ไม่เพียงแต่เดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการเท่านั้น แต่การทรานส์ฟอร์มองค์กรและปรับโมเดลธุรกิจ ก็กลายเป็นอีกสองโจทย์ใหญ่ที่ทุกหน่วยงานองค์กรและบริษัททั่วโลกต่างเริ่มให้ความสำคัญ เพื่อการเอาตัวรอดในโลกยุค Digital Disruption เพราะเป็นสิ่งที่เข้าใจดีว่า นี่คือ ‘โอกาสทอง’ ที่ควรจะคว้าเอาไว้
เอสซีจีวางแผนปรับตัวด้วยกลยุทธ์ทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) มานานกว่า 2-3 ปีแล้ว เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเทคโนโลยีในปัจจุบันก็มีราคาถูกลงและถูกดิสรัปต์ง่ายขึ้น
โดยเป้าหมายใหญ่คือ การแสวงหาหนทางใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนองค์กรและสร้างสรรค์นวัตกรรม พร้อมหยิบมาต่อยอดเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัท ซึ่งกลยุทธ์เพิ่มขีดความสามารถองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลของเอสซีจีที่เรากำลังพูดถึงประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
- AddVentures by SCG
- ZERO TO ONE by SCG
- Data Analytics (Technology Integration)
เริ่มต้นที่ AddVentures by SCG หรือกลยุทธ์การเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ หรือก็คือ การที่เอสซีจีเข้าไปร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลที่โดดเด่นทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอื่นๆ เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลโดยตรงภายใต้สโลแกน ‘You Innovate, We Scale’ ซึ่งมาจากเบื้องหลังความคิดที่มองว่า การทำนวัตกรรมในปัจจุบันไม่สามารถทำคนเดียวได้ หรือถ้าทำคนเดียวได้มันก็คงช้าไป
ประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับคือ การมีเทคโนโลยีจากพันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้เข้าไปร่วมลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพมากถึง 13 เจ้าแล้ว (ผ่านกองทุน 2 ราย และลงทุนในสตาร์ทอัพโดยตรง 11 ราย) ก่อนจะสเกลอัพความร่วมมือเป็นระดับบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ในขั้นตอนนี้มากกว่า 6 ราย ขณะที่การสร้างความร่วมมือในฐานะคู่ค้า (Commercial Partnership) กับสตาร์ทอัพ โดยนำผลิตภัณฑ์หรือบริการมาใช้กับธุรกิจต่างๆ ของเอสซีจี ณ วันนี้ก็สูงกว่า 100 ราย
ส่วน ZERO TO ONE by SCG คือสตาร์ทอัพสตูดิโอ (STARTUP STUDIO) ที่ช่วยสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพให้สามารถเติบโดไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยเริ่มสร้างโปรแกรมติดอาวุธกระบวนคิด Digital Mindset ให้กับบุคลากรของเอสซีจี ผ่านกระบวนการ ‘HATCH WALK FLY’
เปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือนเอสซีจีรับบทบาทเป็นแม่ไก่คอยช่วยฟักไข่ให้โอกาสลูกเจี๊ยบ (พนักงาน) แนะนำพวกเขาให้ได้ริเริ่มที่จะหัดเดินผ่านการมีธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นของตัวเอง ก่อนจะส่งเสริมให้บุคลากรเหล่านั้นออกไปโบยบินด้วยธุรกิจที่สร้างขึ้นมา
ดร.จาชชัว แพส SCG Corporate Innovation Director และ Managing Director of AddVentures by SCG เปิดเผยรายละเอียด ZERO TO ONE by SCG ว่าคือโปรแกรมภายในองค์กรที่เสริมให้พนักงานได้เรียนรู้ที่จะคิดค้นนวัตกรรมหรือโซลูชันใหม่ๆ ขึ้นมา สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือบริการแล้วนำมาทดลองกับตลาด ซึ่งหากประสบความสำเร็จและมีผลตอบรับที่ดี เอสซีจีก็จะช่วยยกระดับไปสู่การสเกลอัพให้เกิดเป็นธุรกิจจริงๆ ขึ้นมา โดยในระหว่างทางก็จะคอยช่วยสนับสนุนในทุกขั้นตอน
นอกจากนี้ก็จะมองหาโอกาสในการสร้างสตาร์ทอัพ ผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่สนใจจะพัฒนาธุรกิจร่วมกัน (Venture Builder Program) ทั้งยังนำความรู้และประสบการณ์จากการพัฒนาสตาร์ทอัพที่ผ่านมา กลับไปช่วยสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในกลุ่มธุรกิจหลักและภาพรวมของเอสซีจีได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการสนับสนุนการสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพสตูดิโอในหน่วยธุรกิจย่อยด้วย
ถ้าเปรียบเทียบก็จะเห็นว่า AddVentures by SCG คือการที่เอสซีจีเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพผู้พัฒนานวัตกรรมที่น่าสนใจทั้งในไทยและต่างประเทศ และมองถึงความเป็นไปได้ในการนำมาต่อยอดให้กับธุรกิจในอนาคต ส่วน ZERO TO ONE by SCG จะเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรมในองค์กรเป็นหลัก ด้วยวิธีการเปิดโอกาสและเปลี่ยนวิธีคิดให้พนักงานได้เรียนรู้และริเริ่มที่จะสร้างโซลูชันหรือไอเดียทางธุรกิจ นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเองโดยเริ่มต้นจากศูนย์
สุดท้าย Data Analytics กับเป้าหมายเปลี่ยนให้เอสซีจีเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Organization) นำข้อมูลทั้งหมดที่มีมาแตกเป็นวิธีการหรือกลยุทธ์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับบริษัทได้ตรงจุด ทั้งการนำศาสตร์ด้าน Data Analytics หาข้อมูลเชิงลึกมาช่วยในการตัดสินใจให้ดียิ่งขึ้น หรือ Data Science, Business Intelligence และ Digital Technology เป็นต้น
Rudy สตาร์ทอัพพัฒนาระบบการขาย ตัวอย่างความสำเร็จภายใต้ ZERO TO ONE by SCG
เพื่อให้เห็นภาพความสำเร็จที่จับต้องได้ภายใต้ ZERO TO ONE by SCG THE STANDARD พูดคุยกับทีมงาน ‘Rudy’ สตาร์ทอัพผู้พัฒนาเครื่องมือส่งเสริมการขายและโซลูชัน Crm เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมฟีเจอร์แทร็กกิงข้อมูลทีมขายของบริษัท
พุทธิพงษ์ สิริโชดก ซีอีโอของ Rudy เล่าให้เราฟังว่า แต่เดิมทีมงานของ Rudy ทุกคนเป็นพนักงานของเอสซีจีในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมาก่อน โดยได้เริ่มต้นพัฒนาโปรเจกต์จากการเก็บข้อมูลปัญหาเพนพอยต์ที่พบเจอ ก่อนจะนำเสนอเพื่อเข้าสู่ ZERO TO ONE by SCG ตั้งแต่เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว โดยถือเป็นทีมรุ่นบุกเบิกของโครงการ (นับเป็น 1 ใน 4 สตาร์ทอัพของ ZERO TO ONE by SCG ในสเตจ Fly)
“แพลตฟอร์มของเราถูกออกแบบมาสำหรับส่งเสริมการจัดจำหน่ายสินค้า โดยได้ถูกนำมายกระดับและบูรณาการกับภาคธุรกิจของเอสซีจีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ที่จะได้ใช้งานแพลตฟอร์มและระบบของ Rudy ก็จะเป็นเจ้าของธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง รวมถึงเจ้าของโรงงานในฝั่งซัพพลายเออร์
“ที่สำคัญ ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในขั้นตอนทดสอบแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้รับเหมาสามารถสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างของเอสซีจีได้โดยตรง ซึ่งในอนาคตจะถูกขยายการใช้งานไปยังภาคผู้บริโภคทั่วไปด้วย โดยความสามารถพิเศษของมันคือ การคำนวณคะแนนว่าผู้ซื้อแต่ละคนเคยซื้อสินค้าอะไร ชนิดใด และเชื่อมต่อกลับไปยังหลังบ้านของเอสซีจี เพื่อให้สามารถคาดการณ์สินค้าที่ผู้ซื้อน่าจะสนใจ และแนะนำผู้บริโภคได้ตรงตามความต้องการ”
พุทธิพงษ์บอกถึงสถานะของ Rudy ในปัจจุบันว่า เปรียบเหมือน ‘Internal Startup’ ในสเตจ Fly และเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ (Entrepreneur) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนอกจากเอสซีจีที่เป็นผู้สนับสนุนหลักแล้ว ทีมยังจะได้รับโอกาสการสนับสนุนการลงทุนแบบ VC จากบริษัทอื่นๆ เพื่อต่อยอดพัฒนาในอนาคต
กลยุทธ์สเกลอัพต่อจากนี้ของ SCG Digital Transformation
ดุสิต ชัยรัตน์ Corporate Venture Capital Fund Manager of AddVentures by SCG เปิดเผยว่า แผนการต่อจากนี้ของ AddVentures by SCG จะเน้นการขยายออกไปลงทุนกับสตาร์ทอัพเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับ Global มากขึ้น จากเดิมที่จะเน้นการลงทุนกับสตาร์ทอัพในไทยและอาเซียนเป็นหลัก
เช่น เริ่มขยายไปลงทุนกับสตาร์ทอัพในประเทศจีน อินเดีย หรือสหรัฐฯ เพื่อมองหาความเป็นไปได้และโอกาสในการนำเทคโนโลยีมาสเกลอัพต่อในอาเซียน โดยคาดว่า จะมีสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ที่เอสซีจีเข้าไปลงทุนอย่างน้อย 2-3 ราย
ด้าน วสันต์ ภักดีสัตยพงศ์ Head of Deeptech Innovation And Head of ZERO TO ONE by SCG กล่าวว่า ปัจจุบันมีทีมสตาร์ทอัพใน ZERO TO ONE by SCG ในสเตจ Fly จำนวน 4 รายแล้ว ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้จะเริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในระบบนิเวศของไทยมากขึ้น
สำคัญที่สุดคือ เอสซีจีจะมองหากลยุทธ์การเร่งนวัตกรรมในองค์กร เพื่อช่วยให้ Internal Startup สามารถพัฒนาธุรกิจที่ดำเนินได้แบบติดจรวดกว่าเดิม พร้อมนำกลุ่มรุ่นพี่ Founder สตาร์ทอัพจากโครงการที่ประสบความสำเร็จจากแบตช์ก่อนๆ มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับรุ่นน้อง โดยภายในปี 2562 นี้ คาดว่าเอสซีจีจะสามารถสร้างธุรกิจใหม่จากสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 4-6 ราย
นอกจากนี้ทางเอสซีจียังมองถึงความเป็นไปได้และโอกาสการสร้างสตาร์ทอัพผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่สนใจจะพัฒนาธุรกิจร่วมกัน (Venture Builder Program) อีกด้วย เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสตาร์ทอัพนั้นๆ โดย ณ ปัจจุบันได้เริ่มทดลองความร่วมมือในลักษณะนี้แล้วกับบริษัททั้งหมด 2 แห่ง
ขณะที่เป้าหมายของ Data Analytics ที่เอสซีจีจะให้ความสำคัญนั่นคือ การนำข้อมูลทั้งหมดที่บริษัทมีอยู่ในมือมาใช้ในการวิเคราะห์ แล้วนำไปต่อยอดพัฒนาสินค้า บริการ และกระบวนการทำงานในองค์กร ให้ตอบโจทย์แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ตรงจุด ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย แถมยังประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น AI, แมชชีน เลิร์นนิง, AR, VR และ Blockchain
นับเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นและพิมพ์เขียวเบิกทางสู่ความสำเร็จของเอสซีจีที่ท้าทายและน่าจับตามองเป็นอย่างมาก เชื่อเหลือเกินว่า ในเร็วๆ นี้ เราน่าจะได้เห็นสตาร์ทอัพที่มาจากโครงการ ZERO TO ONE by SCG โลดแล่นในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและธุรกิจไทยได้อย่างโดดเด่น เช่นเดียวกันกับเอสซีจีที่น่าจะมีอาวุธนวัตกรรมจาก AddVentures by SCG มาเสริมความแข็งแกร่งอุดช่องโหว่ขององค์กรในทุกมิติ
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ bit.ly/2WJeZok
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล