Ars Longa, Vita Brevis
ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น
ทุกวันนี้ ภาครัฐในหลายประเทศหันมาสนับสนุนวงการศิลปะอย่างจริงจัง พวกเขาเชื่อว่าศิลปะจะช่วยเยียวยา รักษา และสร้างความศิวิไลซ์ให้แก่บ้านเมืองได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ที่พยายามสร้างรากฐานทางวัฒนธรรมให้แก่ตนเอง สนับสนุนงานวรรณกรรมท้องถิ่นแก่นักเขียนรุ่นใหม่ เปิดพื้นที่ปล่อยของให้เหล่าคนมีของโชว์กันตามพื้นที่สาธารณะของเมือง, ฮ่องกง เขตปกครองพิเศษของสาธารณรัฐประชาชนจีน ออกนโยบายอนุรักษ์ตึกเก่า พยายามเปลี่ยนตึกทรงคุณค่าเหล่านั้นให้กลายเป็นคอมมูนิตี้งานอาร์ต แม้แต่ไต้หวันเองก็ผุดมิวเซียม พร้อมงานดีๆ มาลงอย่างต่อเนื่อง ชวนให้ประชาชนออกมาชมงานศิลป์แทนการเที่ยวห้างสรรพสินค้าทั่วไป
กลับมาดูที่บ้านเรา แม้รัฐบาลนี้จะไม่โดดเด่นในเรื่องการสนับสนุนงานศิลป์ แต่ก็มีโครงการดีๆ ผุดออกมาให้ชื่นใจกันบ้าง หนึ่งในนั้นคือ Early Years Project ของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว จากแผนทั้งหมด 5 ปี แต่ถึงจะจัดมานาน ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยฉงนสงสัยว่า Early Years Project คืออะไร และดีอย่างไรต่อศิลปินรุ่นใหม่
Early Years Project โครงการดีสำหรับศิลปินหน้าใหม่
Early Years Project เป็นโครงการบ่มเพาะศิลปินที่อยู่ในช่วงเริ่มทำงาน มีจุดประสงค์เพื่อผลักดันศิลปินรุ่นใหม่ให้สามารถพัฒนาเส้นทางทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ศิลปินที่เข้าร่วมโครงการได้ จะต้องผ่านการเวิร์กช็อป เรียนรู้กระบวนการทำงานศิลป์แบบครบวงจร ตั้งแต่การสร้างสรรค์งาน การจัดแสดง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การถูกวิพากษ์ถกเถียง วิจารณ์ในมุมมองที่หลากหลาย โดย BACC เป็นผู้ออกทุนให้ทั้งหมด
ผลงานทั้งหมดจากผู้ร่วมโครงการจะถูกนำมาจัดแสดงยังหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร และถูกตัดสินโดยคณะกรรมการอีกครั้งให้เหลือเพียง 2 ชิ้น ศิลปินของทั้ง 2 ผลงานนี้จะได้รับทุนสนับสนุนการเดินทางของศิลปิน (Mobility Funding) และทุนศิลปินพำนัก (Residency Funding) ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของชีวิตเลยก็ว่าได้
เมื่อใครๆ ก็เป็นศิลปินได้ แต่ยึดเป็นอาชีพนั้นคงมีน้อยเป็นหยิบมือ สิ่งที่บ้านเราขาดคือโอกาสอันดีที่ทำให้ศิลปินรุ่นใหม่สามารถฉายแสงได้ ซึ่งโครงการ Early Years Project ก็ตอบโจทย์ได้ดีตรงจุดนั้น
ศิลปินในโครงการ Early Years Project #4 มีใครบ้าง
จากผลงานของศิลปินหน้าใหม่ที่ส่งเข้ามาคัดเลือกทั้งหมด ทาง BACC ได้คัดผู้เข้ารอบทั้งหมด 8 คน ได้แก่
(ชื่อ เรียงตามหมายเลขจากซ้ายไปขวา แถวบน 1-4, แถวล่าง 5-8)
1. กรธนัท พิพัฒน์ (2537, กรุงเทพมหานคร)
ผลงาน: Capital Memorial
2. จัน เพ็ญจันทร์ ลาซูส (2534, กรุงเทพมหานคร)
ผลงาน: Eye your ears
3. เดชา ดีวิเศษ (2537, ชัยภูมิ)
ผลงาน: DE CHA
4. ทิวไพร บัวลอย (2536, สุราษฎร์ธานี)
ผลงาน: I will always think of you fondly
5. นัทธมน เปรมสำราญ (2536, สมุทรสาคร)
ผลงาน: PART
6. ปานวัตร เมืองมูล (2533, นครปฐม)
ผลงาน: Identity (2019)
7. วรวุฒิ ช้างทอง (2535, สมุทรปราการ)
ผลงาน: DAY BARBER SHOP
8. วิรดา บรรเจิดรุ่งขจร (2536, กรุงเทพมหานคร)
ผลงาน: find me a house, 2019
ประสบการณ์ การวิพากษ์ และเครือข่ายศิลปิน
มักมีคำถามตามมาว่า การเข้าร่วม Early Years Project นั้นส่งผลดีต่อศิลปินอย่างไร อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ศิลปินทุกคนที่ร่วมโครงการจะต้องร่วมเวิร์กช็อปผลิตงานศิลป์พร้อมจัดแสดง และถูกวิพากษ์จากบุคคลหลากหลายมุมมอง แน่นอนว่าการร่วมกิจกรรมเหล่านี้ย่อมสร้างประสบการณ์ทางอาชีพจริงให้เกิดขึ้น ทำให้ผู้เข้าร่วมทราบขั้นตอนการทำงานต่างๆ เปิดโลก สร้างแรงบันดาลใจ ทราบมุมมองใหม่ๆ จากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่มีต่อผลงานตน ที่สำคัญคือสร้างเครือข่ายศิลปิน ทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ต่อยอด ถักทอ ช่วยกันสร้างสายใยให้เป็นปึกแผ่น ฝ่ายผู้ชมก็ได้ชมผลงานสดใหม่จากศิลปินหน้าใหม่ๆ ไม่ใช่หน้าเดิมๆ
ตามแผนเดิม Early Years Project จะทำต่อเนื่องทั้งหมด 5 ปี โดยปีนี้จัดเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันแล้ว ใครที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการ ปีหน้ายังมีอีกแน่นอน เราแนะนำให้คุณลองไปศึกษาข้อมูลได้ที่แฟนเพจของ Early Years Project: www.facebook.com/EarlyYearsProject และอย่าลืมตามไปให้กำลังใจและดูผลงานของพวกเขาได้ ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้จนถึง 28 กรกฎาคม 2562