องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ตรวจพบความบกพร่องใหม่ในระบบคอมพิวเตอร์ของเครื่องบินโดยสารตระกูล Boeing 737 MAX ซึ่งอาจทำให้โบอิ้งต้องนำกลับไปแก้ไข และทดสอบใหม่อีกครั้ง นับเป็นมรสุมอีกระลอกที่ถาโถมใส่โบอิ้ง หลังจากสายการบินทั่วโลกได้ระงับการบินเครื่องบินบางรุ่นในตระกูล 737 MAX ยกฝูงตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา สืบเนื่องจากโศกนาฏกรรมทางอากาศของเที่ยวบิน 610 ของสายการบินไลอ้อนแอร์ และเที่ยวบิน 302 ของเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ส ภายในเวลาห่างกันไม่กี่เดือน
ก่อนหน้านี้โบอิ้งได้อัปเกรดระบบซอฟต์แวร์ป้องกันการสูญเสียแรงยก เพื่อแก้ปัญหาระบบเซนเซอร์วัดมุมปะทะของเครื่องบิน หลังระบบทำงานผิดพลาดจนนำไปสู่อุบัติเหตุทางอากาศ 2 ครั้งซ้อน ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตรวม 346 ราย
อย่างไรก็ตาม FAA ระบุว่า พวกเขาตรวจพบความเสี่ยงใหม่ในระหว่างการทดสอบระบบจำลองการบิน แต่ FAA ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าความเสี่ยงนั้นคืออะไร
“กระบวนการตรวจสอบของ FAA ถูกออกแบบมาเพื่อค้นหา และชี้ชัดความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ ซึ่งล่าสุด FAA พบความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้นโบอิ้งจึงต้องเร่งแก้ไข” FAA ระบุในทวิตเตอร์
การตรวจพบปัญหาล่าสุด ทำให้กระบวนการออกใบรับรองการปรับปรุงซอฟต์แวร์บน Boeing 737 MAX ของ FAA ต้องถูกเลื่อนออกไปอีก จากเดิมที่มีกำหนดการอนุมัติในช่วงปลายเดือนนี้ ขณะที่ตารางการทดสอบบินของเครื่องบินรุ่นดังกล่าวก็ต้องถูกเลื่อนออกไปจากช่วงต้นเดือนกรกฎาคม
ด้วยเหตุนี้โอกาสที่สายการบินทั่วโลกจะนำเครื่องบิน Boeing 737 MAX กลับมาให้บริการเชิงพาณิชย์ในช่วง 2-3 เดือนนี้ จึงมีน้อยลง และอาจต้องรอไปจนถึงปลายปีนี้
FAA ยืนยันว่าจะยกเลิกคำสั่งห้ามบินก็ต่อเมื่อมั่นใจแล้วว่าเครื่องบินมีความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร โดยหน่วยงานจะประเมินการปรับปรุงซอฟต์แวร์ต่อไปเป็นระยะ และจะพัฒนาหลักสูตรการฝึกฝนนักบินที่จำเป็นเพิ่มเติม
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: