ทางเพจไบโอไทย รายงานว่าโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับ 11 องค์กรที่เกี่ยวข้อง เตรียมผลักดันเรื่องการจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาการใช้กัญชาทางการแพทย์ตามสูตรของ อาจารย์เดชา ศิริภัทร พร้อมวางเป้าหมายขั้นแรกคือจ่ายยาจากกัญชาให้ผู้ป่วยราว 5,000 คน สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยเท่านั้น
เมื่อวานนี้ (18 เม.ย.) ทางเพจเฟซบุ๊กไบโอไทยรายงานว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และองค์กรภาคประชาสังคม 5 องค์กรชั้นนำ เผยถึงการจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ใช้งานวิจัยตำรับยารักษาโรคที่ใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบสำคัญจาก อาจารย์เดชา ศิริภัทร โดยมีข้อตกลงที่แบ่งออกเป็น 5 ส่วนดังนี้
- โครงการวิจัยนี้จะเปิดช่องให้อาจารย์เดชาสามารถแจกจ่ายยาจากกัญชาให้ผู้ป่วยประมาณ 5,000 คนเป็นอย่างน้อยโดยต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมีสถานะเป็นผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย
- คณะร่วมวิจัยจะพัฒนาโครงการเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทภายใต้กระทรวงสาธารณสุขเพื่อขออนุมัติโครงการ พร้อมๆ กับการขออนุมัติจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ (EC) คาดว่ากระบวนการนี้จะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคม
- ประเด็นที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกันนอกเหนือจากที่อาจารย์เดชาต้องได้รับการรับรองเป็นหมอพื้นบ้านและเข้ารับการอบรมเพื่อเป็นหมอพื้นบ้านในการใช้ยากัญชาของ อย. แล้ว กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ต้องดำเนินการเพิ่มตำรับยาจากกัญชาของอาจารย์เดชา เพราะที่ผ่านมามีการประกาศยาจากกัญชาเพียง 16 ตำรับเท่านั้น ขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์
- สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ยินดีสนับสนุนของกลางกัญชาที่มีคุณภาพสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาของโครงการวิจัยนี้
- อาจารย์เดชาประกาศให้สูตรยาและขั้นตอนการรักษาทั้งหมดให้เป็นสมบัติของสาธารณะ
นอกจากนี้อาจารย์เดชายังได้กล่าวถึงการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคจากโครงการดังกล่าวว่า
“สำหรับผมเอง ความตั้งใจหลักก็คืออยากจะให้ผู้ป่วยได้รับยาเร็วที่สุดครับ แล้วก็มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะว่าผู้ป่วยเก่าของผม 5,000 กว่าคน อันนี้เป้าหมายแรกคืออยากให้ผู้ป่วยกลุ่มเดิมที่รับอยู่แล้วได้รับยาใหม่เร็วที่สุด เพราะว่าเขาขาดยามาตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนนะครับ แล้วก็จะมีผู้ป่วยใหม่อีกมากมายที่กำลังจะมารับยา ซึ่งเราก็ทำไม่ได้ เพราะต้องเข้ากระบวนการตามกฎหมายก่อน
“ให้ผมเป็นหมอ… ผมก็เป็นได้ครับ จะให้อบรม… ผมก็อบรมได้ จะให้เป็นนักวิจัยก็ทำครับ ทั้งหมดไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อผู้ป่วยช่วงนี้นะครับ แต่ระยะยาว นอกจากงานวิจัยให้เกิดผลประโยชน์ขึ้นกับสังคมแล้ว สำหรับยา ถ้าเป็นประโยชน์ ผมก็พร้อมยกให้สังคมนะครับ” อาจารย์เดชา ศิริภัทร กล่าวในที่ประชุม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: