×

‘พานไหว้ครู’ จากเครื่องบูชา สู่สัญลักษณ์ทางการเมืองและความกล้าหาญทางความคิด

17.06.2019
  • LOADING...
พานไหว้ครู

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ในพานไหว้ครูมักมีการกำหนดดอกไม้สำคัญอันถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญอยู่ 4 อย่างที่จะต้องใช้ประดับตกแต่งพานเพื่อบูชาครู ประกอบไปด้วย 1. ดอกเข็ม ที่เป็นตัวแทนของสติปัญญาอันแหลมคม 2. ดอกมะเขือ แทนความอ่อนน้อมถ่อมตน 3. หญ้าแพรก แทนสติปัญญาที่เจริญงอกงาม และ 4. ข้าวตอก แทนความรู้ที่แตกฉานอย่างเป็นระเบียบ
  • ส่วนตัวแล้วผู้เขียนคิดว่า ‘พานไหว้ครูสะท้อนภาพการเมือง’ ของเด็กนักเรียนในวันครูปีนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่ง ดูมีคุณค่าที่สะท้อนให้เป็นไปตาม หรือยิ่งกว่าความหมายเชิงสัญลักษณ์ของดอกไม้ที่กำหนดไว้ทุกประการด้วยซ้ำ

‘ครู’ มีความหมายว่า ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ซึ่งมาจากคำว่า ‘ครุ’ (อ่านว่า คะ-รุ) ที่แปลว่า ‘หนัก’ อันหมายถึงความรับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนของครูนั้นนับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย

 

นอกจากครูที่เป็นฆราวาสแล้ว เราก็จะพบการใช้คำว่า ‘ครู’ สำหรับพระสงฆ์ด้วย อย่างในภาคเหนือเรามักจะได้ยินคำเรียกพระสงฆ์ที่เป็นที่เคารพนับถือว่า ‘ครูบา’ ซึ่งก็มาจากคำว่า ‘ครุ + อุปัชฌาย์’ หมายถึง พระสงฆ์ผู้เป็นครูบาอาจารย์ของพระสงฆ์และฆราวาส ครูบารูปสำคัญที่เรามักคุ้นหูก็คงจะเป็นท่านใดไม่ได้นอกจาก ‘ครูบาศรีวิชัย’

 

‘วันครู’ ราชการไทยกำหนดไว้เป็นวันที่ 16 มกราคมของทุกปี โดยได้กำหนดไว้ชัดเจนเป็นครั้งแรกในปี 2499 ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และวันที่ 16 มกราคม 2500 จึงถือว่าเป็นวันครูวันแรกหลังมีกำหนดขึ้น

 

ส่วน ‘วันไหว้ครู’ กำหนดไว้ให้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวในวันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งพิธีกรรมการไหว้ครูในเดือนมิถุนายนนี้ถือเป็นการกำหนดตามพิธีกรรมการไหว้ครูตามแบบจารีต หลายพื้นที่มักนิยมประกอบพิธีดังกล่าวในช่วงเดือนนี้ เช่น ในภาคเหนือก็นิยมไหว้บูชาครู ผีครู หรือผีต่างๆ (ผี คำนี้มีความหมายในเชิงบรรพบุรุษ) ในเดือน 9 เหนือ หรือหากนับตามปฏิทินปัจจุบันก็คือช่วงเดือนมิถุนายน

 

ในพิธีกรรมการไหว้ครู หรือการรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ในระบบโรงเรียนที่เราทุกคนเคยผ่านกันมา จะประกอบไปด้วยพิธีปฏิญาณตน กล่าวถึงคำระลึกพระคุณครูบาอาจารย์ และมีการทำพานเพื่อมอบให้ครูเป็นเครื่องบูชาคุณ

 

ดังนั้นสำหรับผู้ที่ผ่านการเรียนตามระบบโรงเรียนไทย คงไม่มีใครที่จะไม่เคยได้ยินบทสวดสรรเสริญครูที่มักกล่าวกันในงานวันไหว้ครูที่ว่า ‘ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา’ และอีกบทหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ‘ปัญญาวุฒิกเร เต เต ทินโนวาเท นมามิหัง’ บทสวดสรรเสริญภาษาบาลีอันมีความหมายว่า ครูอาจารย์เป็นผู้ทรงคุณอันประเสริญยิ่ง เป็นผู้พร่ำสอนศิลปวิทยาการ และข้าพเจ้าขอนอบน้อมเหล่านั้น ผู้ให้โอวาท ผู้ทำให้ปัญญาเจริญ ข้าพเจ้าขอกราบไหว้ครูอาจารย์เหล่านั้นด้วยความเคารพ แน่นอนว่าบทสรรเสริญภาษาบาลีสองบทนี้เป็นสิ่งที่เด็กนักเรียนต้องกล่าวกันทุกครั้งและทุกปีในพิธีไหว้ครู

 

นอกจากบทสรรเสริญที่คุ้นชินกันแล้ว กิจกรรมที่ทุกคนต้องเคยผ่านมาอีกกิจกรรมหนึ่งของการเป็นเด็กนักเรียนคือ การทำพานไหว้ครู ในทางภาคเหนือก็จะมีกรวยดอกไม้ หรือสวยดอกด้วย อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญในพิธีไหว้ครู โดยในพานไหว้ครู มักมีการกำหนดดอกไม้สำคัญอันถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญอยู่ 4 อย่าง ที่จะต้องใช้ประดับตกแต่งพานเพื่อบูชาครู ประกอบไปด้วย

 

1. ดอกเข็ม โดยกล่าวว่าเป็นดอกไม้ที่มีปลายแหลม หมายถึงให้ลูกศิษย์ทุกคนมีสติปัญญาอันแหลมคมเหมือนดอกเข็ม และดอกเข็มมีเกสรที่มีรสหวาน จึงหมายถึงว่า ให้ชีวิตของเหล่าศิษย์มีความสดชื่นเหมือนรสหวานของดอกเข็ม

 

2. ดอกมะเขือ กล่าวกันว่าเป็นดอกที่โน้มต่ำลงมาเสมอ ไม่ได้เป็นดอกที่ชูขึ้น เพื่อให้เหล่าศิษย์มีความอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมเรียนรู้องค์ความรู้ต่างๆ จากครูบาอาจารย์ อีกทั้งมะเขือยังมีเมล็ดจำนวนมากและงอกได้ทุกที่ ให้ดุจเหมือนความรู้ของเด็กที่จะได้งอกงามเช่นเมล็ดของมะเขือ

 

3. หญ้าแพรก โดยกล่าวว่าเป็นหญ้าที่เจริญงอกงามและแพร่กระจายได้รวดเร็ว เพื่อให้สติปัญญาของเหล่าศิษย์เจริญงอกงามเหมือนหญ้าแพรก

 

4. ข้าวตอก เป็นข้าวเปลือกที่คั่วกับไฟอ่อนๆ จนเนื้อในแตกออก จึงหมายถึงเรื่องของระเบียบวินัย เอาชนะความซุกซนและความเกียจคร้าน ก็จะมีความรู้ที่แตกฉานอย่างเป็นระเบียบเหมือนข้าวตอก

 

พานไหว้ครู

พานไหว้ครู

 

อย่างไรก็ตาม ในพิธีไหว้ครูเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เกิดความฮือฮาและเป็นที่สนใจของสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพราะปรากฏภาพพานไหว้ครูที่มีการสะท้อนภาพปัญหาทางการเมืองของสังคมไทยในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะตาชั่งเอียง ที่สะท้อนเสียงของประชาชนที่มีน้ำหนักไม่เท่ากับเสียงของผู้มีอำนาจ หรือเป็นกรงขังที่กำลังขังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือภาพของนักการเมืองและเสียงของนักการเมืองต่างๆ ในสภา สร้างกระแสสะเทือนวงการการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง จนผู้มีอำนาจบางคนถึงขั้นออกมากล่าวหาเพื่อดิสเครดิตผลงาน ความคิด และความสามารถของเด็กนักเรียนว่า “ต้องมีผู้อยู่เบื้องหลังการทำพานในครั้งนี้ เพราะเชื่อว่าเด็กไม่สามารถคิดเองได้” ซึ่งคำพูดนี้ถือว่าเป็นการดูถูกความคิด ความสามารถของเด็กและเยาวชนไทยผู้ที่จะโตขึ้นมาเป็นอนาคตของชาติอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้นยังถึงขั้นส่งเจ้าหน้าที่บุกเข้าไปถึงบ้านของเด็ก สั่งให้เด็กทำการลบรูปภาพต่างๆ

 

โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนคิดว่า ‘พานไหว้ครูสะท้อนภาพการเมือง’ ของเด็กนักเรียนในครั้งนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่ง อันแสดงให้เห็นถึงสติปัญญาของเด็กได้อย่างน่าทึ่ง และดูมีคุณค่าที่สะท้อนให้เป็นไปตาม หรือยิ่งกว่าความหมายเชิงสัญลักษณ์ของดอกไม้ที่กำหนดไว้ทุกประการด้วยซ้ำ กล่าวคือ

 

1. สะท้อนความแหลมคมทางความคิดและสติปัญญาของเด็กนักเรียน ที่มองเห็นถึงปัญหาบ้านเมืองไทยทุกวันนี้ ไม่ต่างจากความหมายของดอกเข็ม

 

2. ล้าที่จะตั้งคำถามต่อปัญหาสังคม ต่อยอดความคิด ไม่ยอมถูกกักขังหรือกรอบไว้เพียงสิ่งที่รัฐสร้างขึ้นมา (อย่างค่านิยม 12 ประการ) อันหมายถึงการแตกฉานในวิชา เหมือนข้าวตอก หรือมีความคิดที่แพร่กระจายไปไกลไม่ต่างจากหญ้าแพรก

 

3. มีความอ่อนน้อม แต่ไม่สยบยอมต่อความอยุติธรรมอันเป็นปัญหาสำคัญ กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง เหมือนดอกมะเขือ

 

พานไหว้ครู

 

ดังนั้นพานไหว้ครูการเมืองนี้จึงหมายถึงสติปัญญาของเด็ก ที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กทุกวันนี้ ‘คิดเป็น’ และไม่ยอมจำนนต่อการกดขี่หรือคล้อยตามสิ่งที่ผู้มีอำนาจกำหนดให้เป็น

 

แม้จะมองว่าเป็นกระแสสังคมก็ตามที่ทำให้คิดเห็นแบบนี้ แต่อย่างน้อยผู้เขียนคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันก็สะท้อนความคิดของเด็ก สะท้อนให้เห็นว่าเด็กตระหนักเห็นถึงปัญหาบางอย่างในสังคมและกล้าที่จะตั้งคำถามกับมัน ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งกว่าการที่เห็นเด็กนักเรียนออกมายืนแถวเรียงหน้ากระดานแล้วกล่าวตามๆ กันอย่างที่ผู้ใหญ่ป้อนข้อมูลไว้ให้

 

พานไหว้ครู

พานไหว้ครู

 

ดังนั้นหากผู้เขียนอยู่ในฐานะครูของเหล่าเด็กที่ทำพานสะท้อนการเมืองในครั้งนี้ ผู้เขียนจะรู้สึกภูมิใจอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าการได้รับพานดอกเข็ม ดอกมะเขือ หญ้าแพรกเสียอีก เพราะพานนี้มันสะท้อนให้เห็นว่าลูกศิษย์ของฉันนั้นคิดเป็น คิดไกล แหลมคม กล้าตั้งคำถาม และไม่สยบยอมต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และผู้เขียนก็อยากจะให้ครูบาจารย์ของเด็กจงภูมิใจต่อกิจกรรมของเด็กในครั้งนี้ ดังความเห็นของครูท่านหนึ่งแสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กที่ผู้เขียนรู้สึกชอบมาก กล่าวว่า

 

“…สำหรับผม พานไหว้ครูที่สำคัญเท่ากับความเคารพที่เด็กมีให้และปฏิบัติต่อผมอย่างจริงใจ การที่เด็กทำพานล้อการเมือง นั่นแสดงว่าเขาคิดเองได้และคิดเองเป็น เขาเห็นความไม่ปกติของบ้านเมืองนี้ ถ้าผมเป็นครูของเด็กเหล่านั้น ผมจะดีใจมากที่เด็กของผมตระหนักว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคน

 

“พานไหว้ครูล้อการเมืองไม่ได้ทำให้ความหมายของความเป็นครูหรือรูปแบบพิธีกรรมถูกลดทอนคุณค่าลง ในทางกลับกัน จิตใจของคนเป็นครูที่คับแคบและไม่ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ต่างหากที่ทำให้คุณค่าของวิชาชีพครูและพิธีกรรมถูกลดทอนลงไป…”

 

เพราะฉะนั้นพานไหว้ครูสะท้อนภาพการเมืองของเหล่าเด็กๆ ผู้กล้าหาญในครั้งนี้ ผู้เขียนจึงคิดว่ามันคือเครื่องบูชาพระคุณของครูที่มีความหมายที่น่าภูมิใจอย่างยิ่ง และ ‘ครู หรือครุ’ ผู้เป็นครู ควรจะภูมิใจกับความคิดของเด็ก และหนักแน่น กล้าหาญ โดดเดี่ยว เช่นเดียวกับสิ่งที่เด็กๆ ผู้กล้าหาญเหล่านี้แสดงความคิดเหล่านี้ออกมา

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising