ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่สืบทอดมาแต่ครั้งอยุธยานั้น นอกจากการพิธีสรงพระมุรธาภิเษก (การรดน้ำที่พระเศียร) และพิธีรับน้ำอภิเษก (การรดน้ำที่พระหัตถ์) อีกพิธีการที่สำคัญ ได้แก่ พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ซึ่งเปรียบเสมือน ‘การขึ้นบ้านใหม่’ เป็นพิธีที่องค์กษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อันเป็นพระที่นั่งประธานในหมู่พระมหามณเฑียร และด้วยเหตุที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ เปรียบได้กับการขึ้นบ้านใหม่ ดังนั้นจึงต้องมีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรเกิดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและความร่มเย็นเป็นสุข ตามธรรมเนียมโบราณนั้นหลังจากที่ทรงเฉลิมพระยศแล้ว องค์กษัตริย์จะเสด็จขึ้นสู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน จากนั้นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายในอัญเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียร พร้อมเครื่องราชูปโภคตามเสด็จ เมื่อเสด็จเข้าสู่ห้องพระบรรทม ราชวงศ์ฝ่ายในถวายดอกหมากทองคำและกุญแจทองคำ จากนั้นทรงเอนพระองค์ลงบรรทมเป็นพระฤกษ์ พนักงานประโคม ทรงรับถวายพระพรชัยมงคล และทรงโปรยดอกพิกุลเงินพิกุลทองพระราชทาน (ทำจากเงินและทองจริงเป็นดอกพิกุล) ทั้งนี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9 พระองค์ประทับแรมอยู่ 1 คืนในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน สื่อถึงการขึ้นบ้านใหม่และการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่อย่างสมบูรณ์
สำหรับในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรจะจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ขั้นตอนการปฏิบัติในวันดังกล่าวเริ่มจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม จากนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล และเข้าสู่พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร
แม้ในอดีตที่ผ่านมาพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีแต่มหาดเล็กฝ่ายหน้าซึ่งเป็นผู้ชายเป็นผู้ประกอบพิธีเสียส่วนใหญ่ แต่สำหรับการอันเชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรนั้นเป็นหน้าที่ของพระราชวงศ์ฝ่ายในซึ่งเป็นสตรีทั้งหมด โดยเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรประกอบด้วย วิฬาร์ (แมว) ศิลาบด พานใส่พันธุ์พืชมงคลต่างๆ เช่น ถั่ว, ข้าว, เปลือก, งา, เมล็ดพันธุ์ผักกาด, เมล็ดฝ้ายพานฟักเขียว, กุญแจทอง และจั่นหมากทอง ทั้งนี้มีการเพิ่มพระแส้หางช้างเผือกเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีการเพิ่มไก่ขาวในสมัยรัชกาลที่ 7
รัชกาลที่ 7 และมหาดเล็ก
Credit: กรมศิลปากร
ในส่วนของแมวนั้นคติไทยเชื่อว่า แมวเป็นสัตว์รู้ที่อยู่ ไม่ทิ้งถิ่น ให้ความหมายถึงการอยู่อย่างเป็นสุข โดยในงานพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรนั้น แมวจะถูกตกแต่งด้วยเครื่องประดับสวยงาม แต่การจะอุ้มแมวที่ปกติเป็นสัตว์ที่อยู่ไม่นิ่งนักให้สามารถอยู่ร่วมพิธีได้ตลอดจนจบงานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้อัญเชิญแมวจึงต้องนำแมวไปเลี้ยงดูเพื่อสร้างความคุ้นเคยอยู่นานดังเช่นที่ หม่อมราชวงศ์กิตติวัฒนา ปกมนตรี 1 ใน 16 หญิงสาวราชสกุลผู้รับหน้าที่ผู้เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 9 ได้เขียนบันทึกไว้ในหนังสือ ‘เขียนถึงสมเด็จฯ ตอนนางแก้วคู่พระบารมี’ ครั้งนั้น หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนา รับหน้าที่อุ้มพระวิฬาร์ ซึ่งแทบจะหาผู้รับหน้าที่นี้ไม่ได้ แต่หม่อมราชวงศ์กิติวัฒนาเป็นผู้รักสัตว์ จึงรับหน้าที่นี้ และจำเป็นต้องนำไปเลี้ยงที่บ้านก่อนงานพระราชพิธีนานร่วมเดือน พอถึงวันพิธีจริงต้องนำแมวมาแต่งตัวประดับด้วยอุบะเพชรซีก รวมทั้งสร้อยและกำไลโบราณ เมื่อถึงในพิธีก็ต้องคอยอุ้มแมวให้อยู่นิ่งๆ นานนับชั่วโมงจนกว่าจะจบพิธี
ด้านไก่ขาวที่เพิ่มเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 7 นั้น ผู้ที่อุ้มไก่ต้องเป็นผู้อัญเชิญธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ไว้คู่กับไก่ด้วย โดยธารพระกรศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นธารพระกรหรือไม้เท้า รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้น และไม่ว่าจะทรงพระดำเนินไปที่ไหน ก็จะทรงธารพระกรศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ติดพระวรกายไปด้วย
ไก่แจ้ขาวในปัจจุบัน
แม้ไม่ได้มีการระบุความหมายถึงเหตุที่มีการอุ้มไก่ขาวไว้อย่างชัดเจน แต่ก็มีผู้สันนิษฐานความหมายไว้หลากหลาย เช่น ไก่ในเชิงที่หมายถึงความขยันทำมาหากิน ในญี่ปุ่นนั้นปรากฏมีเทพเจ้าที่อุ้มไก่อยู่เช่นกัน หรือในทางยุโรปนั้นก็มักจะปรากฏภาพของชนชั้นสูงอุ้มไก่และถือไม้เท้าไว้คู่กันเสมอ โดยเฉพาะชนชั้นสูงของอังกฤษในศตวรรษที่ 18 เชื่อมต่อสู่ศตวรรษที่ 19 นั้นนิยมอุ้มไก่แจ้ขาวและถือไม้เท้าไว้คู่กัน โดยไม้เท้าในยุคนั้นถูกตีความถึงอำนาจ ส่วนไก่แจ้ขาวคือความงาม ดังนั้นในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรที่ผ่านมาจึงมักให้สตรีผู้มีความงามเป็นผู้อุ้มไก่ขาวและอัญเชิญธารพระกรศักดิ์สิทธิ์นี้คู่กัน
ภาพ: กรมศิลปากร, shutterstock
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: