ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผย ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาด้วยสารสกัดน้ำมันกัญชาอย่างถูกต้องควรได้รับการรักษาและสั่งจ่ายโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรของกรมการแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทยเท่านั้น
วันนี้ (21 พ.ค.) นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่ากระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ต้องการรักษาด้วยสารสกัดน้ำมันกัญชา โดยผู้ป่วยไม่สามารถนำมาใช้รักษาโรคได้ด้วยตนเอง ฉะนั้นต้องได้รับการรักษา สั่งจ่าย และควบคุมจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรของกรมการแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทย เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัย ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิผล มีความเป็นธรรมในการเข้าถึงการรักษา
นอกจากนี้นายแพทย์สุขุมเผยต่อว่ายังได้มอบหมายให้กรมการแพทย์จัดอบรมการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แก่แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ทั้งหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขและนอกกระทรวงสาธารณสุข เช่น กรุงเทพมหานคร, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, สภากาชาดไทย, มหาวิทยาลัย, เอกชน และบุคคล
ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 กำหนดจัด 6 รุ่น ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงกันยายน และรุ่นพิเศษสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 17-18 มิถุนายน 2562 ขณะนี้อบรมรุ่นที่ 1 แล้ว มีผู้ผ่านการประเมิน 175 คนจากที่เข้ารับการอบรม 192 คน รุ่นที่ 2 จะอบรมวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2562
โดยในขณะนี้ได้ทำการเปิดลงทะเบียนออนไลน์รุ่นที่ 3-6 พร้อมกันทางเว็บไซต์กรมการแพทย์ www.dms.moph.go.th/dms2559 จำนวนรุ่นละ 300 คน และได้ให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอบรมวิทยากร (ครู ก.) ในหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยแก่แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ เภสัชกร หมอพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 29-30 เมษายน 2562 มีผู้ผ่านการประเมิน 157 คนจากที่อบรมทั้งหมด 172 คน โดยวิทยากร (ครู ก.) จะไปขยายผลอบรมแก่บุคลากรในระดับเขตสุขภาพและ กทม. ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2562
ทั้งนี้ในการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ใช้ในการดูแลรักษาและควบคุมอาการของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล ไม่แนะนำให้ใช้เป็นการรักษาเริ่มต้น โดยใช้รักษาใน 3 กลุ่ม ดังนี้
1. สารสกัดกัญชาได้ประโยชน์ในการรักษา ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนชัดเจน ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล
2. สารสกัดกัญชาน่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการ ซึ่งควรมีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนหรือการวิจัยเพิ่มเติม เช่น โรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล โรคปลอกประสาทอักเสบ ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
3. สารสกัดกัญชาอาจมีประโยชน์ในการรักษา แต่ยังขาดข้อมูลจากการวิจัยสนับสนุนที่ชัดเจนเพียงพอในด้านความปลอดภัยและประสิทธิผล ซึ่งต้องศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองก่อนนำมาศึกษาวิจัยในมนุษย์ เช่น การรักษามะเร็ง และโรคอื่นๆ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: