ด้วยกลิ่นและรสที่หอมหวานของบารากู่ หรือ Hookah รวมไปถึงปริมาณควันที่น้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป ทำให้บารากู่เหมาะสำหรับมือใหม่หัดสูบ และกลายเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มวัยรุ่น ด้วยเหตุผลที่ว่า บารากู่ไม่ก่อให้เกิดการเสพติดและไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกาย
แต่จริงๆ แล้ว บารากู่นั้นอันตรายน้อยอย่างที่ใครหลายคนคิดจริงหรือ?
‘บารากู่’ หรือที่บางคนเรียกว่า ‘ชิชา’ มีพื้นเพมาจากเปอร์เซียโบราณและอินเดีย ซึ่งมีประวัติยาวนานมานานหลายศตวรรษ อย่างไรก็ตาม กลับเป็นสิ่งที่กำลังแพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่นที่สหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ
จากสถิติการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเยาวชนพบว่า ร้อยละ 4.1 ของนักเรียนมัธยมปลายในสหรัฐฯ สูบบารากู่ และเพิ่มขึ้นเป็นร้อย 4.8 ในปี 2016 และอีกหนึ่งการสำรวจใน 7 ประเทศตะวันออกกลาง ยังพบอีกว่า มีการใช้บารากู่ในเด็กที่มีช่วงอายุระหว่าง 13-15 ปี ถึงร้อยละ 9-15
อะไรที่ทำให้บารากู่แพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่น?
เชื่อว่ามีปัจจัยบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังบารากู่ที่สามารถดึงดูดความสนใจของกลุ่มวัยรุ่นได้ นั่นก็คือตัวเลือกของรสและกลิ่นที่หลากหลาย รวมถึงสื่อออนไลน์ที่เฝ้านำเสนอให้เกิดพฤติกรรม
จากผลการศึกษาในปี 2009 ระบุว่า กว่าร้อยละ 58 ของผู้ที่สูบบารากู่เชื่อว่า มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ และไม่มีทางเสพติดได้ แต่มีหลักฐานที่ออกมาชี้ว่า การสูบบารากู่แค่บางครั้งบางคราวนั้นสามารถก่อให้เกิดการเสพติดได้เช่นกัน และอาจกระตุ้นให้เปลี่ยนไปสู่ผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่นๆ ได้ ซึ่งก็คือบุหรี่
“วัยรุ่นส่วนมากมักจะมีความเชื่อกันผิดๆ ว่าการสูบบารากู่นั้นอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป เพราะถูกกรองผ่านน้ำอีกที แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดทางวิทยาศาสตร์ที่มาสนับสนุนการกล่าวอ้างนี้” อารูนี บาตนาการ์ (Aruni Bhatnagar) ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ รัฐเคนทักกี กล่าว
บารากู่ไม่ได้หอมหวานอย่างที่คิด
และไม่นานมานี้ สมาคมหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกมาเตือนว่า บารากู่สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่ออัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือด ซึ่งถ้าหากสูบบ่อยๆ จะทำให้ความเสี่ยงนั้นเพิ่มมากขึ้นด้วย
จากผลการศึกษาเกี่ยวกับการสูบบารากู่กว่า 100 ชิ้น ได้รายงานว่า การสูบบารากู่พ่วงมาด้วยความเสี่ยงด้านสุขภาพมากมาย อาทิ โรคเบาหวาน โรคอ้วน และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหัวใจวาย แถมในควันของบารากู่ยังมีสารเคมีอันตรายเช่นเดียวกับในควันของบุหรี่ หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะการสูบบารากู่จะทำให้ผู้สูบได้รับสารเหล่านั้นเป็นจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผู้ที่สูบบารากู่และผู้ที่สูบบุหรี่จะได้รับสารคาร์บอนมอนออกไซด์เหมือนกันทั้งคู่ แต่การสูบบารากู่หนึ่งครั้ง โดยปกติแล้วใช้เวลาถึง 30 นาที ทำให้ผู้ที่สูบบารากู่ได้รับสารเคมีที่สูงกว่าผู้ที่สูบบุหรี่หนึ่งมวนที่ใช้เวลาเพียงสั้นๆ
ช่วงเวลาระหว่างการสูบบารากู่หนึ่งครั้ง ควันจำนวนมากที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองได้ถูกสูดเข้าไปในปริมาณที่เข้มข้นกว่าบุหรี่ อนุภาคเหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เข้าไปทำให้ตา จมูก และลำคอเกิดการระคายเคือง และยังสามารถเข้าไปสู่ปอดหรือแม้กระทั่งเลือดได้อีกด้วย
นอกจากนี้ บารากู่ยังมีสารเคมีอันตรายอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อหัวใจและหลอดเลือดของผู้สูบอย่างนิโคตินหรือตะกั่ว โดยส่วนใหญ่สารเคมีเหล่านี้จะมีความเข้มข้นในบารากู่มากกว่าบุหรี่ทั่วไป เนื่องจากถ่านที่ถูกเผาในบารากู่ใช้ระยะเวลาและอุณหภูมิที่แตกต่างกัน
รายงานยังพบอีกว่า การสูบยาโดยใช้ไปป์น้ำในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และผลการศึกษาเชิงสังเกตการณ์จากปากีสถานและอินเดียก็ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่สูบชิชาเป็นประจำมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจ
แม้ในประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 แต่ใครที่ยังฝันหวานคิดถึงการพ่นควันจากชิชาอยู่ อาจต้องทำความเข้าใจกันใหม่เสียแล้ว
ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: