×

ยกฟ้อง ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สั่งสลาย นปช. ปี 2553 ชี้เป็นอำนาจศาลฎีกาฯ นักการเมือง

31.08.2017
  • LOADING...

 

     วันนี้ (31 ส.ค.) ศาลอาญาได้นัดฟังคำสั่งฎีกาคดีสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. หมายเลขดำ อ.4552/56 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

     จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เมื่อปี 2553 บริเวณ ถ.ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ ตั้งแต่เดือน เม.ย. ถึง 19 พ.ค.2553 กระทั่ง นายพัน คำกอง ชาวยโสธร คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา เสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ สถานีราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค. 2553 และ นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ถูกกระสุนยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์ในพื้นที่ย่านราชปรารภ ที่มีการประกาศ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนได้รับบาดเจ็บสาหัส

     โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เคยพิพากษายกฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่า นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ออกคำสั่งขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

     ทั้งนี้ อัยการโจทก์ยื่นฎีกา ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณา

 

     ล่าสุด ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันเเล้วเห็นว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์เเละนายสุเทพเป็นการกระทำในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ. ตาม พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัว ดังนั้น จึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ใช่อำนาจศาลอาญา พิพากษายื่นยกฟ้อง

     โดยนายสุเทพและนายอภิสิทธิ์เดินทางมาถึงศาลเมื่อเวลา 09.00 น. ซึ่งนายสุเทพเปิดเผยก่อนเข้ารับฟังคำสั่งฎีกาว่าคดีดังกล่าวเกิดขึ้นสมัยที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ซึ่งวันนี้ก็จะมารอฟังว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไร หลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่รับฟ้อง ซึ่งการตั้งข้อหาฆ่าคนตายถือเป็นข้อหาที่ร้ายแรง

     ส่วนกรณีที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ได้ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ให้นำคดีนี้ออกมาพิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายสุเทพกล่าวว่า ตัวเองก็ไม่รู้สึกแปลกใจ เพราะนายณัฐวุฒิต้องการที่จะเล่นงานตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งก็อโหสิกรรมให้

     สำหรับคดีดังกล่าวก่อนหน้านี้ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ เป็นองค์คณะไต่สวน โดยมอบให้ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดี ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2558 มีการลงมติคดีดังกล่าวด้วยเสียงเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X