การชุมนุมใหญ่ต่อต้าน ทักษิณ ชินวัตร ครั้งแรกจัดขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549
ชนวนสำคัญมาจากการขายหุ้น 49.6% ของทักษิณในบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับบริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของทางการสิงคโปร์ ในราคา 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การชุมนุมครั้งนั้นยกระดับเป็นการชุมนุมใหญ่ในนาม ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 และกระแสการเรียกร้องขับไล่จากกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ในที่สุดรัฐบาลทักษิณได้ประกาศ ‘ยุบสภา’ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่พันธมิตรฯ กลับเห็นว่าเป็นการใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือซักฟอกตัวเอง และยืนยันจะปักหลักชุมนุมขับไล่ทักษิณต่อไป
การเคลื่อนไหวขับไล่ต่อเนื่อง การปฏิเสธการเลือกตั้งจากพันธมิตรฯ การบอยคอตการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น โดยการไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ประสานกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ และกระแสข่าวการรวบรวมกำลังของฝ่ายต่างๆ นำไปสู่การรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อ้างอิง:
- รายงานการวิจัย เรื่อง จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2547: วิกฤตประชาธิปไตยไทย โดย ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- wiki.kpi.ac.th/index.php?title=พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย