นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ อินเดียได้ผงาดขึ้นเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะนอกจากจะเป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่แล้วยังมีประชากรในขณะนั้นกว่า 330 ล้านคน ดังนั้นด้วยขนาดของประชากรและความหมายของประชาธิปไตยที่ว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด จึงทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก จนมาถึงยุคสมัยปัจจุบัน ประชากรอินเดียเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า เป็นจำนวนราว 1.3 พันล้านคนทั่วโลก อินเดียไม่ได้ใหญ่โตในแง่ของความเป็นประชาธิปไตยอย่างเดียว แต่ยังถือว่ามีเสถียรภาพมากอีกด้วย
ด้วยความเป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปที่อินเดียจึงเป็นที่จับตาไปทั่ว เพราะถือเป็นการเลือกตั้งระดับช้าง มีความน่าสนใจทั้งในแง่ของระบบและวิธีการบริหารจัดการการเลือกตั้งที่ใหญ่โตมโหฬาร การแข่งขันขับเคี่ยวทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ คะแนนนิยมและกระแสมวลชน รวมถึงการเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน ฯลฯ
โดยการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน และดำเนินไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ด้วยเหตุนี้บรรยากาศทางการเมืองที่อินเดียในขณะนี้จึงคึกคักและจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ว่าฟาดฟันกันอย่างสนุกและสูสีที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อการติดตามศึกเลือกตั้งอินเดียอย่างเข้าใจและได้อรรถรสยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงขอนำเสนอข้อมูลที่น่าจับตาของการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งแยกเป็นประเด็นได้ดังนี้
1. จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุดในโลก
การเลือกตั้งในปี 2019 นี้มีผู้มีสิทธิลงคะแนนกว่า 900 ล้านคน หรือมากกว่า 3 เท่าของประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
สำหรับการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2014 ยอดผู้มีสิทธิลงคะแนนอยู่ที่ 830 ล้านคน มีผู้ไปใช้สิทธิ 550 ล้านคน คิดเป็น 66% ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้ไปใช้สิทธิลงคะแนนครั้งแรก (New Voters) กว่า 15 ล้านคน จำนวนหน่วยเลือกตั้งมีมากกว่า 1.3 ล้านหน่วย เพื่อรับประกันว่าประชาชนจะไม่ต้องดั้นด้นเดินทางจากบ้านไปยังหน่วยเลือกตั้งไกลกว่า 2 กิโลเมตร โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งอินเดียประกอบด้วยกรรมการเพียง 3 คน โดยมีพนักงานประจำ 300 คน และมีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศกว่า 5 ล้านคน
2. ศึกช้างชนช้าง
การเลือกตั้งในปีนี้จะเป็นการชิงชัยระหว่างสองพรรคใหญ่คือพรรคบีเจพีและพรรคคองเกรส โดยพรรคบีเจพี หรือภารตียชนตา เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล นำโดย นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมฮินดู ส่วนพรรคคองเกรสเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน นำโดย นายราหุล คานธี สมาชิกคนสำคัญของตระกูลการเมืองคานธี นายราหุลเป็นบุตรของนายราจีฟ คานธี เป็นหลานย่าของนางอินทิรา คานธี เป็นเหลนของนายยวาหระลาล เนห์รู บรรพบุรุษของนายราหุลทุกคนที่กล่าวมาล้วนเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดีย
อย่างไรก็ตาม คาดกันว่าปัจจัยชี้วัดผลการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกเหนือจากเสียงของพรรคใหญ่ทั้งสองแล้ว เสียงของพรรคขนาดเล็กก็มีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพรรคระดับท้องถิ่น โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองร่วมแข่งขันมากกว่า 450 พรรค และส่งผู้สมัครกว่า 8,300 คน
3. ระบบการเลือกตั้งของอินเดีย
อินเดียมีสองสภาคือราชสภาและโลกสภา ราชสภาคือสภาสูง สมาชิกราชสภาหรือวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง ส่วนโลกสภาคือสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง
สภาผู้แทนราษฎรของอินเดียมี ส.ส. จากการเลือกตั้ง 543 คน และอาจจะมี ส.ส. จากการแต่งตั้งอีก 2 คน โดยประธานาธิบดีจะแต่งตั้ง ส.ส. จากชุมชนชาวอินเดียที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวอังกฤษ เรียกกว่าแองโกล-อินเดียน ในกรณีที่ไม่มีตัวแทนกลุ่มนี้จากการเลือกตั้งเพื่อประกันสิทธิแก่ชนกลุ่มน้อย ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอินเดียอาจมีจำนวน 543 หรือ 545 คน (สภาผู้แทนราษฎรอินเดียหลังการเลือกตั้งปี 2014 มี ส.ส. รวม 545 คน)
สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นของพรรคที่มีจำนวนที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด พรรคที่มีจำนวน ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งคือ 272 คนจะได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่หากไม่มีพรรคใดได้จำนวน ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง พรรคที่มีจำนวน ส.ส. มากในสภาสามารถรวมเสียงพรรคอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้
พรรคบีเจพีส่งนายนเรนทราเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในอดีตเขาเคยนำพรรคบีเจพีชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายในปี 2014 กวาดที่นั่งในสภาไปกว่า 282 ที่นั่ง ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ แต่บีเจพีก็ไปจับมือกับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กอื่นๆ ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้มีเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้มีจำนวนผู้แทนฝ่ายรัฐบาลกว่า 341 คน และมี ส.ส. ฝ่ายค้าน 204 คน
อินเดียไม่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อพรรคหรือปาร์ตี้ลิสต์ ส.ส. อินเดียจะต้องมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเท่านั้น
4. ผลงานที่ผ่านมาคือตัวชี้วัดการเลือกตั้ง
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี จากพรรคบีเจพีได้ชื่อว่าเป็นนายกฯ เจ้าโปรเจกต์ ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเขาได้ริเริ่มโครงการต่างๆ มากมาย เช่น โครงการ Make in India ที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการผลิตภายในประเทศ โครงการพัฒนาด้านอวกาศ โครงการอินเดียสะอาด โครงการเพิ่มห้องน้ำ โครงการแม่น้ำคงคาสะอาดภายในปี 2020 โครงการเหล่านี้มีทั้งประสบความสำเร็จอย่างโครงการพัฒนาอวกาศ และโครงการที่อาจไม่เป็นตามเป้าอย่างโครงการแม่น้ำคงคาสะอาด
แม้เศรษฐกิจของอินเดียกำลังเติบโตอย่างมั่นคง แต่ก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาปากท้องของคนยากจน และปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนี่คือบาดแผลของนายนเรนทราในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคแกนนำฝ่ายค้านอย่างคองเกรสได้แต้มต่อจากผลงานที่สอบตกในบางโครงการของพรรคบีเจพี อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดการณ์ว่าพรรคบีเจพีมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง แต่จะได้จำนวน ส.ส. น้อยกว่าครั้งก่อนมาก และอาจไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้พรรคคองเกรสร่วมมือกับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจัดตั้งรัฐบาลได้
5. การเลือกตั้งที่ยาวนานกว่า 1 เดือน แต่นับคะแนนเสร็จภายใน 1 วัน
เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่โตและมีจำนวนประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน มีผู้มีสิทธิออกเสียง 900 ล้านคน ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งอินเดียต้องใช้เวลาในการจัดการเลือกตั้งนานกว่า 1 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน ไปจนสิ้นสุดวันที่ 19 พฤษภาคม
ในรัฐที่มีประชากรมากจะจัดการเลือกตั้งหลายวัน แต่ไม่เกิน 7 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดของประชากรในรัฐนั้นๆ โดยหลายพื้นที่จะจัดการเลือกตั้งในช่วงเวลาที่แตกต่างกันด้วย
สำหรับกรุงเดลีจะจัดการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นภายใน 1 วัน (วันที่ 12 มิถุนายน) ในขณะที่รัฐอุตตรประเทศจัดการเลือกตั้งทั้งหมด 7 วันในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน (11-18-23-29 เมษายน และ 6-12-19 พฤษภาคม)
ส่วนการนับคะแนนนั้นจะนับพร้อมกันในวันที่ 23 พฤษภาคม และจะเสร็จสิ้นภายในวันเดียว เนื่องจากเป็นระบบโหวตโดยใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ณ คูหาเลือกตั้ง ไม่ใช่การกากบาท ทำให้สามารถรวบรวมคะแนนได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และน่าเชื่อถือ
6. นวัตกรรมในการลงคะแนนและนับคะแนน
อินเดียเริ่มนำเครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voting Machine – EVM) มาใช้ในการเลือกตั้งปี 1999 ทดแทนการลงคะแนนเสียงแบบกากบาทลงในบัตรเลือกตั้ง ข้อดีของเครื่อง EVM คือน่าเชื่อถือ ยุติธรรม รวดเร็ว และประหยัด แต่ละเครื่องมีราคาเพียง 6,000 บาท เป็นเครื่องลงคะแนนระบบปิด ไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตหรือสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ
ในการเลือกตั้งปี 2019 นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งอินเดียได้ปรับปรุงระบบการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ให้ทันสมัยและน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยนำ ‘ระบบการยืนยันคะแนนเสียงที่เลือก’ (Voter-Verified Paper Audit Trail – VVPAT) มาใช้ เมื่อผู้ลงคะแนนกดปุ่มลงคะแนนจะมีกระดาษพิมพ์ออกมา โดยระบุชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หมายเลขที่เลือก และสัญลักษณ์ของผู้สมัครหรือพรรคให้ผู้ลงคะแนนตรวจสอบ แต่ผู้ลงคะแนนไม่สามารถนำกระดาษนี้ออกจากเครื่องได้ เพราะจะมีกระจกครอบไว้ คะแนนที่บันทึกในกระดาษจะนำไปสุ่มเพื่อตรวจสอบกับผลการลงคะแนนแต่ละหน่วยเลือกตั้งเมื่อนับคะแนน
7. รัฐอุตตรประเทศคือตัวชี้วัด ผู้ครองรัฐนี้คือผู้ชนะ
อินเดียประกอบด้วย 29 รัฐ และ 7 ดินแดนสหภาพ แต่ละรัฐมีขนาดประชากรแตกต่างกัน ทำให้มีจำนวน ส.ส. แตกต่างกัน
รัฐที่มีจำนวนประชากรมากจะมี ส.ส. มาก รัฐอุตตรประเทศตั้งอยู่ทางตอนเหนือติดกับกรุงเดลี มีประชากรมากกว่า 200 ล้านคน (หากรัฐอุตตรประเทศเป็นประเทศหนึ่งจะมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 5 ของโลก) เป็นรัฐที่มีสัดส่วน ส.ส. 80 คน มากที่สุดของอินเดีย ที่ผ่านมาพรรคใดสามารถชนะการเลือกตั้งในรัฐนี้ พรรคนั้นจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งรวมและจัดตั้งรัฐบาล (การเลือกตั้งปี 2014 พรรคบีเจพีชนะการเลือกตั้ง 71 ที่นั่งจากรัฐอุตตรประเทศ) ส่วนรัฐอื่นๆ ที่มีจำนวน ส.ส. มาก ได้แก่ มหาราษฏระ (48 ที่นั่ง), เบงกอลตะวันตก ( 42 ที่นั่ง), พิหาร (40 ที่นั่ง) และทมิฬนาฑู (39 ที่นั่ง)
ขณะที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ เทศกาลการเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เริ่มขึ้นแล้วที่อินเดีย การออกไปโหวตของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 900 ล้านคนคือการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในวิถีประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่ทุกเสียงของประชาชนนั้นมีความหมายและได้รับการรับฟัง อินเดียเป็นตัวอย่างให้แก่ประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย มีระบบการเมืองที่มั่นคงและโปร่งใส มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีคุณภาพ ขอแสดงความยินดีกับชาวอินเดียที่จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งตลอด 1 เดือนนับจากนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- www.cnn.com/2019/02/16/asia/india-election-numbers-intl/index.html
- www.ndtv.com/india-news/lok-sabha-elections-2019-poll-dates-candidates-election-schedule-nominations-all-faqs-answered-2011272
- www.bbc.com/news/world-asia-india-47771192
- www.indiatoday.in/elections/lok-sabha-2019/story/lok-sabha-polls-facts-figures-india-massive-general-election-1496461-2019-04-08
- www.khaleejtimes.com/international/india/12-interesting-facts-about-worlds-largest-election-in-india