เป็นคำถามยอดฮิตว่า หากเป็นสาวโสดจำเป็นต้องตรวจภายในหรือไม่
คำตอบของสูติแพทย์ คือ ‘จำเป็นต้องตรวจค่ะ’
ขออธิบายเรื่องการตรวจภายในก่อนนะคะ การตรวจภายในเป็นการตรวจโดยแพทย์ ที่องค์การอนามัยโลกประกาศยกย่องอย่างเป็นทางการว่า เป็นการตรวจที่คุ้มค่าที่สุดเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายและเวลาที่เสียไป มีประสิทธิภาพ
ในการวินิจฉัยโรคในเบื้องต้นใช้เวลาไม่เกิน 5 นาทีเท่านั้น แต่ได้ข้อมูลทางสุขภาพภายในมาอย่างครบถ้วน ทั้งยังเป็นการตรวจอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกและอวัยวะสืบพันธุ์ภายในคุณผู้หญิง ด้วยการใส่เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอดที่มีลักษณะคล้ายปากเป็ด (Speculum) ซึ่งจะเลือกขนาดที่เหมาะสมกับส่วนนั้นของผู้หญิง และด้วยการคลำช่องท้อง เพื่อตรวจมดลูก ปีกมดลูก และรังไข่
เรายังสามารถตรวจหาพยาธิสภาพทางนรีเวช เช่น การอักเสบ ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื้องอก มะเร็งของช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก รังไข่ ตรวจหาพยาธิสภาพทางสูติกรรม เช่น แท้ง ตั้งครรภ์ผิดปกติ และยังสามารถตรวจหาพยาธิ รวมทั้งสภาพของอวัยวะใกล้เคียงกับช่องคลอด ได้แก่ ริดสีดวงทวารหนัก ติ่งเนื้อทวารหนัก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนักได้อีกด้วยค่ะ
นอกจากนั้น การตรวจภายในนี้ยังสามารถช่วยตรวจคัดกรองหามะเร็งปากมดลูกและตรวจหาไวรัสเอชพีวีที่ก่อมะเร็งปากมดลูกได้ในขณะเดียวกัน โดยใช้เครื่องมือเก็บเซลล์ที่ปากมดลูก ตรวจหามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้นที่เรียกว่า แป๊ปสเมียร์ (Pap smear) ในการตรวจหาดีเอ็นเอของไวรัสเอชพีวี
ควรตรวจภายในเมื่ออายุเท่าไร?
วิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (ACOG) แนะนำว่า ผู้หญิงอายุ 21 ปีขึ้นไป แม้ไม่มีอาการผิดปกติ แนะนำให้ตรวจภายในเป็นการตรวจร่างกายประจำปี คัดกรองหามะเร็งปากมดลูก และคัดกรองการติดเชื้อโรค ตั้งแต่เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ไปจนถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ
สำหรับผู้หญิงทุกวัย หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีแผล แสบคันอวัยวะสืบพันธ์ุภายนอก มีตกขาวผิดปกติ มีเลือดออกผิดปกติ ควรได้รับการตรวจภายในทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบระยะการตรวจ
ในทางการแพทย์ หมอแนะนำให้ตรวจภายในเป็นโปรแกรมการตรวจร่างกายทุกๆ 1 ปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติ
สรุปว่า ไม่ว่าจะสาวโสด ไม่โสด หรือไม่เคยโดนสอดใส่ อายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป ควรตรวจภายในทุกปี แม้สาวโสดจะเสี่ยงน้อยต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก แต่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคภายใน เช่น เสี่ยงต่อการเกิดช่องคลอดอักเสบ เชื้อราในช่องคลอด เนื้องอกมดลูก ถุงน้ำรังไข่ ช็อกโกแลตซีสต์ มะเร็งโพรงมดลูก และมะเร็งรังไข่ เป็นต้น
คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ขณะตรวจภายใน
ขณะตรวจภายใน แนะให้ทำใจให้สบาย บอกแพทย์ได้หากกลัวเจ็บ หรือไม่เคยตรวจมาก่อน เพื่อเลือกใช้เครื่องมือขนาดเล็กให้อุ่นใจ เพื่อไม่กลัวหรือเข็ดขยาดจากการตรวจภายในและไม่รู้สึกเกร็ง โดยปกติแล้วคุณหมอจะมีผู้ช่วยคอยดูแลให้อุ่นใจอีกมือขณะตรวจ ดังนั้นหากรู้สึกเจ็บ ไม่สบายตัวสบายใจในการตรวจ สามารถบอกแพทย์หรือผู้ช่วยเหลือได้ทุกเมื่อค่ะ
อ่านเรื่อง เครียดแล้วคัน (น้องสาว) ความสัมพันธ์ที่ไม่ควรมองข้าม ได้ที่นี่
ภาพประกอบ: preawwoo
Giphy: giphy.com
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า