×

‘Diamond Grains’ แบรนด์กราโนล่าที่รักลูกค้าพอๆ กับการทำสินค้าสุขภาพ

04.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

 

01.08 Introduction

01.47 จุดเริ่มต้น

03.22 สู้ไม่ถอย

09.59 ขายดีจนหูดับ

13.07 การทำงานร่วมกันของคู่รัก

15.54 ไม่เคยเรียนเรื่องธุรกิจ

22.17 คู่แข่งของเราคือตัวเราเอง

27.51 แผนในอนาคต

36.17 นิยามความสำเร็จ

37.55 แนะนำคนทำธุรกิจ

40.42 Secret Sauce

 

     อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของแบรนด์กราโนล่าเจ้าแรกในไทย ที่เจ้าของแบรนด์คือคู่รักในวัยเพียง 20 ต้นๆ พวกเขาค้นพบสูตรและบุกเบิกตลาดอาหารสุขภาพได้อย่างไร ช่วงแรกยากลำบากแค่ไหน มองคู่แข่งที่เข้ามายังไง และอนาคตจะเติบโตได้อีกขนาดไหน

     เคน-นครินทร์ คุยกับ อูน-ชนิสรา และ แพ็ค-วุฒิกานต์ เจ้าของแบรนด์ Diamond Grains

 


 

01.08
     อูนและแพ็คเป็นเด็กธรรมดาทั่วไปที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ทั้งคู่ชอบทำงานและหาเงินเองมาตั้งแต่เด็ก พวกเขารู้ว่าลำพังแค่ความชอบอย่างเดียวคงไม่พอในการก่อร่างสร้างธุรกิจ เลยมองหาเทรนด์และดูตลาดในต่างประเทศ แม้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เทรนด์เรื่องอาหารสุขภาพยังไม่บูมเท่าตอนนี้ แต่ตอนนั้นทั้งคู่เชื่อมั่นว่ายังไงมันก็ต้องมา เลยมุ่งหน้าไปทางอาหารสุขภาพอย่างเต็มตัว โดยที่ไม่กลัวเลยว่าจะล้มเหลวและพบเจอความยากลำบากขนาดไหน

 

01.47

จุดเริ่มต้นของ Diamond Grains

     อูน: ลองนึกภาพตาม อูนเป็นเด็กปี 3 เรียนนิเทศจุฬาฯ พอเรียนเสร็จปุ๊บ พี่แพ็คมารับกลับทันที ไม่ได้ไปเที่ยวเล่นที่ไหน เราต้องไปซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อวัตถุดิบมาทดลองอบขนมที่หอพัก เสร็จแล้ววันต่อมาก็เอามาให้เพื่อนชิม เป็นภาพที่เพื่อนเราทุกคนจำได้หมด วนอยู่อย่างนี้นานมาก

     เรารู้สึกว่าตัวเองสนุกกับการได้ทดลองทำอะไรแบบนี้ มันเป็นสูตรใหม่ที่ไม่ได้ใส่แป้งใส่น้ำตาล และเราเป็นคนชอบกิน เลยเรื่องมากกับการทำสิ่งนี้ กว่าจะถึงจุดอร่อยลงตัว มันไม่ได้ใช้เวลาแค่รอบเดียวสำเร็จเลย มันใช้เวลาทดลองไปเรื่อยๆ จน 3 ปีถึงจะได้สูตรนี้ที่ลงตัว

 

03.22
Diamond Grains ขายอะไร

     อูน: เราขายซีเรียลกราโนล่าธัญพืช ไม่ใส่แป้ง ไม่ใส่น้ำตาลขัดสี ทานคู่กับนมหรือโยเกิร์ตก็อร่อย ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ไลน์สินค้าเราจะวนเวียนอยู่กับธัญพืช ตอนนี้มีที่ออกใหม่ คือโจ๊กสำเร็จรูป เน้นขายสิ่งที่ให้ประโยชน์กับสุขภาพ อร่อย และสะดวก

     ก่อนหน้าที่จะทำกราโนล่า เราตั้งใจทำสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ แต่ละตัวใช้เวลาคิดค้นสูตร 2-3 เดือน  สรุปพอเอาไปขายแล้วมันไม่เวิร์ก คนไม่ซื้อ เราก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ ปรับใหม่ไปเรื่อยๆ เพราะทุกครั้งที่ทำสินค้าใหม่ มันจะทำให้เรารู้ Know how อะไรบางอย่าง ที่เอามาต่อยอดมาเป็นสินค้าชนิดที่ 2, 3, 4 ไล่ไปเรื่อยๆ จนมาเป็นกราโนล่าถึงทุกวันนี้

 

เวลาที่ทำสินค้าออกมาขายแล้วมันไม่เวิร์ก มีความคิดที่จะล้มเลิกบ้างมั้ย

     แพ็ค: เคยท้อนะครับ แต่เราไม่เคยคิดเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น คิดแต่ว่าต้องทำ เพราะในสมัยนั้นตลาดสุขภาพค่อนข้างใหม่ และผมเชื่อว่าคนเรายังไงก็หนีไม่พ้นเรื่องของสุขภาพ ไม่ว่าเราจะล้มเหลวยังไง ยังไงเราก็ต้องทำ

     อูน: ก่อนหน้านี้มีช่วงที่รับทำอย่างอื่นบ้าง แต่สุดท้ายก็เพื่อหาเงินมาทำสินค้าสุขภาพตามที่ตั้งใจไว้ เราคิดว่ายิ่งล้มเหลวมากเท่าไหร่ เรายิ่งอยากพยายามมากเท่านั้น มันน่าเสียดายถ้าเราถอยตอนนี้ แต่จริงๆ ก้าวอีกแค่ก้าวเดียวมันอาจจะเจอทางที่ใช่แล้วก็ได้ เรามาไกลเกินกว่าจะถอยแล้ว

 

“เวลาไปคุยกับห้างร้านใดๆ สิ่งที่เค้าชอบเราที่สุดคือ เค้าถามอะไร เราตอบได้หมด เพราะเราอยู่กับมันเยอะที่สุดแล้ว”

 

เจอสูตรที่มาขายทุกวันนี้ได้ยังไง

     อูน: ตอนที่เราเริ่มทำโรงงาน มันต้องมีเงินหมุนเวียนเข้ามาสำหรับจัดการรายจ่าย เลยลองไปประกาศทำสแน็กบ็อกซ์ดู เพราะคิดว่าไม่น่ายาก และมีองค์กรหนึ่งให้โจทย์มาว่าอยากได้สินค้าที่สะดวก เราเลยมาคิดว่าทำไมไม่ลองเอาสินค้าตัวเองที่รู้ดีที่สุดมาทำ เลยปิ๊งไอเดียว่า งั้นเอามาใส่ถ้วยดีกว่า น่าจะสะดวกที่สุดแล้ว
พอเราได้สินค้าตัวนี้มาแล้ว เลยเริ่มมองหาช่องทางการขายที่สะดวกกับลูกค้าที่สุด เพราะตอนแรกเราหวังพึ่งร้านค้า แต่การขายในร้าน ทุกๆ ที่มันคือค่าเช่า แล้วเราจะไปเบียดเบียนเขา เราต้องทำรายได้ให้เขาด้วย ต้องช่วยกัน เราต้องมีตัวตน ให้เขาสร้างรายได้ด้วยตัวเอง เลยตัดสินใจเลือกช่องทางการขายหลักคือทางออนไลน์ เพราะเราสามารถอธิบายทุกอย่างกับลูกค้าได้ ประโยชน์เป็นอย่างไร รสชาติเป็นอย่างไร

 

09.59

ตอนไหนที่คิดว่าสัญญาณมันเริ่มดีแล้ว

     อูน: ตอนที่ไม่ได้นอนติดต่อกันหลายวัน วันแรกขายได้หนึ่งกล่องก็ดีใจมากแล้ว พอวันที่สอง มันเริ่มเห็นภาพลูกค้า เห็นลูกค้าหลายคนสั่งจากที่อยู่ที่เป็นบริษัทเดียวกัน มันทำให้รู้ว่าเค้าไปแบ่งกันกินแล้วเค้าชอบ

     หลังจากนั้นหูดับแล้ว คือวัยรุ่นปกติต้องจับโทรศัพท์เล่นโซเชียลบ้าง แต่เรามีเวลาเปิดเฉพาะช่องทางออนไลน์ของ Diamond Grains อย่างเดียว ถึงขั้นต้องเซลฟีตัวเองเก็บไว้ดูเลยว่าครั้งหนึ่งเราเคยโทรมมากขนาดไหน มันไม่มีเวลาแม้แต่จะหาคนมาช่วย จนเริ่มจับทางได้ เริ่มรู้ระบบ ถึงเริ่มหาพนักงาน เพิ่มจำนวนคนในองค์กรเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

 

13.07

คู่รักทำงานกัน ทะเลาะกันบ้างมั้ย

     อูน: การทำงานด้วยกันเราทะเลาะกันน้อยลงมาก เพราะมันทำให้ได้เห็นความสามารถและความเสียสละของเขา ส่วนใหญ่อูนเป็นคนหน้าสื่อ คนรู้ว่าเราเหนื่อยเและพยายามมากแค่ไหน แต่ในขณะเดียวกันคนหลังสื่ออย่างพี่แพ็คก็เหนื่อยมากเหมือนกัน สิ่งที่เค้าทำ ทำให้เราเห็นว่าเค้าเต็มที่กับงานของเค้า เค้าเก่งในสิ่งที่เค้าทำ และด้วยความที่เราสองคนเก่งคนละด้าน เราทำหน้าที่แทนกันไม่ได้ เราต้องเคารพการทำงานของอีกคน บางครั้งเราอาจมีความคิดเห็นในงานที่เค้าทำ แต่สุดท้ายทุกครั้งที่เค้าตัดสินใจอะไร มันมักจะดีที่สุดแล้ว

     แพ็ค: พอทำงานด้วยกัน มันค่อนข้างดีมากเลยครับ เราได้ใช้เวลาด้วยกัน ศึกษากันทั้งด้านของชีวิตและการทำงาน เราต้องให้ความเคารพอีกฝ่าย เชื่อมั่นในกันและกัน

 

“เราเป็นคู่รักที่คุยกันปกติทั่วไป แต่ Diamond Grains เป็นเหมือนลูกเรา สุดท้ายทำอะไรเราต้องนึกถึงก่อนตลอด”

 

15.54
ไม่เคยเรียนเรื่องธุรกิจ

     อูน: เวลามีคนบอกให้เราไปเรียนที่นู่นที่นี่ เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราได้จากการมาทำตรงนี้มันคือประสบการณ์จริง ต่อให้มีคนบอกว่า คุณต้องลองพลาดนะ แต่คุณก็ไม่ได้พลาดจริงๆ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ได้เผชิญความรู้สึกกลัว ผิดหวัง มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นเราจะอินกับลูกค้ามาก เคยมีลูกค้าที่ไ้ด้ออเดอร์ผิด พี่แพ็คก็ขับรถไปหาถึงที่ด้วยตัวเองเลย

     แพ็ค: ตอนนั้นลูกค้าก็เกรงใจ เราเลยโกหกลูกค้าว่าเดี๋ยวให้แมสเซนเจอร์ไปส่ง แต่จริงๆ คือไปเอง

     อูน: ดังนั้นถ้าให้เราเรียน ความรู้สึกหวงแหนลูกค้าจะไม่เกิด เพราะเรารู้แล้วว่า กว่าจะได้ลูกค้ามาคนหนึ่งไม่ได้ง่าย

 

วิธีดูแลลูกค้า

     แพ็ค: ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เรามีทีมน้องๆ ที่คอยตอบคำถามลูกค้า ซึ่งบางครั้งไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องสินค้าเรา บางทีมีอะไรเขาก็มาคุยเล่น มาระบาย เหมือนเป็นเพื่อนลูกค้า เขารู้สึกเหมือนเราเป็นพื้นที่แชร์เรื่องสุขภาพกับเขา

 

วิธีการเทรนทีมงาน การสร้างวัฒนธรรมองค์กร

     อูน: เราต้องทำให้เขาเห็นก่อน เพราะสุดท้ายเจ้าของก็คือผู้นำ ผู้นำเป็นแบบไหน ลูกน้องก็เป็นแบบนั้น เราต้องทำให้เขาเห็นว่า เราห่วงใยลูกน้อง ดูแลพนักงานดี เขาก็จะเข้าใจ

 

“เราบอกลูกน้องตลอดว่า เงินเดือนที่เราให้เขา มันไม่ใช่เงินเรา มันเป็นเงินลูกค้า ตราบใดที่ลูกค้าแฮปปี้ พนักงานก็ควรจะแฮปปี้ด้วย ไม่มีความจำเป็นต้องมาเลียแข้งเลียขา เราไม่เคยแฮปปี้เลยเวลามีใครมาพยายามทำให้เราแฮปปี้ เราจะแฮปปี้ก็ต่อเมื่อคุณทำให้ลูกค้าแฮปปี้ นั่นแปลว่าคุณทำงานคุณสำเร็จ”

 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เติบโต

     แพ็ค: หลังจากไปออก SME ตีแตก ลูกค้าก็เห็นสินค้ามากขึ้น ได้รับการตอบรับที่ดีกลับมา

     อูน: มันคือแพสชันของเราด้วย พอคนดูเห็นว่าเราอินจริง เราไม่ได้แค่อยากได้เงิน เราช่วยแก้ปัญหาให้เขา เราอยากให้เขาเห็นว่าที่คุณซัพพอร์ตความตั้งใจของเรา เราก็ตั้งใจซัพพอร์ตเขากลับด้วย

 

22.17

คู่แข่งของ Diamond Grains

     อูน: การมีคู่แข่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ สุดท้ายแล้ว เราไม่ได้เป็นคู่แข่งใครนอกจากตัวเอง เราเชื่อว่าลูกค้ามีสิทธิ์เลือก ถ้าเราทำได้ดีที่สุด ลูกค้าก็เลือกเรา มันอยู่ที่ว่าเราทำได้ดีแค่ไหน

     แพ็ค: เวลามีคู่แข่งเข้ามา เขาไม่ได้แย่งยอดขายจากเรา เขาเข้ามาขยายภาพรวมมากกว่า ทำให้คนเห็นภาพสินค้าชนิดนี้เยอะขึ้น สมมติถ้ามีเราทำแค่เจ้าเดียว ถ้าเขาเบื่อ เขาก็อาจจะเลิกกินไปเลย แต่พอมีเจ้าอื่นเข้ามา มันก็เป็นทางเลือกให้เขาลองไปกินเจ้าอื่น สลับเปลี่ยนไปมาดูบ้าง

 

ในอีก 3-4 ปี ตลาดสุขภาพจะเป็นยังไง

     แพ็ค: มันจะกลายเป็นเรื่องปกติ แทบจะอยู่ใน Mindset ของทุกคนว่าตัวเองต้องดูแลสุขภาพมากขึ้นนะ

     อูน: เราอยากฝากข้อคิดสำหรับคนที่อยากทำสินค้า อูนแนะนำว่าอย่าทำอะไรที่คนอื่นเค้าทำอยู่แล้ว มันไม่ได้น่าตื่นเต้นและจะอยู่ได้ไม่นาน หรือถ้าเราจะไปแย่งชิ้นเค้กของคนอื่น ก็ต้องหาจุดเด่นที่ทำให้ตัวเองอยู่ได้ อย่าทำในสิ่งที่เราจะโดนมองว่าก๊อบปี้

 

จุดเด่นของแบรนด์

     แพ็ค: ด้านสินค้า มันมีไฟเบอร์สูง รสชาติเป็นเอกลักษณ์ กรอบ อร่อย ส่วนทางด้านแบรนด์ เราเอาใจใส่ลูกค้าในทุกๆ คอมเมนต์ มีบางช่วงที่เราโพสต์เพื่อขอคำติชมจากลูกค้าเลย คอมเมนต์เข้ามาเลย เราจะได้เอาไปปรับปรุงต่อ

 

“ความเห็นของลูกค้ามีมูลค่าที่สุด ที่ให้คนมาติ เราไม่ได้ต้องการกระแส บางทีลูกค้าเค้ามีความคิดเห็นอยู่ในใจแต่เลือกไปบอกเพื่อน เราก็อยากทำให้เค้ารู้สึกเป็นเพื่อนกับเราบ้าง”

 

27.51
สิ่งที่ทำให้เป็นกังวล

     แพ็ค: เรามองปัญหาเป็นเรื่องของการพัฒนา ตราบใดที่เราเจอปัญหาเราก็รู้ว่าอะไรพัฒนาต่อได้บ้าง เราก็เติบโตต่อได้ ตอนนี้อยากพัฒนาในตัวสินค้า เพิ่มโปรดักต์ไลน์เกี่ยวกับสุขภาพ

 

วางแผนในอนาคต

     แพ็ค: มีการดีลกับตลาดต่างประเทศไว้เรียบร้อยแล้ว เหลือแค่ส่งของไป เป็นตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด

     อูน: เวลาเราจะไปบุกตลาดที่ไหน เราจะพยายามทำสินค้าให้ดีที่สุดในที่นั่น ยกตัวอย่างร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น เค้าติดต่อเรามานานแล้ว แต่เราขอยื้อเวลาไว้จนกว่าจะพัฒนาสินค้าที่เหมาะสมและดีที่สุดกับที่นั่น จนถึงตอนนี้เราพร้อมแล้ว เราก็เข้าไป

 

“เราไม่มีเหตุผลให้ต้องรีบขายให้ได้เยอะๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ เราอยากไปขายแล้วอยู่ได้ยาวๆ เราอยากไปอยู่ในตลาดนั้น ไปครองใจคนที่นั่น”

 

ตลาดต่างประเทศ

     แพ็ค: ลูกค้าบางพื้นที่ก็อินตลาดสุขภาพไปแล้ว บางที่ก็ยังช้ากว่าเรา ถ้าไม่ดูเรื่องวอลุ่ม ดูเรื่อง Mindset ของลูกค้าเป็นหลัก น่าจะไปที่สิงคโปร์ มาเลเซียก่อน  อย่างคนสิงคโปร์เค้าเป็นคนทำงานเป็นหลัก มีความเร่งรีบ เพราะฉะนั้นการดูแลสุขภาพมันสำคัญกว่าการรักษาสุขภาพ

 

ยอดขาย

     แพ็ค: ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 400-500 ล้านตอนจบปี ส่วนปีหน้าน่าจะประมาณ 600-700 ล้าน

 

36.17

นิยามความสำเร็จ

     แพ็ค: ความสำเร็จคือการเรียนรู้ ตราบใดที่คนคิดว่าตัวเองยังไม่ประสบความสำเร็จ เค้ามีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า ทุกธุรกิจต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอด

     การทำธุรกิจหรือทำอะไรก็ตามมันมีจุดเริ่มต้น ก็ต้องมีจุดจบ เพียงแต่เราต้องเข้าใจสิ่งที่ตัวเองทำ เรื่องคู่แข่ง ยอดขายตก มันเป็นธรรมชาติของการทำธุรกิจ ไม่มีธุรกิจไหนที่ไม่มีปัญหา วันนี้เราทำสินค้าที่เป็นอาหารเช้า ในวันหนึ่งมันอาจจะไม่เวิร์กแล้วก็ได้ อาจจะไปทำอาหารสำหรับตอนเย็นแทน หรือเป็นขนมเพื่อสุขภาพ

 

37.55

แนะนำคนทำธุรกิจ

     แพ็ค: สำหรับตัวผมเอง ผมมองว่าคือความสุขมากกว่า ไม่ว่าคุณจะทำงานประจำหรืออะไรก็ตาม ตำแหน่งจะเล็กใหญ่แค่ไหน ถ้าคุณมีความสุขสบายใจ นั่นก็คือคุณประสบสำเร็จกับชีวิตคุณแล้ว

     อูน: เราเข้าใจคนอยากทำธุรกิจ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ไม่มีใครอยากเป็นลูกน้องคนอื่น แต่ถ้าคุณทำธุรกิจ คุณก็เป็นลูกน้องตัวเองอยู่ดี และเราต้องเป็นลูกน้องของลูกค้าทั้งประเทศด้วย ดังนั้นคุณต้องพร้อมรับมือกับปัญหาที่เข้ามาหลากหลาย ถ้าไม่พร้อมอย่าทำ

 

“อย่าเอาเงินเป็นเป้าหมาย เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาคือเงิน ดังนั้นถ้าอยากขายของ คุณธรรมจริยธรรมต้องมี เราเชื่อเสมอว่าเงินเข้าถูกกระเป๋า เงินไม่เคยวิ่งผิดกระเป๋า”

 

40.42

The Secret Sauce

  1. อย่าทำอะไรที่มีอยู่แล้ว สำรวจตลาดให้ดีก่อนเริ่มทำธุรกิจ ยิ่งทำก่อนยิ่งได้เปรียบ
  2. เอาใจใส่ลูกค้าให้ได้มากที่สุด ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของลูกค้า ตอบแทนเม็ดเงินที่เค้าให้มา
  3. มองการทำธุรกิจคือการแก้ปัญหา อย่ามองว่าเป็นเรื่องน่ากังวล ให้มองว่าเป็นจุดที่ทำให้แบรนด์ยิ่งพัฒนาไปได้ไกล

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

The Guest ชนิสรา โททอง, วุฒิกานต์ วงศ์ดีประสิทธิ์

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Episode Producers ปวริศา ตั้งตุลานนท์, อธิษฐาน กาญจนพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Photographer อธิษฐาน กาญจนพงศ์

Music Westonemusic.com

FYI
  • สนใจลองกินกราโนล่าและโจ๊กสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพของ Diamond Grains ลองกดเข้าไปสั่งซื้อในเว็บไซต์ได้เลยที่  www.diamondgrains.com
  • หรือถ้าอยากอัพเดตข่าวสารกดไลก์ติดตามได้ที่ www.facebook.com/diamondgrains
  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X