ในบรรดาเหล่าสตาร์ของวงการฟุตบอลอังกฤษในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผมไม่คิดว่าจะมีใครที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมที่โหดร้ายเหมือนที่ ราฮีม สเตอร์ลิง ต้องเผชิญ
จากข้อหาไอ้เด็กจอมละโมบที่ทำให้คนส่วนใหญ่พร้อมจะยิ้มเยาะอย่างสะใจหากเห็นเขาผิดพลาดหรือล้มเหลวในสนาม สู่ข้อหาอื่นๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็น พวกนักฟุตบอลเศรษฐีใช้จ่ายเกินตัว การสักรูปปืนที่ขาเป็นตัวอย่างที่เลวสำหรับเยาวชน และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน
แม้กระทั่งท่าวิ่งในสนามของเขายังถูกหยิบเอามาล้อเลียนอย่างสนุกปาก เรียกว่าหากทางการคิดจะหาใครสักคนที่มารณรงค์ในเรื่องต่อต้านการ Bullying และการเหยียดสีผิว ไม่น่าจะมีใครที่เหมาะสมไปกว่าดาวเตะจากทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้คนนี้
แต่เรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นทำท่าว่าจะกลายเป็นเรื่องเก่า (ที่คนทำก็จะแกล้งๆ ลืมไปเสียเหมือนมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน) เมื่อในเวลานี้ ราฮีม สเตอร์ลิง ได้กลายเป็น ‘ขวัญใจ’ คนใหม่ของชาวอังกฤษไปแล้ว
เสียงปรบมือกึกก้องสนามเวมบลีย์นั้นมีให้เขาผู้ที่ทำแฮตทริกได้ในเกมที่ขุนพล ‘สิงโตคำราม’ ถล่มสาธารณรัฐเช็กขาดลอยถึง 5-0 ในเกมประเดิมรอบคัดเลือกศึกฟุตบอลยูโร 2020
จาดอน ซานโช อีกหนึ่งวันเดอร์คิดของอังกฤษ ถึงกับยกย่องเขาอย่างเทิดทูนว่า สเตอร์ลิงในเวลานี้คือ ‘พี่ใหญ่’ ของน้องๆ ดาวรุ่งในทีมชาติอังกฤษ หรือถ้าจะพูดให้ถูกคือ ในแผ่นดินอังกฤษเวลานี้ สตาร์วัย 24 ปีคือนักฟุตบอลที่หลายๆ คนมองเป็น ‘ต้นแบบ’ ของชีวิต
“เขาแสดงให้นักฟุตบอลดาวรุ่งทุกคนได้เห็นว่าของจริงมันเป็นเช่นไร และผมดีใจที่ได้ลงเล่นร่วมกับเขา”
เรื่องนี้กลายเป็นคำถามที่น่าสนใจ ความจริงอาจถึงขั้นเป็นกรณีศึกษาได้เลยครับ
อะไรที่ทำให้ ราฮีม สเตอร์ลิง กลายเป็นคนละคนแบบนี้ ทั้งๆ ที่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้เขายังเปิดศึกกับสื่อที่พยายามเล่นงานเหล่านักฟุตบอลดาวรุ่งผิวสี จนเกิดเป็นกระแสลุกฮือในแวดวงลูกหนังเมืองผู้ดีอยู่เลย
ต่อเรื่องนี้ สิ่งที่สเตอร์ลิงทำนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนครับ
เขาแค่เลือกจะแสดงทุกสิ่งที่เขามีให้ทุกคนได้เห็นในสนาม ใช้การเล่นฟุตบอลแทนคำพูด ซึ่งแม้จะต้องใช้ระยะเวลาในการพิสูจน์ตัวเองที่ยาวนานเกือบ 7 ปี
แต่ในที่สุดวันที่ทุกคน ‘ยอมรับ’ ในตัวตนของเขาก็มาถึง
สำหรับผม ราฮีม สเตอร์ลิง เป็นนักฟุตบอลที่น่าสนใจและมีความซับซ้อนในตัวครับ
เขาเป็นนักฟุตบอลเจเนอเรชันใหม่ที่มีความคิด ทัศนคติหลายอย่างที่แตกต่างจากนักฟุตบอลในอดีตอย่างมาก
เรื่องที่กลายเป็น ‘ตราบาป’ ของเขาที่ติดตัวมาตั้งแต่ครั้งเป็นวัยรุ่นคือ กรณีการตัดสินใจทิ้งลิเวอร์พูล สโมสรเก่าเพื่อย้ายมาอยู่กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2015 ด้วยวิธีการที่คนในสังคมลูกหนังนั้นยอมรับไม่ได้
จุดเริ่มต้นจากการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีเกี่ยวกับเรื่องของอนาคต ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ที่ทางสโมสรไม่พอใจ เพราะเป็นการจุดประกายกระแสการย้ายทีม ไปจนถึงความพยายามต่างๆ ที่พร้อมจะทำอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ย้ายออกจากแอนฟิลด์ ถึงขั้นไม่ไปรายงานตัวเดินทางทัวร์มาเอเชีย
สเตอร์ลิงประสบความสำเร็จในเรื่องของการย้ายทีมในวันนั้น แต่แทบไม่มีคำอวยพรใดๆ จากใครในลิเวอร์พูลหลุดลอยมาให้ได้ยิน
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการกระทำที่ ‘ไม่น่ารัก’ ของเขาสวนทางกับวิถีของสโมสรเก่าแก่อย่างลิเวอร์พูล เขากลายเป็นนักฟุตบอลอกตัญญูที่น่ารังเกียจ แตกต่างจากตำนานอย่าง สตีเวน เจอร์ราร์ด ขณะที่ในโลกภายนอกมองว่าเขายังเด็กเกินไป และอยู่ในวัยที่กำลังเริ่มต้นชีวิตลูกหนัง และทุกคนคิดว่าสุดท้ายแล้วสเตอร์ลิงจะกลายเป็นอีกหนึ่งดาวรุ่งที่ไปแจ้งดับอยู่ในทีมที่เต็มไปด้วยสตาร์ระดับอุโฆษของซิตี้
แต่สำหรับสเตอร์ลิง สิ่งที่เขาคิดมีเพียงแค่ เขาต้องการจะก้าวไปสู่ขั้นต่อไปของเส้นทางอาชีพนักฟุตบอลให้เร็วที่สุด
และชีวิตของเขา เขาไม่ได้เกิดมาเพื่อทำให้ทุกคนมีความสุข สำหรับลิเวอร์พูล พวกเขาก็ได้เงินตอบแทนจำนวนมหาศาลถึง 49 ล้านปอนด์สำหรับนักฟุตบอลดาวรุ่งที่พวกเขาจ่ายเงินซื้อมาจากควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส เพียง 600,000 ปอนด์ พวกเขาก็น่าจะพอใจและทุกคนควรแยกย้ายตามทางเดินของตัวเอง
ความ ‘ภักดี’ (Loyalty) สำหรับเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับสโมสรหรือสีเสื้อ หากแต่ขึ้นอยู่กับตัวเองในการทำหน้าที่ในสนามให้ดีที่สุด
“ในตอนที่ผมยังเด็ก ผมก็เคยคิดว่ามันเกิดอะไรกับผมวะเนี่ย แต่ตอนนี้มันก็เป็นส่วนหนึ่งของงาน… ผมจะไม่โวยวาย ผมแค่อยู่กับมันให้ได้ ผมมีชีวิตของผม มีครอบครัว และต้องตื่นไปซ้อมตอนเช้า
“ถ้าผมเล่นได้แย่ คุณฆ่าผมได้เลย อยากทำอะไรก็ทำไปเลย ป่าวประกาศ ประณามผมให้โลกรู้ ผมจะไม่มีปัญหากับมันเลย อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องในเกมฟุตบอล ผมยินดีที่จะรับมันไว้ มันเป็นสิ่งที่ผมพยายามเพื่อจะมาอยู่ในจุดนี้”
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เขายึดมั่นไม่เคยเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราจะไม่เคยเห็นราฮีม สเตอร์ลิงที่หมดแรงจะวิ่ง หรือราฮีม สเตอร์ลิงที่ท้อแท้เพราะผิดพลาดเป็นอันขาด ในทางตรงกันข้าม ยิ่งทุบเขาหนักเท่าไร เขาก็จะยิ่งแกร่งขึ้นเท่านั้น
แต่ถึงจะมีความเป็นขบถลูกหนังตัวน้อยๆ สเตอร์ลิงกลับมีอีกด้านที่น่าชื่นชม กับการเป็นคนที่พร้อมจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
ในวงเล็บว่า โดยเฉพาะเมื่ออยู่ใต้การชี้นำของปราชญ์ลูกหนังอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอลา
หลังจบฟุตบอลยูโร 2016 ที่เขาทำผลงานได้อย่างเลวร้าย และด้วยความที่เขาคือ ราฮีม สเตอร์ลิง ทำให้สื่อพร้อมเหยียบย่ำและซ้ำเติมหมายไม่ให้ลุกขึ้นลืมตาอ้าปาก เป๊ปคือคนที่ต่อสายตรงไปหาเขาและย้ำว่า ไม่ว่าจะอย่างไรเขาเชื่อมั่นในตัวสเตอร์ลิงเสมอ
จุดอ่อนของสเตอร์ลิงในการเล่นพื้นที่สุดท้าย (Final-third) ค่อยๆ ถูกแก้ไข ทั้งในเรื่องของการตัดสินใจที่ผิดพลาด ไปสู่เทคนิคการเล่นในพื้นที่สุดท้ายที่ถูกต้อง และการจบสกอร์ที่เป็นจุดบอดที่สุดของเขา ซึ่งหากให้เป็นคะแนนเต็ม 10 ผมเชื่อว่าเทคนิคการจบสกอร์ของเขาไม่เกิน 5 คะแนน
มันอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่ผ่านมาเกือบ 3 ปีจากวันนั้น วันนี้สเตอร์ลิงกลายเป็นผู้เล่นคนสำคัญในแนวรุก ที่ไม่ว่าจะเป็นแมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือทีมชาติอังกฤษก็ขาดไม่ได้
แฮตทริกในเกมกับเช็กเป็นแค่เครื่องยืนยันในความสำเร็จที่เขาทำได้ดีขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ในฤดูกาลที่แล้ว โดยเฉพาะในฤดูกาลนี้ที่เขาทำไปแล้ว 19 ประตูกับอีก 16 แอสซิสต์ในระดับสโมสร และกลายเป็นหนึ่งในตัวเต็งของรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปีของสมาคมนักฟุตบอลอาชีพ หรือ PFA
โดยที่หากเขาจะได้รับรางวัลนี้จริง ก็จะไม่มีใครครหาอย่างแน่นอน
พัฒนาการที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของสเตอร์ลิง ทำให้มีการเปรียบเทียบเขากับ ธีโอ วัลค็อตต์ อดีตวันเดอร์คิดของวงการฟุตบอลอังกฤษในยุคมิลเลนเนียลที่น่าสนใจครับ
ในขณะที่วัลค็อตต์ไม่สามารถจะก้าวผ่านจากนักฟุตบอลดาวรุ่งสู่การเป็นนักฟุตบอลระดับชั้นนำตัวจริงได้ เป็นนักฟุตบอลที่ไม่สามารถเติมเต็มสิ่งที่ฟ้าได้ประทานพรสวรรค์มาให้กับเขาได้ แต่สเตอร์ลิงที่ดูมีพรสวรรค์น้อยกว่ากลับก้าวไปได้ไกลกว่า
สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นความแตกต่างระหว่างทั้งสองคือเรื่องความแข็งแกร่งของจิตใจ
เรื่องนี้คือรากฐานความสำเร็จของสเตอร์ลิง เด็กน้อยชาวจาเมกาที่พ่อถูกยิงเสียชีวิตตั้งแต่ 2 ขวบ (และนั่นคือที่มาของการสักรูปปืนเอาไว้ที่ขา) ต้องระเห็จจากบ้านเกิดมาอยู่ในอังกฤษตั้งแต่ 5 ขวบ มาอาศัยอยู่กับแม่ในลอนดอน แถบเวมบลีย์ (และนั่นคือเหตุผลที่ทำไมแฮตทริกในเกมกับเช็กจึงมีความหมายกับเขามากเหลือเกิน)
เขาเรียนที่ Copland Community School โรงเรียนที่เต็มไปด้วยนักเรียนจากหลากหลายเชื้อชาติ มีการพูดกันในโรงเรียนมากถึง 50 ภาษา และเขาไม่มีเงินจะซื้อข้าวทำให้ต้องใช้สิทธิ์ในการทานมื้อกลางวันฟรี ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำใจได้ง่ายสำหรับเด็ก
ในวัย 15 ปี เขาไม่ลังเลที่จะเดินทางมาอยู่ที่ลิเวอร์พูล ในขณะที่ครอบครัวยังอาศัยอยู่ที่ลอนดอน เพราะเขารู้ว่ามันจะเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เขาไปต่อได้ไกลในเส้นทางที่ฝัน ความเหงาทำอะไรเขาไม่ได้ เช่นกันกับการเหยียดสีผิวจากชุมชนผิวขาวในแถบที่อยู่อาศัยของเขา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขามีประสบการณ์การถูกเหยียดสีผิว
ความเจ็บปวดและความยากลำบากต่างๆ นานาทำให้เขาไม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับอะไร และมันยิ่งทำให้สเตอร์ลิงแข็งแกร่งมากขึ้น มีสติ และต่อสู้กับทุกเรื่องได้อย่างดี
นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เขามาถึงวันนี้ วันที่ทุกคนปรบมือและยกย่องในตัวตนของเขา ความคิดของเขา และความเป็นมืออาชีพของเขา
สำหรับเด็กรุ่นใหม่ รวมถึงนักฟุตบอลรุ่นที่เดินตามมาอย่าง จาดอน ซานโช สตาร์ว่าที่ค่าตัว 100 ล้าน หรือ คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย ที่ทีมใหญ่ทุกทีมต้องการได้ตัว ราฮีม สเตอร์ลิง คือไอคอนที่พวกเขาบูชา
สำหรับคนรุ่นเก่าอาจจะทำใจยอมรับได้ยากกว่า แต่เสียงปรบมือในเวมบลีย์วันนั้นก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีว่า วันนี้คนรุ่นเก่าก็สัมผัสได้ถึงสายลมของการเปลี่ยนแปลงในเกมฟุตบอล
ค่านิยมแบบเก่าอาจจะสูญหาย แต่มันก็เป็นเรื่องธรรมดาของโลกใบนี้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
- แม้จะเป็นสตาร์ดังในทุกวันนี้ แต่สเตอร์ลิงยังหาโอกาสขับรถกลับบ้านไปทานข้าวฝีมือแม่ทุกครั้งที่มีเวลา
- หนึ่งในคำครหาตลกๆ ที่สเตอร์ลิงเผชิญคือ การใช้เงินน้อยเกินไป เช่น การไปซื้อเสื้อผ้าลดราคาที่ Primark, ทานอาหารจากร้าน Greggs, ช้อปปิ้งที่ Poundland หรือนั่งเครื่องบินโลว์คอสต์ easyJet กลับจากฮอลิเดย์
- ขณะที่บางทีเขาใช้จ่ายกับสิ่งที่เขารักอย่างการซื้อรถ Bentley คันงามในราคา 500,000 ปอนด์ ก็โดนด่าจากสื่ออีกอยู่ดี
- การเรียนโรงเรียนที่มีเพื่อนต่างชาติมากมาย สเตอร์ลิงมองว่าเป็นการเตรียมตัวที่ดีมากๆ สำหรับการเล่นในสโมสรระดับพรีเมียร์ลีกที่มีนักฟุตบอลต่างชาติ ต่างวัฒนธรรมมากมาย ความจริงเขาเชื่อว่ามันมีประโยชน์ในการเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตด้วย