วันนี้ (14 มิ.ย.) นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมยุงลาย ระหว่าง 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร
พร้อมระบุที่มาของความร่วมมือครั้งนี้ว่า เป็นความร่วมมือต่อเนื่องฉบับที่ 3 โดยมีกรอบความร่วมมือตั้งแต่ปี 2562-2566 โดยครั้งนี้ได้ยกระดับความร่วมมือจากการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก มาเป็นการกำจัดลูกน้ำยุงลาย เพื่อป้องกันครอบคลุม 3 โรคที่มียุงลายเป็นพาหะคือ โรคไข้เลือดออก, โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
นอกจากนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อไปว่า ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้มีมติร่วมกันกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีเป็น ‘วันไข้เลือดออกอาเซียน’ (ASEAN Dengue Day) ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งให้ทุกกรมและกองต่างๆ ได้สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งภายใน ภายนอกอาคารของหน่วยงานตนเอง และบริเวณโดยรอบอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ตลอดเดือนกรกฎาคม และมีประกาศกำหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นเหตุรําคาญ พ.ศ. 2545
โดยหากพบว่าอาคารหรือสถานที่ใดของเอกชนมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และไม่ปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำการควบคุมและป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุงภายในเวลาที่กำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า แต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีทั่วโลกประมาณ 50-100 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีการระบาดมากกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วย 28,785 ราย ซึ่งมากกว่าปี พ.ศ. 2561 ถึง 1.7 เท่า คาดว่าตลอดทั้งปีจะพบผู้ป่วยถึง 100,000 ราย ปัจจุบันมีผู้ป่วยเสียชีวิต 43 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.15 ของผู้ป่วยทั้งหมด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: