×

ทิปส์ชะลอวัยจากนักบินอวกาศคู่แฝด

17.05.2019
  • LOADING...
NASA Twins Study

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • งานวิจัย Twins Study พิสูจน์ให้เห็นว่าร่างกายของเราเป็นเครื่องจักรทางชีวภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของยีนที่เพิ่มหรือลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลักษณะประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ หรือแม้แต่ความยาวของเทโลเมียร์ที่เป็นตัวบ่งชี้อายุทางชีวภาพก็ยาวขึ้นและหดสั้นลงได้ตามแต่สิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิต
  • แม้ยีนจะเป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ แต่การเลือกใช้ชีวิตเป็นสิ่งที่เรากำหนดเองได้

ของสะสมของคนเราเปลี่ยนไปตามอายุและบริบทในชีวิต

 

สมัยวัยเยาว์เราอาจสะสมตุ๊กตา หุ่นยนต์ เครื่องเขียน

 

พอเข้าสู่วัยรุ่นก็เขยิบมาเป็นกระเป๋า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา หนัง เพลง

 

เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เริ่มมีเงินเก็บ ก็อาจขยับขึ้นไปเป็นของที่ต้องลงทุนมากขึ้น เช่น เครื่องเสียง เครื่องประดับ กิ๊ก หรือนาฬิกา (ที่อาจยืมเพื่อนมา)

 

แต่หากคุณเป็นเศรษฐีพันล้านระดับโลกขึ้นมา คุณจะสะสมอะไร

 

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มหาเศรษฐีระดับโลกหลายคนตอบตรงกันว่าพวกเขาอยากสะสมดวงดาว!

 

NASA Twins Study

Photo: AFP

 

การลงทุนเพื่อหาวิธีการเดินทางไปยังดาวเคราะห์ต่างๆ ในระบบสุริยจักรวาลกำลังเป็นเทรนด์ฮิตของมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์, พอล อัลเลน, ริชาร์ด แบรนสัน ต่างใฝ่ฝันที่จะถือครองสัมปทานทรัพยากรในอวกาศ และล่าสุด เจฟฟ์ เบโซส์ เจ้าของเว็บไซต์ Amazon ก็เพิ่งเปิดตัวยานต้นแบบ Blue Origin ซึ่งเป็นยานอวกาศที่เบโซส์คาดหวังว่าจะพาพวกเราไปยังดวงจันทร์ได้ในอนาคตอันใกล้ เบโซส์ยังมีแผนที่ไกลไปกว่านั้น เมื่อมนุษย์สามารถเดินทางไปยังอวกาศและอยู่อาศัยได้สะดวกขึ้น เขาหวังจะสร้างโรงงานในอวกาศเพื่อผลิตโครงสร้างขนาดใหญ่ซึ่งผลิตได้ยากบนพื้นโลกที่มีกฎของแรงโน้มถ่วงเป็นอุปสรรค

 

แต่คำถามที่นักชีววิทยาและแพทย์ยังหาคำตอบไม่ได้คือร่างกายมนุษย์เราจะตอบสนองและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหากต้องอาศัยอยู่ในอวกาศ องค์กรที่ทุ่มเทให้กับการศึกษาเรื่องอวกาศอย่าง NASA เองก็อยากได้คำตอบในเรื่องนี้ จึงเกิดงานวิจัยดังระดับโลกที่ชื่อว่า NASA’s Twins Study

 

NASA Twins Study

Photo: NASA

 

โดยในงานวิจัยนี้มีกลุ่มตัวอย่างสองคนคือ สกอตต์ และมาร์ก เคลลี ทั้งสองเป็นแฝดไข่ใบเดียวกัน (Identical twins) ซึ่งหมายความว่ารหัสพันธุกรรมของทั้งสองนั้นเหมือนกัน และทั้งสองต่างก็เป็นนักบินอวกาศเหมือนกันด้วย สกอตต์ถูกส่งให้ขึ้นไปอยู่บนสถานีอวกาศเป็นเวลา 1 ปี (2015-2016) ในขณะที่มาร์กต้องอยู่บนพื้นโลกเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลง

 

ค่าชี้วัดทางสุขภาพของทั้งสองถูกเก็บโดยละเอียดตั้งแต่ก่อนเริ่มการทดลอง ขณะทดลองแยกกันอยู่ และหลังจากสกอตต์กลับมาสู่พื้นโลก รวมเวลาทั้งหมด 25 เดือน การเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพมากมายเกิดขึ้นกับสกอตต์ขณะที่เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานีอวกาศ โดยอาจสรุปประเด็นที่น่าสนใจได้ดังนี้

 

ความยาวของเทโลเมียร์ (ส่วนปลายของสายดีเอ็นเอที่หดสั้นลงสวนทางกับอายุที่เพิ่มขึ้น ความยาวของเทโลเมียร์จึงมักถูกนำมาใช้เป็นตัวบ่งชี้ Biological age ในการทดลอง) พบว่าเทโลเมียร์จากเซลล์เม็ดเลือดขาวของสกอตต์ยาวขึ้นขณะอาศัยอยู่ในอวกาศ สวนทางกับความคาดหวังของนักวิจัย (เพราะสภาพแวดล้อมอันตึงเครียด ความเหงา และระดับความเข้มของรังสีต่างๆ น่าจะส่งผลลบต่อเทโลเมียร์)

 

แต่เมื่อสกอตต์กลับมายังพื้นโลกได้ไม่นาน ระดับของเทโลเมียร์ก็หดสั้นลงมาจนไม่ต่างกับมาร์ก นั่นหมายความมีปัจจัยบางอย่างในอวกาศที่ส่งผลดีต่อความยาวของเทโลเมียร์

 

การแสดงออกของยีน สิ่งแวดล้อมในอวกาศ โดยเฉพาะระดับรังสีที่เข้มข้นกว่าบนพื้นโลกมีผลต่อการแสดงออกของยีน โดยเฉพาะยีนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันและการกลายพันธุ์ของยีนบางตำแหน่งซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งได้ในอนาคต นำไปสู่สมมติฐานว่าหากมนุษย์เราต้องอาศัยอยู่ในอวกาศเป็นเวลานานมากๆ อาจเกิดการกลายพันธุ์สะสมจนเป็นมะเร็งได้

 

การอักเสบในระดับโมเลกุล พบว่าการอยู่ในอวกาศส่งผลต่อการอักเสบในระดับโมเลกุลที่มากขึ้น ซึ่งการอักเสบนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

 

ประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ขณะอยู่ในอวกาศ ซึ่งอาจเป็นผลจากอาหารของนักบินและสิ่งแวดล้อม แต่ประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ของสกอตต์ก็กลับคืนสู่ปกติในเวลาไม่นานหลังกลับคืนสู่พื้นโลก

 

NASA Twins Study

Photo: phys.org

 

งานวิจัยนี้มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ โดยเฉพาะจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่มีเพียง 2 คน แต่ก็เป็นงานวิจัยดังระดับโลกที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และจุดประกายความคิดเรื่องสุขภาพในหลายประเด็น เบโซส์เองอาจกำลังศึกษางานวิจัย Twins Study และฟิตร่างกายของเขาให้พร้อมกับการออกไปสร้างโรงงานในอวกาศ

 

สำหรับพวกเราแล้ว การไปสร้างโรงงานในอวกาศยังอาจเป็นเรื่องไกลตัวนัก แต่งานวิจัยนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าร่างกายของเราเป็นเครื่องจักรทางชีวภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของยีนที่เพิ่มหรือลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลักษณะประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ หรือแม้แต่ความยาวของเทโลเมียร์ที่เป็นตัวบ่งชี้อายุทางชีวภาพก็ยาวขึ้นและหดสั้นลงได้ตามแต่สิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิต

 

แม้ยีนจะเป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ แต่การเลือกใช้ชีวิตเป็นสิ่งที่เรากำหนดเองได้ และส่งผลถึงการแสดงออกของยีน

 

ถ้าการท่องเที่ยวไปยังอวกาศคือหนึ่งใน Things to do before you die ของคุณ เริ่มต้นดูแลร่างกายให้ดีตั้งแต่วันนี้ก็ยังไม่สายเกินไปนะคะ เพราะอีกไม่กี่สิบปี เราอาจซื้อตั๋วไปเที่ยวดวงจันทร์ผ่าน Amazon กันได้ไม่ยากเย็น

 

อ่านเรื่อง เจฟฟ์ เบโซส์ นำ Blue Origin เปิดตัวต้นแบบยานอวกาศเดินทางไปดวงจันทร์ Blue Moon เชื่ออาจเดินทางทันปี 2024 ได้ที่นี่

 

ภาพ: NASA

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • Garrett-Bakelman, Francine E., et al. “The NASA Twins Study: A multidimensional analysis of a year-long human spaceflight.” Science 364.6436 (2019): eaau8650.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X