ่งที่บาดเจ็บและตัดสินใจพามันไปรักษา โดยเงินทั้งหมดที่เขามีจ่ายค่ารักษาและรับมันมาเลี้ยงดู ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ได้คาดคิดว่ามิตรภาพครั้งนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งดีๆ ในชีวิตมากมาย ซึ่งต่อมามันได้ช่วยซ่อมแซมและสร้างรากฐานดีๆ ในชีวิตของเขาให้กลับคืนมาอีกครั้ง
ต่อมาเจมส์ตัดสินใจเล่าเรื่องราวของเขากับแมวบ๊อบ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนที่กำลังท้อกับชีวิตแบบที่เขาเคยเป็นออกมาเป็นหนังสือ ปรากฏว่า หนังสือของเขาขายดีแบบถล่มทลาย อีกทั้งยังถูกแปลเพื่อตีพิมพ์ไปแล้วถึง 30 ภาษาทั่วโลก
อ้างอิง:
6. Shining Boy & Little Randy (2005) : เพื่อนช้าง…อาริงาโตะ
ภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่ถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจระหว่างการทำตามความฝันและมิตรภาพที่ลึกซึ้ง ระหว่างเด็กหนุ่มกับช้างที่เขาใช้ร่วมฝึกการเป็นควาญช้าง โดยนำเรื่องจริงของ ซากาโมโต้ เทตสึมุ ชายหนุ่มผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นควาญช้างตั้งแต่เด็ก เนื่องจากแม่ของเขามีกิจการสวนสัตว์อยู่ที่เมืองจิบะ ทำให้เขาอยู่ท่ามกลางสัตว์และคุ้นเคยกับสัตว์ต่างๆ เป็นอย่างดี โดยเฉพาะช้างที่เป็นสัตว์ที่เขาชื่นชอบเป็นอย่างมาก และเขาตัดสินใจเดินทางไปเชียงใหม่ตอนอายุ 11 ปี เพื่อฝึกฝนเป็นควาญช้างตามที่ตนเองฝันไว้
ซากาโมโต้ เทตสึมุ ถือว่าเป็นควาญช้างชาวญี่ปุ่นคนแรก แต่เรื่องน่าเศร้าก็เกิดขึ้นตามมา เพราะเขาได้เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุรถชนด้วยวัยเพียง 20 ปี
ส่วนในเวอร์ชันภาพยนตร์ เล่าเรื่องของ ซากาโมโต้ เทตสึมุ (ยากิระ ยูยะ) เด็กหนุ่มชอบเก็บตัวที่ถูกรังแกจากเพื่อนที่โรงเรียน แถมยังมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีกับครอบครัว จนกระทั่งเขาได้พบกับช้างที่นำความรักและสายสัมพันธ์อันแนบแน่นที่เขาตามหามานาน เขาตัดสินใจมาที่เชียงใหม่ เพื่อฝึกเป็นควาญช้างคนแรกของญี่ปุ่น
ชีวิตที่เชียงใหม่ทำให้เขารู้ซึ้งถึงมิตรภาพกับทั้งเพื่อนคนไทยและช้าง ซึ่งความผูกพันของเขากับช้างนั้นลึกซึ้งขนาดที่เรียกว่า เป็นเพื่อนที่รู้ใจกันเป็นที่สุด เมื่อฝึกฝนจนครบแล้ว เขาจึงกลับไปญี่ปุ่นเพื่อแสดงโชว์และแก้ไขความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้น แต่ความสุขก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะเขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต โดยเหลือทิ้งไว้เพียงเรื่องราว ความทรงจำ ความฝัน และเรื่องราวความประทับใจของเขา
อ้างอิง:
7. Quill: The Life of a Guide Dog (2012) : โฮ่ง (ฮับ) เจ้าตัวเนี้ยซี้ 100%
ภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นจากเรื่องราวน่าประทับใจระหว่างคนตาบอดกับสุนัขนำทางแสนรู้พันธุ์ลาบราดอร์ ที่ทำให้ผู้ชมได้ซาบซึ้งผ่านชีวิตที่เรียบง่าย ภาพยนตร์ดัดแปลงจากนวนิยาย The Life of Quill, The Seeing-Eye Dog ของ อากิโมโต้ เรียวเฮ และ อิชิงุโระ เคนโกะ แต่งขึ้นจากเรื่องจริงของสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ของโรงเรียนฝึกสุนัขนำทางผู้พิการทางสายตา
เล่าเรื่องราวชีวิตของสุนัขนำทางพันธุ์ลาบราดอร์ที่มีปานรูปขนนก ซึ่งคนที่รับมาเลี้ยงเห็นว่ามันมีปานเป็นรูปขนนก จึงตั้งชื่อมันว่า ‘ควิลล์’ ที่แปลว่า ขนนก โดยเล่าเรื่องของเจ้าควิลล์ ตั้งแต่เกิดจนถึงวันสุดท้ายในชีวิตของมัน
ช่วงเวลาที่พิเศษสุดนั้นเริ่มต้นหลังจากการฝึกจบลง เจ้าควิลล์ถูกส่งให้ไปทำหน้าที่ช่วยเหลือ วาตานาเบะ ชายวัยกลางคนผู้พิการทางสายตาที่ไม่ชอบสุนัข และมีความเชื่อว่า เขายอมไม่ไปไหนดีกว่าที่จะให้สุนัขลากเขาไปตามที่ต่างๆ แต่เนื่องจากที่เขาไปไหนคนเดียวแล้วเกิดอุบัติเหตุบ่อย จนครอบครัวเป็นห่วง จึงแนะนำให้เขาใช้สุนัขนำทาง
ถึงแม้ว่าวาตานาเบะกับเจ้าควิลล์จะเริ่มต้นกันได้ไม่ดีนัก แต่ด้วยความใกล้ชิดและการใช้เวลาร่วมกัน ในที่สุดวาตานาเบะก็ค่อยๆ เปิดใจและผูกพัน สุดท้ายจึงกลายเป็นเรื่องราวมิตรภาพของเพื่อนร่วมทางที่ซาบซึ้งและกินใจ
อ้างอิง:
8. Red Dog (2011) : เพื่อนซี้หัวใจหยุดโลก
ภาพยนตร์ดราม่าคอเมดี้สัญชาติออสเตรเลียที่ดัดแปลงจากนวนิยายสั้นของ หลุยส์ เดอ แบร์นีแอร์ นักเขียนชาวอังกฤษ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวการผจญภัยของตำนานสุนัขเรดด็อกแห่งเมืองแดมปิเยร์ ในรัฐนอร์ธเวสเทิร์น ประเทศออสเตรเลีย สุนัขที่เดินทางไปทั่วพิลบารา เขตแห้งแล้งที่อยู่รัฐเวสเทิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งชื่อ ‘เรดด็อก’ มาจากฝุ่นดินสีแดงของเขตพิลบาราที่คลุมไปทั่วตัวของเจ้าหมาตัวนี้ อีกทั้งได้มีการสร้างอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกถึงเจ้าเรดด็อก สุนัขนักผจญภัยชื่อว่า The Pilbara Wanderer
ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของเจ้าเรดด็อกที่ออกตามหาเจ้าของของมัน จอห์น แกรนต์ (จอช ลูคัส) คนขับรถบัสที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต โดยก่อนหน้านั้น จอห์นเคยบอกให้เจ้าเรดด็อกรอเขา มันจึงรอโดยที่เจ้าเรดด็อกไม่รู้เลยว่า จอห์นได้จากมันไปแล้ว
เจ้าเรดด็อกรอจอห์นกลับมาวันแล้ววันเล่า รอจนกระทั่งมันตัดสินใจออกเดินทางตามหาเขาไปทั่ว โดยไม่สนใจระยะทางและกาลเวลา
เจ้าหมอผู้ซื่อสัตย์เดินทางไกลและนานพอ จนเป็นที่รู้จักของคนในแต่ละท้องที่ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วเจ้าเรดด็อกมาจากไหน อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดจากสุนัขผู้สูญเสียเจ้านาย เจ้าเรดได้กลายเป็นสุนัขที่ได้รับความรักความเอ็นดูจากคนทุกที่ที่มันเดินทางผ่าน
อ้างอิง:
9. Eight Below (2006) : ปฏิบัติการ 8 พันธุ์อึดสุดขั้วโลก
ภาพยนตร์ดราม่าผจญภัยสุดระทึกท่ามกลางดินแดนที่มีสภาพอากาศที่รุนแรงอย่างแอนตาร์กติกา ที่จะทดสอบมิตรภาพระหว่างคนกับสัตว์ ที่ต้องเชื่อมั่นว่าจะได้กลับมาพบกันอีกครั้งภายใต้สถานการณ์ที่โหดร้าย
Eight Below นำมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดในปี 1958 ที่ชุดสำรวจของญี่ปุ่นในแอนตาร์กติกา ที่ต้องอพยพออกจากศูนย์วิฉัยที่นักวิจัยจำเป็นต้องทิ้งสุนัขลากเลื่อนทั้ง 13 ตัวไว้ที่นั่น และบอกให้พวกมันรออยู่ที่นั่น เพราะทีมจะกลับไปรับหลังจากนั้น แต่ด้วยสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ ทำให้ต้องตัดใจจากสุนัขเหล่านั้น แต่เมื่อทีมสำรวจทีมใหม่กลับไปที่สถานีสำรวจนั้น ก็พบสุนัขจากกลุ่มนั้นมีชีวิตรอดเหลืออยู่ 2 ตัว
ภาพยนตร์เล่าเรื่องเหตุการณ์ในแอนตาร์กติกาของ เจอร์รี เชพเพิร์ต (พอล วอล์กเกอร์) ไกด์นำทางในแอนตาร์กติกา ที่ต้องตัดใจทิ้งสุนัขลากเลื่อนที่เป็นที่รักของเขาไว้ที่สถานีสำรวจ ให้เอาชีวิตรอดท่ามกลางความโหดร้ายของแอนตาร์กติกา หลังจาก เดวิส แม็คคาเร็น (บรูซ กรีนวูด) นักธรณีวิทยาประสบอุบัติเหตุรุนแรง จำเป็นต้องส่งไปรักษาโดยด่วน พร้อมกับสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเจอร์รีพยายามทำทุกอย่าง เพื่อนำเหล่าสุนัขของเขากลับมาท่ามกลางแอนตาร์กติกา ดินแดนที่หนาวเย็นและมีสภาพอากาศแปรปรวนให้ได้
อ้างอิง:
10. Hachi: A Dog’s Tale (2009) : ฮาชิ หัวใจพูดได้
ภาพยนตร์ดราม่าอบอุ่นหัวใจ เล่าเรื่องราวความรักที่บริสุทธิ์ใสซื่อของสุนัขที่จงรักภักดีต่อมนุษย์
Hachi: A Dog’s Tale สร้างจากเรื่องจริงของ ฮาชิโกะ สุนัขญี่ปุ่นสายพันธุ์อาคิตะที่จงรักภักดีต่อ ฮิเดซาบุโระ อุเอโนะ เจ้าของผู้ที่พบมันที่สถานีชิบูย่า ประเทศญี่ปุ่น และเก็บมันมาเลี้ยง หลังจากนั้นเจ้าฮาชิก็จะออกมารอรับเขาที่หน้าสถานีทุกวัน จนเมื่อเขาเสียชีวิตไปแล้ว มันก็ยังคงออกมารอรับเขาที่หน้าสถานีจนวันสุดท้ายของชีวิตของมัน ซึ่งเป็นเวลา 10 ปี หลังจากไปของอุเอโนะ เจ้าของผู้เป็นที่รักของเจ้าฮาชิ ซึ่งความจงรักภักดีของเจ้าฮาชินี้ได้เผยแพร่ออกไปจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ภายหลังมีการสร้างอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกถึงเจ้าฮาชิสุนัขผู้ภักดี
ภาพยนตร์ได้เปลี่ยนสถานที่ของเหตุการณ์จากสถานีรถไฟประเทศญี่ปุ่นมายังเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เมื่อ อาจารย์ปาร์กเกอร์ (ริชาร์ด เกียร์) ได้พบกับลูกสุนัขพันธุ์อาคิตะโดยบังเอิญที่สถานีรถไฟ และตัดสินใจรับเลี้ยงมันไว้ในที่สุด
หลังจากนั้นแทบทุกวัน ปาร์กเกอร์จะต้องเดินทางไปสอนที่มหาวิทยาลัยด้วยรถไฟ ซึ่งภาพที่เพื่อนบ้านและชาวเมืองคุ้นตาคือทุกเช้า ฮาชิจะเดินตามไปส่งเจ้านายของมันขึ้นรถไฟ และเมื่อตกเย็น ฮาชิจะมารอรับปาร์กเกอร์ที่สถานี เพื่อเดินกลับบ้านไปพร้อมกัน
แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิตฮาชิก็เกิดขึ้น เมื่อปาร์กเกอร์เสียชีวิตกะทันหันในระหว่างชั่วโมงเรียน ซึ่งนั่นหมายความว่า เขาจะไม่ได้กลับมาที่สถานีรถไฟอีกแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น ฮาชิก็ยังคงไปนั่งรอปาร์กเกอร์ที่สถานีรถไฟวันแล้ววันเล่า รถไฟเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า จากเช้าจรดค่ำเป็นเวลานานกว่า 10 ปี กระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งช่วงชีวิตของตัวมันเอง
ความตายนั้นพรากปาร์กเกอร์ไปจากฮาชิแล้ว แต่ดูเหมือนช่วงเวลาตลอด 10 ปี จะพรากความรู้สึกรักและภักดีที่มันมีต่อปาร์กเกอร์ไปไม่ได้ เรื่องราวความผูกพันระหว่างมนุษย์และสุนัขใน Hachi: A Dog’s Tale นั้นแสนเรียบง่าย แต่ระหว่างทางมันก็ทำให้ผู้ชมได้ทั้งความสุข ซึ้ง และสะเทือนใจ ซึ่งจะว่าไปมันกลับแฝงไว้ด้วยความโรแมนติกปะปนอยู่ในแง่มุมของ ‘ความตาย’ ด้วยเช่นกัน
ภาพเปิด: ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย