×

ตะลุยกินหลวงพระบาง กับ 6 ร้านอร่อยพื้นถิ่นเปรมกระเพาะ

10.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • เมืองหลวงพระบางยามนี้กำลังถูกหลอมรวมเข้ากับความร่วมสมัยอย่างกลมกล่อม โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์การกิน ดื่ม ซึ่งถือเป็นวิถีหลักเลย ก่อเกิดร้านรวงท่ามกลางสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียลมากมาย
  • Saffron Coffee มีมุมให้เลือกนั่งจิบกาแฟทั้งในคาเฟ่บ้านเก่าสไตล์โคโลเนียลตกแต่งอย่างร่วมสมัย และชานระเบียงริมฝั่งแม่น้ำโขง

ช่องหน้าต่างบานเล็กของหอพระวัดเชียงทอง ณ เมืองหลวงพระบาง ที่ผู้มาเยือนต่างยอมลอดตัวโผล่หน้าเพื่อถ่ายภาพเก็บไว้ พระเจ้าชัยไชยเชษฐาธิราชคงไม่อาจรับรู้ได้ว่า วัดที่พระองค์ทรงรังสรรค์ขึ้นได้กลายมาเป็นจุด Photogenic ของผู้คนทั่วโลกไปแล้วในปัจจุบัน เพราะทุกครั้งที่มนุษย์ทุกเชื้อชาติลอดผ่าน นั่นสื่อความว่า พวกเขาให้ความน้อมรับต่อความงดงามด้านสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และเมืองมรดกโลกแห่งนี้ด้วยใจพิสุทธิ์

 

มรดกตกทอดทางอารยะไม่อาจเป็นเสน่ห์ดึงดูดหนึ่งเดียว หากช่วงโมงยามนี้ ‘เมืองหลวงพระบาง’ กำลังถูกหลอมรวมเข้ากับความร่วมสมัยอย่างกลมกล่อม โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์การกิน ดื่ม ซึ่งถือเป็นวิถีหลักเลยก็ว่าได้ ก่อเกิดร้านรวงท่ามกลางสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียลมากมาย รอให้ผู้มาเยือนได้ค้นหาและอิ่มเอมกับเมนูท้องถิ่น คาเฟ่กาแฟหอมกรุ่น สบายพุงพร้อมอร่อยอย่างมีความสุขกลับไป

 

 

เริ่มต้นความแซ่บจัดจ้านของทริปด้วย ตำบักหุ่ง เจ๊ติ๋ม ร้านตั้งอยู่บริเวณประตูข้างวัดสีควนเมือง เยื้องฝั่งตรงข้ามถนนมาเล็กน้อย พื้นที่ร้านกว้างขนาดกะทัดรัด จัดวางโต๊ะให้บริการ 7-8 โต๊ะ โดยเจ๊ติ๋ม เจ้าของร้านนั่งตำบักหุ่งอย่างขะมักเขม้นอยู่หน้าร้านกันเลย มะละกอชิ้นใหญ่เฉือนบางเนื้อนุ่มกรอบกำลังดี ผสานคลุกเคล้าเข้ากับเครื่องปรุงรสชาติแซ่บหลาย แม้บางร้านชื่อดังในกรุงเทพฯ จะพยายามเลียนแบบ แต่ก็เรียกได้ว่า รสชาติยังคนละชั้นกับต้นตำรับ เนื่องด้วยวัตถุดิบเฉพาะพื้นถิ่นดินหลวงพระบาง โดยเฉพาะมะละกอและมะเขือเทศนานาชนิด น้ำปลาร้า และน้ำปูนาบดเคี่ยวกับสมุนไพรสูตรชนชาวลาวที่ยากจะเลียนแบบได้ และสาเหตุที่ต้องเฉือนมะละกอเป็นแผ่นนั้น คาดเดาว่า น่าจะเกิดจากความสะดวกสบายในการทำที่ช่วยประหยัดเวลามากกว่าการสับ รวมถึงเวลาตักรับประทานจะได้รสชาติแซ่บเต็มคำยิ่งขึ้น และเมนูที่ต้องสั่งมาคู่เคียงเลย ได้แก่ ไก่ย่าง ไส้อั่ว และแหนมทอด ก็อร่อยไม่แพ้กัน อิ่มหนำสำราญท้องในราคาสมเหตุสมผล กินแล้วอยากกินอีกเลยล่ะ

 

 

ไม่ไกลจากร้านตำบักหุ่ง เจ๊ติ๋ม เราเดินบนถนนเลียบแม่น้ำโขงมาถึงคาเฟ่ริมโขงบรรยากาศดี๊ดี Saffron Coffee มีมุมให้เลือกนั่งจิบกาแฟทั้งในคาเฟ่บ้านเก่าสไตล์โคโลเนียลตกแต่งอย่างร่วมสมัย และชานระเบียงริมฝั่งแม่น้ำโขง

 

ทุกการสิ้นสุดย่อมนำมาซึ่งจุดเริ่มต้นใหม่เสมอ… ประโยคนี้ใช้กับ Saffron Coffee  ได้เป็นอย่างดี เพราะหากฟาร์มไก่อันเป็นธุรกิจแรกเริ่มของผู้ก่อตั้งไม่เจ๊งจากโรคไข้หวัดนกไปเสียก่อน ร้านกาแฟแห่งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น

 

 

ปัจจุบันที่นี่กลายเป็นรายได้หลักให้เกษตรกรชาวลาวที่ประกอบอาชีพทำไร่กาแฟกว่า 800 ครัวเรือน โดยเคล็ดลับรสชาติกาแฟกลมกล่อม กรุ่นกลิ่นหอมให้ความใส่ใจกันตั้งแต่กรรมวิธีการปลูกที่เรียกว่า Shade-Grow Coffee หรือการปลูกต้นกาแฟไว้ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่แบบออร์แกนิก ซึ่งถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด แม้จะให้ผลผลิตช้าก็ตามที ตามมาด้วยกระบวนการคั่วเมล็ดสุดประณีตบรรจง เพื่อให้ได้รสชาติและความหอมตามแบบฉบับของ Saffron

 

 

เมนูที่อยากให้ลองเลยคือ Cold Brew กาแฟสกัดเย็นที่คงรสชาติความสดชื่น หอมหวาน ของเมล็ดกาแฟออร์แกนิกบนยอดเขาธรรมชาติไว้ได้อย่างครบถ้วน ได้จิบคู่กับเบเกอรีอบใหม่ อย่างเค้กต่างๆ หรือบราวนี่ เมื่อกาแฟดี เบเกอรีอร่อย แถมด้วยความชิลริมฝั่งแม่น้ำ ก็ไม่แปลกที่ใครๆ จะหลงรักความสุขนิยมเช่นนี้      

 

 

สำหรับใครก็ตามที่อยากโดนอาหารท้องถิ่นแบบเยอะจนแทบรับประทานไม่หมดในราคาสบายกระเป๋า ขอแนะนำเลยที่ ตลาดมืด กับเมนูข้าวเปียกลาวข้างพระราชวังหลวงพระบาง ถึงตัวร้านจะอยู่ริมทาง แต่รสชาติระดับภัตตาคารเลยทีเดียว ที่ตั้งของร้านก็หาไม่ยาก ตั้งอยู่ห่างจากประตูทางเข้าพระราชวังฯ นิดเดียว ก็จะมองเห็นร้านที่ตั้งอยู่หัวมุมถนนฝั่งตรงข้ามซอยกำแพงพระราชวัง

 

 

เมนูข้าวเปียกลาวหน้าตาอาจดูคล้ายก๋วยเตี๋ยวน้ำใสบ้านเรา แต่น้ำซุปเน้นใส่หอมแดงเจียว ตัวเส้นลักษณะคล้ายเส้นขนมจีน ใส่เนื้อหมูชิ้น หมูยอ และลูกชิ้น รับประทานคู่กับผักสดนานาชนิด อาทิ ถั่วฝักยาว ผักสลัด ต้นหอม มะนาว พริกสด ฯลฯ  ต้องบอกว่า ทีเด็ดสุดอร่อยของข้าวเปียกลาวก็คือ ผักเคียงสดต่างๆ เหล่านี้นี่เอง ทั้งสด กรอบ หอม เพราะพื้นที่เพาะปลูกของหลวงพระบาง ที่ทั้งดินอุดมสมบูรณ์ น้ำ และอากาศบริสุทธิ์ อีกอย่างที่จะทำให้ได้รสชาติอาหารท้องถิ่นขนานแท้เลยก็คือ เครื่องปรุงอย่างกะปิและน้ำพริกเผา ลองปรุงไปตามความชอบ ซดน้ำซุปร้อนๆ ท่ามกลางอากาศเย็นกำลังสบายๆ สนนราคาที่ชามละ 20,000 กีบ หรือประมาณ 75 บาท สั่งชามเดียวก็อิ่มมากแล้ว เพราะชามใหญ่มาก (สำหรับร้านนี้เปิดบริการตั้งแต่ช่วงเย็นๆ ถึงประมาณ 4-5 ทุ่ม พร้อมกับตลาดมืด)

 

                                                                                                                                                                                                                                                                                        ก่อนนอนคืนนี้ เราแวะไปที่ Rooftop Terrace ชั้นบนสุดของโรงแรม Indigo House Hotel ตบท้ายด้วยการเอาใจบรรดานักดื่มที่ไม่ควรพลาดการมาจิบเบียร์ลาว หรือละเมียดไวน์รสดี พร้อมชื่นชมบรรยากาศตลาดมืดของหลวงพระบางในมุมสูง การตกแต่งภายในร้านเน้นคุมโทนด้วยสีน้ำเงินอินดิโก้ผสานกับสีขาวที่ผมชื่นชอบมากๆ (ไม่แพ้การดื่มบน Rooftop นี้) ทั้งสะดุดตากับการเพนต์ลวดลายผ้าซิ่นเลื้อยไต่ไปตามเสาทรงกลมสีขาวโครงสร้างของตัวอาคาร เพื่อนำเสนอความสวยงามทางวัฒนธรรมและหัตถกรรมของประเทศ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ก็ใช้สีน้ำเงินเช่นเดียวกัน และยังควบรวมไปถึงกระเบื้องปูพื้นสไตล์โคโลเนียล ที่เก็บรายละเอียดได้อย่างครบองค์ประกอบ รังสรรค์กลิ่นอายความเป็นเมืองเก่าให้เด่นชัดยิ่งขึ้น เราสามารถเลือกสั่งเครื่องดื่มทั้งที่มีแอลกอฮอล์และปราศจากแอลกอฮอล์มานั่งจิบเคล้าบรรยากาศแสนโรแมนติก เมืองหลวงพระบางก็จะยิ่งสวยชัดในภาพความทรงจำยามค่ำคืนก่อนเคลิ้มหลับในคืนนี้ ได้เวลาประมาณ 4-5 ทุ่ม เพราะร้านรวงที่นี่ก็เริ่มปิดไฟ เตรียมหยุดให้บริการกันเสียแล้ว ไม่อึกกระทึกครึกโครมเฉกเช่นเมืองใหญ่

 

 

ด้วยความที่เป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับ แน่นอนว่า ร้านกาแฟหรือคาเฟ่มีให้เลือกนั่งมากมาย ผมจึงไม่พลาดแวะคาเฟ่ชื่อดังอย่าง Joma Bakery Cafe ซึ่งถือเป็นธุรกิจ Social Enterprise ก่อตั้งร่วมกัน โดยมีหนึ่งสัญชาติไทยและสามสัญชาติแคนาดาเป็นแกนหลัก ที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเหมาะกับเมืองหลวงพระบางมากๆ ด้วยนโยบายเชิงบวกทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและการค้ามนุษย์ โดยจ้างหนุ่มสาวที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์รูปแบบต่างๆ มาเป็นพนักงาน พร้อมฝึกทักษะเกี่ยวกับอาชีพบาริสต้า รวมไปถึงช่วยเหลือพัฒนา ให้ความรู้กับ Social Enterprise ของชาวบ้านชาวลาวอีกด้วย

 

 

อ้าว! มัวแต่อวยจนเกินไป ขอวกกลับเข้าเรื่องหลัก เมนูทั้งเครื่องดื่มและอาหารกันดีกว่า ไล่เรียงกันตั้งแต่กาแฟ ที่ทางร้านใช้สายพันธุ์อาราบิก้าบนเทือกเขา Bolaven Plateau จากทางใต้ของประเทศลาว มาเป็นวัตถุดิบหลัก จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สุดแล้วแต่คอกาแฟแต่ละคนจะชื่นชอบแบบไหนก็ดีทั้งนั้น ถ้าชอบจิบกาแฟคู่กับเบเกอรีแสนอร่อย รับรองมาที่นี่ไม่มีผิดหวัง มีให้เลือกทั้งเค้กและขนมปังนานาชนิด ปัจจุบันที่เมืองหลวงพระบาง Joma Bakery Cafe เปิดให้บริการอยู่ 2 สาขา คือ สาขาบริเวณกลางเมืองถนนเจ้าฟ้างุ้ม และสาขาริมถนนสิงห์ราช ซึ่งทั้งสองก็เป็นอาคารสถาปัตยกรรมเก่านำมารีโนเวตทั้งคู่ เรียกได้ว่า ทุกบาทของคุณที่เสียไปนั้นสุดจะคุ้มค่าจริงๆ

 

                                                                                                                                                                                                                                                                                       ปิดท้ายมื้อค่ำวันสุดท้ายก่อนกลับ สุกี้ลาวอิหล่า เอาจริงๆ ร้านนี้ไม่มีชื่อร้านอย่างเป็นทางการ ตั้งอยู่ที่ตลาดมืด แถวประตูพระราชวังหลวงพระบาง ถัดจากร้านข้าวเปียกลาวมาหน่อย ผมเลยขอตั้งชื่อตามแม่ค้าสาวน้อยที่ทำหน้าที่นำวัตถุดิบต่างๆ สำหรับใส่เมนูสุกี้ลาวไปลวกให้ตามสั่งก่อนเสิร์ฟ ตัวร้านจัดวางง่ายๆ มีโต๊ะวางวัตถุดิบมากมายไว้ให้ลูกค้าได้เลือกตามความชอบ ไม่ว่าจะเป็น เห็ดนานาชนิด ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว และสารพันผักที่มีความสดมากๆ โดยมัดผักแต่ละชนิดรวมไว้เป็นกำๆ เหล่าเนื้อสัตว์ทั้ง ไก่ หมู ลูกชิ้น ไส้กรอก ปูอัด ฯลฯ ตลอดจนวุ้นเส้น บะหมี่ เส้นบุก และเส้นมาม่า ก็มีให้เลือก ใครชอบแบบไหนก็หยิบจับเอาตามใจใส่ตะกร้าแล้วส่งให้แม่ค้า จากนั้นเชิญไปนั่งรอ อดใจเดี๋ยวเดียว สุกี้ลาวฉามใหญ่ (มากๆ) น้ำซุปร้อนควันฉุยก็จะมาเสิร์ฟให้ถึงที่ ซดน้ำ จิ้มกับน้ำพริกเผาหม่าล่า เรียกได้ว่า อร่อยลืม อ้อ เตือนเอาไว้หน่อยว่าพริกเผาหม่าล่านี้ แซ่บ จี๊ดเอาเรื่องอยู่ใช่น้อยเลยทีเดียว ราคาอิ่มก็ไม่แพงเลยล่ะ หม่ำสองคน เลือกผักและเนื้อสัตว์แบบไม่ยั้ง จ่ายไป 60,000 กีบ หรือประมาณ 220 บาทถ้วน

 

ถึงตรงนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนัก ที่ใครต่อใครอยากจะมาสัมผัส ทั้งสายน้ำ ภูเขา วัฒนธรรมอาหารและกาแฟ ตลอดจนทุกรายละเอียดของที่นี่ รับรองว่า นอกจากเมมโมรี่กล้องจะเต็มแล้ว เมมโมรี่ความทรงจำจะสุขล้นเต็มยิ่งกว่า

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI

Getting There
การเดินทางไปยังหลวงพระบาง ด้วยเส้นทางบินตรง มีให้เลือกถึง 3 สายการบิน

  • สายการบิน Bangkok Airways ให้บริการทุกวัน วันละ 2 เที่ยวบิน
  • สายการบิน Thai Smile Airways ให้บริการสัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน
  • สายการบิน Thai AirAsia ให้บริการทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X