×

เปิดความงามและความหมายแห่ง ‘พระที่นั่งภัทรบิฐ’

24.04.2019
  • LOADING...
พระที่นั่งภัทรบิฐ

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • พระที่นั่งภัทรบิฐประดิษฐานอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งเป็นฉัตร 9 ชั้น กางกั้นเหนือพระที่นั่ง
  • เมื่อองค์พระมหากษัตริย์ทรงรับน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์แล้วจะเสด็จพระราชดำเนินประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เพื่อทรงรับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ เครื่องราชูปโภค และราชสมบัติ
  • พระที่นั่งภัทรบิฐองค์ปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นเก้าอี้ทรงกงอย่างจีน ประดับงานเครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช และปรับให้มีความเป็นสากลคล้ายคลึงกับ ‘พระเก้าอี้บรมราชาภิเษก’ หรือ The Coronation Chair แห่งสหราชอาณาจักร

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ไทยแต่อดีตนั้น พระที่นั่งภัทรบิฐ เป็นอีกพระที่นั่งองค์สำคัญที่มีบันทึกมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี พระองค์ได้ทรงเลือกแบบแผนการพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (กรมขุนพรพินิต) มาเป็นแบบอย่างในการราชาภิเษกสมโภช พร้อมทั้งทรงสร้างพระที่นั่งภัทรบิฐขึ้นมาอย่างในราชวงศ์บ้านพลูหลวง แต่ก็ไม่ได้มีการสร้างเป็นการถาวร กระทั่งมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งตรงกับช่วงที่สหราชอาณาจักรเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศตะวันออก พระองค์จึงทรงให้มีการปรับเปลี่ยนสยามให้มีความเป็นสากลมากขึ้น และหนึ่งในนั้นคือความหมายที่ซ่อนไว้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างพระที่นั่งภัทรบิฐองค์ถาวร ซึ่งประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณมาจนถึงปัจจุบัน

 

พระที่นั่งภัทรบิฐ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

Photo: หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พระที่นั่งภัทรบิฐ

พระที่นั่งภัทรบิฐ

(บน) ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ (ล่าง) พระที่นั่งภัทรบิฐ

Photo: หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระที่นั่งภัทรบิฐนั้น เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) สร้างถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงในแวดวงประวัติศาสตร์ว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชอาจจะสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เป็นไปได้ ครั้นพอมาถึงในรัชกาลถัดมา เมื่อทรงมีการจัดสร้างพระที่นั่งภัทรบิฐ จึงได้เลือกนำพระเก้าอี้องค์นี้มาปรับปรุงโครงสร้าง จากพระเก้าอี้ทรงกงในแบบจีน ให้เป็นพระเก้าอี้บรมราชาภิเษกในลักษณะของบัลลังก์ตามแบบธรรมเนียมราชสำนักยุโรป ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในขณะนั้นธรรมเนียมอังกฤษและยุโรปได้กลายมาเป็นธรรมเนียม ‘สากล’ ที่หลายประเทศทั่วโลกให้การยอมรับ

 

ลักษณะพิเศษอย่างแรกของพระที่นั่งภัทรบิฐนั้นเห็นจะเป็นเรื่องของพนักที่สร้างจากไม้ดัดให้เป็นรูปโค้งที่เรียกว่า ‘ทรงกง’ ซึ่งเป็นทรงเก้าอี้เฉพาะสำหรับราชวงศ์และชนชั้นสูงในเมืองจีน ทว่า เมื่อพระเก้าอี้องค์นี้สร้างในเมืองนครศรีธรรมราช เอกลักษณ์ที่จะขาดไม่ได้คือ ‘งานถมตะทอง’ งานประณีตศิลป์ชั้นสูงที่ต้องช่างเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น จึงจะทำออกมาได้อย่างประณีตหาที่ติไม่ได้ น่าแปลกที่งานถมตะทองแบบนี้บังเอิญให้เหมือนงานการทำลวดลายทองบนพื้นดำที่ประดับอยู่บน Coronation Chair หรือพระเก้าอี้บรมราชาภิเษกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งสหราชอาณาจักร ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันพระเก้าอี้บรมราชาภิเษกองค์นี้ถูกเก็บรักษาไว้ในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งหากไปชมใกล้ๆ จะได้เห็นลวดลายนก ดอกไม้ และเถาไม้กระหวัดรอบพระเก้าอี้บรมราชาภิเษกองค์นี้ละเอียดมาก

 

พระที่นั่งภัทรบิฐ

Coronation Chair หรือพระเก้าอี้บรมราชาภิเษกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 แห่งสหราชอาณาจักร ใช้เทคนิคคล้ายคลึงกับเครื่องถมไทย

Photo: www.westminster-abbey.org

 

รายละเอียดของพระที่นั่งภัทรบิฐยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ครั้นมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพราะทรงให้มีการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น 2 ครั้ง ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช โดยในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ซึ่งเป็นการจัดงานอย่างโบราณราชประเพณีครบทุกขั้นตอน ได้โปรดให้มีการสร้างพระที่นั่งภัทรบิฐองค์ใหม่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พร้อมกันนั้นก็ทรงนำพระแท่นมนังคศิลาบาตรมาเป็นฐานของบัลลังก์ ปูราดด้วยหนังราชสีห์ทั้งตัวตั้งแต่หัวไปจรดหาง แทนการใช้แผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ปูลาดบนพระที่นั่งอย่างในราชการก่อน มีนามเฉพาะว่า ‘พระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารามราชอาสน์เป็นรัตนสิงหาสน์’

 

พระที่นั่งภัทรบิฐ

รัชกาลที่ 6

Photo: หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

สำหรับพระแท่นมนังคศิลาบาตรเป็นแท่นหินโบราณที่เชื่อกันว่า พ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย ได้เสด็จฯ ออกราชการบนพระแท่นนี้ การที่รัชกาลที่ 6 ทรงนำพระแท่นมนังคศิลาบาตรมาเป็นฐานพระที่นั่งภัทรบิฐก็น่าจะมีนัยไปถึงหินแห่งสโคน (Stone of Scone) หรือหินราชาภิเษก (Stone of Coronation) แท่นหินทรายที่ใช้ในบัลลังก์กษัตริย์สกอตแลนด์ ทว่า ในกาลต่อมาถูกครอบครองโดยกษัตริย์อังกฤษ และถูกวางไว้ใต้พระเก้าอี้บรมราชาภิเษกของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 พร้อมกับใช้ในพิธีราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรสืบต่อมา คล้ายกับเป็นการบอกเป็นนัยว่า อังกฤษประทับอยู่เหนือดินแดนสกอตแลนด์ (ปัจจุบันทางการสกอตแลนด์ได้ขอหินแห่งสโคนกลับไปอนุรักษ์ยังสกอตแลนด์แล้ว) และถ้าเทียบกับไทยก็อาจจะเป็นนัยที่คล้ายกับ Stone of Scone ก็เป็นได้

 

พระที่นั่งภัทรบิฐ

Stone of Scone แท่นหินทรายที่ใช้ในบัลลังก์กษัตริย์สกอตแลนด์

Photo: www.westminster-abbey.org

 

อย่างที่กล่าวไว้ว่า เหตุที่รัชกาลที่ 4 ทรงเริ่มปรับปรุงรายละเอียดพระราชพิธีก็เพื่อความเป็นสากล เพื่อให้ชาวต่างชาติได้เห็นความเป็นอารยะ เห็นความเป็นสากลของสยามในยุคนั้น และอีกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นบนพระที่นั่งภัทรบิฐ และมีการปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันคือ การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนจากการรับ ‘พระมหาพิชัยมงกุฎ’ หนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มาเป็นทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎบนราชบัลลังก์เช่นเดียวกับราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรป พร้อมกันนั้นก็ได้เชิญหมอบรัดเลย์เข้ามาบันทึกเหตุการณ์เป็นภาษาอังกฤษ เผยแพร่ขั้นเหตุการณ์สำคัญเช่นนี้ไปยังฝั่งยุโรป ให้ชาติตะวันตกได้เห็นว่า สยามมิใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน แต่เป็นชาติที่มีอารยธรรมอันดีสืบต่อกันมา

 

พระที่นั่งภัทรบิฐ

รัชกาลที่ 9 ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ

Photo: หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์, ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • โครงการเสวนาพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์, ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินทร (องค์การมหาชน)
  •  
  • www.westminster-abbey.org/about-the-abbey/history/the-coronation-chair
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X