หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-แบริ่ง ช่วงบางหว้า-สนามกีฬาแห่งชาติ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยให้สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน และกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เหมาะสม ซึ่งคำสั่งนี้ช่วยให้การดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้ามารับสัมปทานโครงการทั้งโครงข่ายให้แล้วเสร็จได้โดยเร็ว เนื่องจากกระบวนการเดิมตามขั้นตอนของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ทั้งที่แผนการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งโครงข่ายมูลค่า 1 แสนล้านบาท ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้ว
คำสั่งดังกล่าวให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการ โดยให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่น เพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและส่วนต่อขยาย รวมทั้งดำเนินการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการหรือราวกลางเดือนพฤษภาคม 2562 เมื่อคณะกรรมการดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว ให้แก้ไขสัญญาสัมปทานกับผู้รับสัมปทานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือภายในกลางเดือนมิถุนายน 2562
ส่วนข้อเสนอที่กรุงเทพมหานครเสนอ เช่น ให้เอกชนรับภาระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งการเก็บค่าโดยสารทั้งโครงข่ายตามระยะทาง การจ่ายค่าปรับปรุงคอขวดสถานีสะพานตากสิน และการจ่ายส่วนแบ่งค่าโดยสารตามขั้นบันได เป็นต้น จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่จะเจรจาจนได้ข้อยุติต่อไป
ขณะที่วานนี้ (11 เม.ย.) ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ลา ลูน่ากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กรณี รฟม. ออกประกาศแจ้งปิดเบี่ยงจราจรพื้นราบทุกช่องทางชั่วคราวบนถนนแจ้งวัฒนะฝั่งขาเข้ามุ่งหน้าหลักสี่ ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติถึงบริเวณสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ เพื่อดำเนินงานตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้น
ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า หนังสือของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นเพียงหนังสือสั่งการภายใน ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานตำรวจ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการปิดเบี่ยงจราจรดังกล่าว เป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนบนถนน โดยไม่ระบุเหตุจำเป็นที่ต้องปิดการจราจรให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการก่อสร้างในพื้นที่นั้นๆ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขออนุญาตปิดการจราจรชั่วคราวตามที่กฎหมายกำหนด
ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาห้าม รฟม. ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด กระทำการใดๆ ที่เป็นการกีดขวางการจราจรในพื้นราบทุกช่องทางบนถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไป จนกว่าจะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ หรือมีการออกประกาศข้อบังคับจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาลต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล